×

กับดักการเมืองไทยซ้ำเติมเศรษฐกิจแค่ไหน? เอกชนห่วงสารพัดปัจจัยรุมเร้า ฉุด GDP 1.5-2.0%

02.07.2025
  • LOADING...

ภาคเอกชนห่วงเสถียรภาพทางการเมืองมีผลต่อเศรษฐกิจ แนะ ครม.ชุดใหม่ทำงานชัดเจน-ฟังเสียงเอกชน เดินหน้านโยบายเร่งด่วน ย้ำรัฐบาลต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นธุรกิจทั้งไทยและต่างประเทศ เตือนเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังยังมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งภาษีสหรัฐ ปัญหาค้าชายแดนไทย-กัมพูชา ภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางอาจรุนแรงขึ้น

 

วันที่ 2 ก.ค. ผยง ศรีวณิช ประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทย กล่าวหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่าเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 ยังคงเผชิญความไม่แน่นอนสูง 

 

“แม้การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศต่างๆ จะมีความคืบหน้า โดยเฉพาะกับจีนและสหราชอาณาจักรแต่ยังไม่ได้ข้อสรุป ก่อนวันที่ 9 ก.ค.  ซึ่งอาจจะนำไปสู่การเรียกเก็บภาษีในอัตราสูงขึ้นหากไม่ขยายเวลา ขณะที่เศรษฐกิจประเทศหลักที่มีแนวโน้มแผ่วลง และความขัดแย้งตะวันออกกลาง อาจมีความรุนแรงขึ้นได้อีก“

 

โดยเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังมีแนวโน้มอ่อนแรงลง คาดทั้งปี 2568 ขยายตัวในระดับต่ำราว 1.5-2.0% โดยจะเติบโตใกล้เคียง 2.0% หากอัตราภาษีที่ไทยโดนเรียกเก็บยังอยู่ที่ 10% ในครึ่งปีหลัง แต่จะลดลงมาใกล้ 1.5% หากโดนเรียกเก็บที่ 18% หรือครึ่งหนึ่งของอัตรา Reciprocal Tariff ท่ามกลางอุปสงค์ภายในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอลง จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ต่ำกว่าคาด ซึ่งยังไม่สามารถทดแทนด้วย Long haul ได้ 

 

รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณในปีงบประมาณ 2568 ที่เหลืออยู่ และการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 ซึ่งจะมีผลต่อเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ 

 

เศรษฐกิจไทยอ่อนแรง ลุ้นผลเจรจาภาษี หวั่นการเมืองซ้ำเติม

 

ผยง กล่าวอีกว่า จากปัจจัยข้างต้น บวกกับการเมืองขาดเสถียรภาพยิ่งซ้ำเติม ส่งผลให้ กกร. ได้คงประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 2568 ที่กรอบ 1.5-2.0% โดยระบุว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มอ่อนแรงลงอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นการประเมินที่สวนทางกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ยังคงคาดการณ์ว่าจะเติบโตได้ถึง 2.3%

 

“ ปัจจัยลบสำคัญมาจากอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัว นักท่องเที่ยวจีนต่ำกว่าที่คาด และความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจกระทบต่อการเบิกจ่ายงบเสถียรภาพการเมืองมีผลกระทบต่อเครื่องยนต์เศรษฐกิจในประเทศ ทั้งเรื่องการส่งออก การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐตามแผน”

 

ห่วงส่งออกแผ่ว-บาทแข็ง วอน ธปท. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

 

แม้ตัวเลขการส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกของปีจะขยายตัวถึง 14.9% แต่ กกร. ชี้ว่าเป็นผลจากการเร่งนำเข้าสินค้าก่อนที่ช่วงชะลอการบังคับใช้มาตรการภาษีของสหรัฐฯ 90 วัน จะสิ้นสุดลง และคาดการณ์ว่า การส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปีมีแนวโน้มจะหดตัวกว่า 10% ส่งผลให้ทั้งปี 2568 การส่งออกอาจขยายตัวใกล้เคียง 0% ซึ่งจะกระทบโดยตรงต่อภาคการผลิตและการจ้างงาน

 

อีกทั้งยังซ้ำเติมด้วยสถานการณ์ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วมาอยู่ที่ระดับ 32.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่งในภูมิภาค และไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว 

 

ทั้งนี้ กกร. จึงมีข้อเสนอเร่งด่วนถึง ธปท. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อลดแรงกดดันต่อค่าเงินและกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาท ให้เคลื่อนไหวสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แท้จริง

 

นอกจากนี้ กกร. ยังชี้ถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่บั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เช่น ปัญหาการสวมสิทธิ์ส่งออก (Transshipment) การนำเข้าสินค้าคุณภาพต่ำ และนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่ยังไม่เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศ เช่น การจ้างงานในประเทศ 

 

โดย กกร. เตรียมที่จะขอเข้าพบหน่วยงานเศรษฐกิจภาครัฐ ทั้ง ธปท., สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.), กระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างเร่งด่วนต่อไป

 

“กกร. ในฐานะตัวแทนภาคเอกชน เตรียมเสนอหน่วยงานภาครัฐต่างๆ เพื่อให้มีการจัดลำดับและให้ความสำคัญในภาคส่วนที่น่าเป็นห่วง ช่วง 6 เดือน ถึง 1 ปีข้างหน้า และเพื่อให้เข้าใจปัญหารวมทั้งกำหนดการขับเคลื่อนประเทศไปในทิศทางเดียวกัน และเรียกความเชื่อมั่น”

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

ห่วงเสถียรภาพการเมือง-ค้ากัมพูชา สารพัดปัจจัยรุมเร้า ซ้ำเติม GDP ครึ่งปีหลัง

 

พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “เรากำลังเผชิญความท้าทายหลายด้าน ทั้งเศรษฐกิจโลกและเสถียรภาพการเมือง เป็นเรื่องที่ควรขับเคลื่อนโดยเร็ว แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ขอให้ทำงานก่อน สำคัญคือ อยากให้รับฟังเสียงเอกชน”

 

ขณะที่ เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการ ภาคการผลิต ห่วงเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งต้องจับตาว่าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ​มากแค่ไหน

 

“เรายังเฝ้าติดตามอยู่ว่าภายใน 15 วัน นายกรัฐมนตรีจะได้กลับมาไหม หรือจะเป็นอย่างไรต่อเพราะเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาล เป็นเรื่องของความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน และต้องดูว่าโครงการตามแผนงบกระตุ้นเศรษฐกิจ​ 157,000 ล้านบาท จะเลื่อนออกไปหรือไม่ หากล่าช้าจะยิ่งซ้ำเติมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง”

 

ส่วนการเจรจากับสหรัฐฯ ขณะนี้ก็ต้องเอาใจช่วย พิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างการเจรจา ถือเป็นตัวจริงและเป็นตัวแทนทีมไทยแลนด์ที่ทำงานต่อเนื่องตามเงื่อนไขของสหรัฐฯ  

 

“สถานการณ์ความผันผวนทางเมืองตอนนี้ ถือว่ามาเกิดในช่วงที่ประเทศเปราะบางที่สุด เรียกได้ว่าจังหวะไม่ดี และมาเกิดในช่วงที่ทีมไทยแลนด์กำลังเดินทางไปเจรจากับทางสหรัฐอเมริกาเรื่องภาษีซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดระดับประเทศเรื่องหนึ่ง ซึ่งอาจมีความกังวลว่า น้ำหนักการเจรจาจะลดลงหรือไม่ เพราะการเจรจาด้านภาษีไทยกับสหรัฐฯจะมีผล ต่อการแข่งขันถ้าหากเทียบกับคู่แข่ง โดยเฉพาะเวียดนามอินโดนีเซียและมาเลเซีย”

 

ดังนั้น จึงต้องดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด กกร.จะไม่ทน ซึ่งไม่อยากให้เป็นเพียงแค่เสียงสะท้อน เราต้องทำงานเชิงรุกให้มากกว่านี้ เพราะตอนนี้เอกชนเองก็ยอมรับว่า เป็นห่วงการเมืองไทย

 

ส่วนประเด็นการค้าขายกับกัมพูชานั้นก็น่าห่วงเพราะมีทั้งมิติความมั่นคงและมิติทางการค้า แต่นักลงทุนที่ไปลงทุนเวียดนาม ไปลงทุนแล้วเก็บเงินไม่ได้ ตรงนี้ใครจะช่วยผู้ประกอบการไทยที่ไปลงทุนหรือปล่อยเครดิตที่นั่น ไม่มีใครช่วยเหลือ

 

รวมถึงสินค้าที่ผลิตออกมาก็ส่งผ่านชายแดนไม่ได้ รวมแล้วเสียหายเกือบถึง 500 ล้านบาท เพราะไทยส่งออกสินค้าไปกัมพูชา 390 ล้านบาทต่อวัน และนำเข้าสินค้ามาจากกัมพูชา 100 ล้านบาทต่อวัน เช่น มันสำปะหลัง สินค้าภาคการเกษตรที่เราจะนำไปแปรรูปเพื่อส่งไปขายยังประเทศอื่น ส่วนนี้ก็ได้รับผลกระทบ จึงต้องติดตามใกล้ชิด

 

“เรื่องการลดดอกเบี้ย ถึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากอีกข้อ โดยส่วนตัวมองว่าธนาคารแห่งประเทศไทย​ หรือ ธปท. มีโอกาสลดดอกเบี้ยลงถึง 2-3 ครั้ง ครั้งละ 0.25  แต่จะให้ดีต้องลด 3 ครั้งถึง 0.75 เนื่องจากตอนนี้กังวลค่าเงินบาทแข็งค่ามาก และประเทศไทยเรา เป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออก 60% ต่อจีดีพี และภาคการท่องเที่ยว  20% ทำให้รายได้ส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ”

 

ทั้งนี้ การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าจึงเป็นอุปสรรค เพราะขายของยากขึ้น ของแพง นักท่องเที่ยวหนีไปเที่ยวประเทศเวียดนามและญี่ปุ่น ซึ่งค่าเงินอ่อนกว่าไทย ดังนั้น ไทยควรทำให้ค่าเงินอ่อนกว่านี้ เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจทุกภาคส่วนเชิงรุกให้มากกว่านี้

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising