คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญให้ แพทองธาร ชินวัตร หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี จากปมคลิปบันทึกเสียงสนทนาทางโทรศัพท์กับสมเด็จฮุน เซน ประธานวุฒิสภาและอดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา กลายเป็นประเด็นร้อนของสถานการณ์การเมืองไทย ที่สื่อทั่วโลกให้ความสนใจ
บทวิเคราะห์จากสื่อหลายสำนัก ชี้ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นวังวนที่กำลังทำให้การเมืองไทยหวนกลับไปสู่ความปั่นป่วนและวุ่นวาย ที่อาจจะรุนแรงยิ่งกว่าเดิม
ในขณะที่ตระกูลชินวัตร กำลังเผชิญวิกฤตใหญ่ครั้งใหม่ ที่อาจทำให้อำนาจและอิทธิพลทางการเมืองที่มีมายาวนาน 25 ปี ต้องสั่นคลอน
วิกฤตตระกูลชินวัตร
South China Morning Post เผยแพร่บทความ มองสิ่งที่เกิดขึ้นกับแพทองธาร ว่าเป็นอีกวิกฤตหนึ่งของตระกูลชินวัตร
ที่ผ่านมา เก้าอี้นายกรัฐมนตรีไทยหลายสมัย ตกเป็นของตระกูลชินวัตร นับตั้งแต่ทักษิณ ชินวัตรในปี 2001-2006 ต่อเนื่องมาจนถึงสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยของทักษิณ ในปี 2008 ตามด้วยยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปี 2011-2014 จวบจนปัจจุบันคือแพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวคนเล็กของทักษิณ ที่เข้ารับหน้าที่ต่อจากเศรษฐา ทวีสิน ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญถอดถอนจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อปีที่แล้ว
การครองอำนาจของตระกูลชินวัตร ยังคงถูกท้าทายซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยเผชิญทั้งการรัฐประหารและคดีความต่างๆ รวมถึงการสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้พ้นจากตำแหน่งโดยศาลรัฐธรรมนูญ
ขณะที่ South China Morning Post ชี้ว่า เส้นทางการเมืองของแพทองธารนั้น ไม่ต่างไปจากยิ่งลักษณ์ ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นเพียง ‘หุ่นเชิด’ ของทักษิณ
ทั้งนี้ รายงานของ Reuters ชี้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับแพทองธาร วัย 37 ปี ซึ่งถือเป็นนายกรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดของไทย และยังเป็นมือใหม่ทางการเมือง ถือเป็น ‘Baptism of Fire’ หรือการผ่านประสบการณ์อันยากลำบากและเจ็บปวดเป็นครั้งแรก
คำสั่งของศาล มีขึ้นในขณะที่แพทองธาร พยายามดิ้นรนที่จะดำเนินนโยบายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยซึ่งกำลังเผชิญภาวะชะงักงัน และฉุดความนิยมที่ลดลงอย่างรวดเร็วจากหลายปัจจัยรวมถึงปมคลิปเสียงฮุน เซน
ผลสำรวจความคิดเห็นจากนิด้าโพล ที่เผยแพร่เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าคะแนนนิยมของเธอลดลงเหลือ 9.2% ในเดือนมิถุนายน จาก 30.9% ในเดือนมีนาคม
นอกเหนือจากแพทองธาร ช่วงสัปดาห์นี้ ทักษิณเองก็กำลังเผชิญการสืบพยานในคดี ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กรณีให้สัมภาษณ์สื่อเกาหลีใต้เมื่อปี 2558 ที่มีเนื้อหาพาดพิงสถาบัน ซึ่งหากพบว่ามีความผิด อาจต้องรับโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี
โดยสิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากและเป็นวิกฤตใหญ่ที่กำลังสะเทือนอำนาจของตระกูลชินวัตร
ความเสี่ยงการเมืองไทยเพิ่มขึ้นชัดเจน
Bower Group Asia (BGA) บริษัทที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์ที่เชี่ยวชาญด้านอินโดแปซิฟิก เผยแพร่ข้อมูลวิเคราะห์ความเสี่ยงการเมืองไทย ที่เขียนโดย ศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้แพทองธาร หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ทำให้ความเสี่ยงทางการเมืองและประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายของไทย ‘เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด’
โดยคำสั่งศาลมีขึ้นในขณะที่มีการปรับคณะรัฐมนตรี ซึ่งแพทองธาร จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมควบคู่ไปด้วย ทำให้เธอยังสามารถเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีและรักษาอิทธิพลเอาไว้ได้
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลในตอนนี้ มีเสียงข้างมากเพียงเล็กน้อยที่ 261 ต่อ 234 ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลมีอำนาจในการต่อรองอย่างไม่เหมาะสม และอาจบ่อนทำลายอำนาจในการกำหนดนโยบายของพรรคเพื่อไทย
โดยข้อสรุปสำคัญจากคำสั่งศาลที่ออกมา คือชี้ให้เห็นว่าวันเวลาของแพทองธาร นั้นใกล้จะหมดลงแล้ว ในขณะที่แบรนด์ชินวัตร กำลังสูญเสียความนิยมจากมวลชน และทำให้พรรคเพื่อไทยอ่อนแอลง สวนทางกับพรรคประชาชน และฝ่ายอนุรักษ์นิยม ที่ยังคงได้รับกระแสความนิยม ซึ่งไม่ว่าคำตัดสินของศาลในคดีแพทองธารจะเป็นอย่างไร การเผชิญหน้าทางการเมืองครั้งต่อไปอาจกำลังเกิดขึ้นแล้ว และอาจจะเป็นภาคต่อจากการเลือกตั้งในปี 2023 ที่พรรคก้าวไกลคว้าชัยชนะอย่างไม่คาดคิด
วิกฤตจากความไม่รอบคอบ
เกร็ก เรย์มอนด์ (Greg Raymond) อาจารย์จากศูนย์การศึกษาด้านยุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศแห่งโรงเรียนกิจการเอเชียแปซิฟิกคอรัลเบลล์ (Coral Bell School of Asia Pacific Affairs) มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว ABC (Australian Broadcasting Corporation) กรณีคลิปเสียงสนทนากับฮุน เซน ที่หลุดออกมา โดยมองว่า “แพทองธารได้แสดงความคิดเห็นที่ไม่รอบคอบ ซึ่งสื่อเป็นนัยว่า กองทัพไทยกำลังสร้างปัญหาให้กับเธอ” และชี้ว่าความไม่รอบคอบดังกล่าว มาจากการเป็น ‘มือใหม่ทางการเมือง’
“เธอใช้ภาษาที่ค่อนข้างสุภาพและสนิทสนมกับฮุน เซน … [เธอ] เรียกเขาว่าลุง เป็นการไม่เป็นมืออาชีพและไม่รอบคอบอย่างยิ่ง แต่ก็ไม่น่าแปลกใจ เนื่องจากแพทองธารไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองมากพอที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี”
“ดังนั้น จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เธอจะทำผิดพลาดร้ายแรงบางอย่าง … และแน่นอนว่าสิ่งนี้ทำให้เกิดความตึงเครียดด้วยเช่นกัน”
ขณะที่ กอร์ดอน โคโนชี (Gordon Conochie) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยลาโทรบและผู้เชี่ยวชาญด้านกัมพูชา กล่าวว่า คลิปการโทรศัพท์พูดคุยระหว่างแพทองธารและฮุน เซน ดูเหมือนจะยืนยันความสงสัยที่มีมายาวนานเกี่ยวกับความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างตระกูลชินวัตรและครอบครัวฮุน
“นั่นเป็นอันตรายที่ใหญ่ที่สุดต่อนายกรัฐมนตรีไทย” เขากล่าว
The New York Times ชี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับแพทองธาร คือความปั่นป่วนครั้งล่าสุดในไทย ซึ่งประสบปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองมายาวนาน และติดหล่มอยู่กับการรัฐประหารและการประท้วงมานานหลายทศวรรษ
ยังไม่ชัดเจนว่าหลังจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลานานแค่ไหนในการวินิจฉัยคำร้อง แต่ศาลได้ให้เวลาแพทองธาร 15 วัน ในการยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา
โดยที่ผ่านมา มีกรณีตัวอย่างของนายกรัฐมนตรีไทยที่ถูกศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ แล้วได้กลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้ง คือกรณีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี 2022 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องวินิจฉัย วาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกินกำหนด 8 ปี โดยศาลวินิจฉัยว่ายังไม่ครบวาระ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้กลับมาดำรงตำแหน่งได้อีกครั้ง ใน 5 สัปดาห์หลังจากนั้น
อ้างอิง :
- https://www.scmp.com/week-asia/politics/article/3316486/thai-court-suspends-pm-paetongtarn-shinawatra-over-leaked-phone-call?module=perpetual_scroll_1_RM&pgtype=article
- https://bowergroupasia.com/thailands-worsening-political-crisis-and-prospect/
- https://www.nytimes.com/2025/07/01/world/asia/thai-pm-shinawatra-suspended.html
- https://www.abc.net.au/asia/thailand-cambodia-dispute-paetongtarn-thaksin-hun-sen-phone/105469034