×

จับตาคำตัดสินศาลอุทธรณ์สหรัฐฯ กระทบแผนกำหนดภาษีนำเข้า – ความเสี่ยงทางการคลังสหรัฐฯ ปัจจัยชี้นำทิศทางราคาทองคำในช่วงไตรมาส 3

02.07.2025
  • LOADING...

ในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ราคาทองคำมีการเคลื่อนไหวสลับขึ้นลงในทิศทางปรับตัวขึ้น โดยสามารถสร้างระดับสูงสุดตลอดกาลครั้งใหม่ที่ 3,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่หลังจากนั้น ราคาทองคำมีการปรับฐานลง และเคลื่อนไหวที่ค่อนข้างผันผวน ในช่วงระหว่างเดือน พ.ค. และมิ.ย. อย่างไรก็ดี ราคาทองคำยังสามารถรักษาการเคลื่อนไหวในระดับสูงไว้ได้ในช่วงไตรมาสนี้

 

หนึ่งในประเด็นที่ขับเคลื่อนราคาทองคำที่สำคัญ คือ ความไม่แน่นอนในประเด็นภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ซึ่งมีแนวโน้มที่ยังจะเป็นปัจจัยชี้นำราคาทองคำในช่วงไตรมาส 3 นี้ เช่นกัน โดยสหรัฐฯ กำหนดเส้นตายสำหรับการเจรจาการค้า ในวันที่ 9 ก.ค. ก่อนที่จะบังคับใช้แผนการปรับขึ้นภาษีนำเข้าเพื่อการโต้ตอบ (Reciprocal tariffs) ในส่วนที่สูงกว่า 10.0% ซึ่งในปัจจุบัน มีเพียงจีนและอังกฤษ ที่บรรลุข้อตกลงทางการค้ากับสหรัฐฯ ได้

 

อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนในประเด็นภาษีศุลกากรนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพียงการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้า แต่ยังมีคำตัดสินต่อการกำหนดภาษีนำเข้าในวงกว้าง ภายใต้กฎหมายภาวะฉุกเฉิน (International Emergency Economic Powers Act: IEEPA) ของศาลอุทธรณ์ รวมไปถึงการตอบสนองของรัฐบาลสหรัฐฯ ทั้งนี้ คำตัดสินของศาลอุทธรณ์ มีแนวโน้มสร้างผลกระทบต่อทั้งแผนการด้านภาษีของรัฐบาลสหรัฐฯ และอาจมีส่วนเพิ่มความเสี่ยงทางการคลังสหรัฐฯ หากไม่สามารถปรับขึ้นเพดานหนี้สาธารณะภายในเดือน ก.ค. นี้ได้

 

หากศาลอุทธรณ์ระงับ Reciprocal tariffs อาจปิดโอกาสทองคำสร้างราคาสูงสุดใหม่ในระยะอันใกล้

 

ย้อนกลับไปปลายเดือน พ.ค. ศาลการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ เผยแพร่คำสั่งที่ระบุให้ระงับการบังคับใช้แผนการด้านภาษีศุลกากรในวงกว้างของรัฐบาลสหรัฐฯ เนื่องด้วยถือเป็นการใช้อำนาจที่เกินขอบเขตของประธานาธิบดี ภายใต้กฎหมายภาวะฉุกเฉิน (International Emergency Economic Powers Act : IEEPA)
หลังจากนั้น รัฐบาลสหรัฐฯ ยื่นอุทธรณ์คำตัดสินดังกล่าว ซึ่งศาลอุทธรณ์ของสหรัฐฯ มีคำสั่งระงับคำตัดสินของศาลการค้าฯ ชั่วคราว ทำให้แผนการด้านภาษีที่ใช้อำนาจภายใต้ IEEPA อย่าง Reciprocal tariffs ยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไป ซึ่งศาลอุทธรณ์จะมีการนัดไต่สวนเพื่อพิจารณาคดีอีกครั้งในวันที่ 31 ก.ค.

 

ในเบื้องต้น หากศาลอุทธรณ์มีคำสั่งระงับมาตรการดังกล่าว เช่นเดียวกับศาลการค้าฯ มีแนวโน้มที่ตลาดจะตอบสนองเชิงบวกกับการตัดสินดังกล่าว เนื่องด้วย Reciprocal tariffs ในส่วนที่เป็นปรับขึ้นด้วยอัตราถ้วนหน้า 10.0% กับทุกประเทศคู่ค้า รวมถึงการปรับขึ้นอัตราภาษีเข้าสินค้าจากแคนาดา, เม็กซิโก และจีน ที่ 20.0% จากประเด็นการทะลักของเฟนทานิล จะถูกสั่งให้ระงับการบังคับใช้ ซึ่งราคาทองคำจึงมีแนวโน้มปรับตัวร่วงลง หากศาลอุทธรณ์ตัดสินเช่นข้างต้น

 

อย่างไรก็ดี นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีแนวโน้มตอบโต้ด้วยการสั่งปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าผ่านอำนาจทางช่องทางอื่น อาทิ มาตรา 301 ส่วนหนึ่งในรัฐบัญญัติทางการค้าปี 1974 (Trade Act of 1974) ที่มีวัตถุประสงค์ป้องกันการค้าที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งกำลังถูกบังคับใช้กับสินค้านำเข้าหลายรายการจากจีนในปัจจุบัน หรือมาตรา 122 ส่วนหนึ่งในรัฐบัญญัติทางการค้าปี 1974 ที่ให้อำนาจประธานาธิบดีสำหรับการปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้ากับประเทศคู่ค้า ไม่เกิน 15.0% ในระยะ 150 วัน เป็นการชั่วคราว แม้มาตรานี้ ยังไม่เคยถูกบังคับใช้ แต่เป็นมาตราที่สามารถบังคับใช้ได้ โดยที่ไม่ต้องมีการตรวจสอบรายละเอียดมากนัก

 

แผนการปรับขึ้นภาษีนำเข้าที่อาจถูกปรับเปลี่ยนดังข้างต้น แม้มีแนวโน้มสร้างความไม่แน่นอนครั้งใหม่ แต่ขณะเดียวกัน นักลงทุนอาจมีความกังวลที่ลดลงกว่า ผ่านมุมมองที่ว่า สงครามการค้าได้ผ่านจุดตึงเครียดที่สุดไปแล้ว เกิดการเปิดรับความเสี่ยง (Risk-on sentiment) ที่เพิ่มมากขึ้น หนุนการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์ กดดันสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย ด้วยเหตุนี้ หากศาลอุทธรณ์มีคำตัดสินระงับการบังคับใช้แผนการด้านภาษีที่ใช้อำนาจภายใต้ IEEPA นั้นนับเป็นปัจจัยกดดันด้านราคาทองคำ ทำให้ราคาทองคำอาจไม่สามารถสร้างระดับสูงสุดตลอดกาลครั้งใหม่ที่เหนือกว่า 3,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ในระยะอันใกล้

 

ราคาทองคำอาจได้รับแรงหนุนเพิ่มเติม จากความเสี่ยงทางการคลังของสหรัฐฯ ที่เพิ่มสูงขึ้น

 

หากศาลอุทธรณ์มีคำสั่งระงับมาตรการด้านภาษี ที่ใช้อำนาจภายใต้ IEEPA นอกจากกระทบกับแผนการกำหนดภาษีนำเข้าของรัฐบาลสหรัฐฯ แต่ยังอาจเพิ่มความเสี่ยงทางการคลังของสหรัฐฯ ด้วย หากสภาคองเกรสไม่สามารถอนุมัติปรับขึ้นเพดาหนี้สาธารณะภายในเดือน ก.ค. นี้ได้

 

ทั้งนี้ คำสั่งระงับแผนการด้านภาษีดังกล่าว จะมีผลย้อนหลังกลับไปนับตั้งแต่การเริ่มบังคับใช้ก่อนหน้านี้ มีผลให้รายได้ศุลกากรจากแผนการด้านภาษีดังกล่าว ต้องจ่ายคืนกับบริษัทหรือหน่วยงานที่จ่ายภาษีดังกล่าว ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ ได้รับรายได้ศุลกากรเพิ่มขึ้น 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งหากรายได้ส่วนดังกล่าวหายไป และต้องนำจ่ายคืนส่วนที่เก็บได้ ค่าใช้จ่ายทางการคลังจะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับรายได้

 

ขณะที่เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. นายสก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ได้อนุมัติขยายการใช้มาตรการพิเศษทางการคลังจนถึงวันที่ 24 ก.ค. เพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาล หลังหนี้สาธารณะสหรัฐฯ แตะเพดานระดับ 36.1 ล้านล้านดอลลาร์ ในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา แต่มีการแถลงชี้ว่า มาตรการดังกล่าวอาจดำเนินการได้ถึงเพียงช่วงเดือน ส.ค. พร้อมเตือนว่า หากศาลสั่งระงับการเก็บภาษีนำเข้าบางส่วน มีแนวโน้มทำให้วันที่อาจเกิดการชัตดาวน์ของรัฐบาลสหรัฐฯ หรือที่เรียกว่า X-date อาจเลื่อนเข้ามาเร็วขึ้น

 

อย่างไรก็ดี เบสเซนต์ส่งสัญญาณเรียกร้องให้สภาคองเกรสอนุมัติปรับขึ้นเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ หรือระงับกรอบเพดานหนี้สาธารณะ ก่อนเดือน ส.ค. เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ

 

ทั้งนี้ สำนักงบประมาณแห่งสภาคองเกรส (CBO) ประเมินว่า เพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ อาจต้องขยับขึ้นอีกราว 4 ล้านล้านดอลลาร์ แต่ฝั่งวุฒิสภาสหรัฐฯ ประเมินว่า อาจต้องปรับขึ้น 5 ล้านล้านดอลลาร์ สู่ระดับ 41.1 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุป โดย Bipartisan policy center ประเมินว่า X-date นั้นมีแนวโน้มอยู่ระหว่างวันที่ 15 ส.ค. – 3 ต.ค. หากสภาคองเกรสไม่มีการปรับขึ้นเพดานหนี้สาธารณะ

 

อนึ่ง วายแอลจี ประเมินว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จะสามารถเลี่ยงการชัตดาวน์ก่อนถึง X-date ได้ ขณะที่คำสั่งศาลต่อประเด็นด้านภาษี อาจไม่ได้เร่ง X-date ขึ้นได้เร็วกว่าเดิมมากนัก โดยอาจเร่งขึ้นได้เพียงหลักวัน อย่างไรก็ดี หาก X-date ถูกเร่งเข้ามา ประกอบกับการหารือประเด็นเพดานหนี้มีความล่าช้า นักลงทุนมีแนวโน้มตอบสนองเชิงลบมากยิ่งขึ้น ตามระยะการเข้าใกล้ X-date สถานการณ์เช่นนี้ ราคาทองคำมีลุ้นได้รับแรงหนุนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising