ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ตั้งเป้าก้าวเป็น ‘ธนาคารภูมิภาคชั้นนำ’ ของอาเซียน ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดระหว่าง Top 6 อย่าง OCBC Maybank UOB CIMB BBL และ DBS หวังรองรับการขยายตัวของอาเซียน ซึ่งคาดว่า จะเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับที่ 4 ของโลกในอีก 5 ปีข้างหน้า ด้าน ‘ชาติศิริ’ คงเป้าหมายการเติบโตของ BBL ปีนี้ เชื่อเศรษฐกิจไทยยังไปได้
ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารกรุงเทพจะพยายามขยายฐานะการเป็นธนาคารภูมิภาค (Regional Banking) ไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกับที่ธนาคารอื่นๆ ที่พยายามขยายสาขาตัวเองไป “ดังนั้น ขอให้เราสามารถทำของเราให้ดีให้ได้ก็พอ”
ชาติศิริ กล่าวอีกว่า หลังจากธนาคารกรุงเทพ (BBL) ได้เข้าซื้อกิจการธนาคารเพอร์มาตา (Permata) และได้ควบรวมธนาคารกรุงเทพ 3 สาขา ได้แก่ สาขาจาการ์ตา สาขาสุรายาบา และสาขาเมดาน เข้ากับธนาคารเพอร์มาตาในปี 2563 ธนาคารกรุงเทพได้สนับสนุนธนาคารเพอร์มาตาจัดตั้งหน่วยงานบริการที่ชื่อว่า ‘ฝ่ายพัฒนาและที่ปรึกษาธุรกิจระหว่างประเทศ’ (International Business Development and Advisory Directorate) เพื่อเป็นศูนย์การรองรับทั้งลูกค้าในเครือข่ายของธนาคารกรุงเทพ ในกลุ่มอาเซียน จีน ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ที่ต้องการเข้ามาลงทุนในอินโดนีเซีย และลูกค้าในอินโดนีเซียที่ต้องการไปลงทุนประเทศอื่นในภูมิภาค
“การประสานจุดแข็งด้านเครือข่ายของธนาคารกรุงเทพในระดับภูมิภาคเข้ากับความเชี่ยวชาญในตลาดท้องถิ่นของธนาคารเพอร์มาตา เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงอาเซียน (Connecting ASEAN) ของธนาคารกรุงเทพ ที่เป็นเหมือน เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน” ชาติศิริ กล่าว
ทั้งนี้ ในปี 2567 ธนาคารเพอร์มาตา ได้ปรับเปลี่ยนมาใช้ตราสัญลักษณ์บัวหลวง เพื่อสะท้อนความเป็นหนึ่งเดียวในมาตรฐานการบริการ ภายใต้แนวคิด “One Family One Team” ของธนาคารกรุงเทพ
“ในแต่ละปีธุรกิจของเพอร์มาตาก็ขยายตัวไปได้เรื่อยๆ อย่างดี และมี Contribution สำคัญให้กับธนาคารกรุงเทพ” ชาติศิริ กล่าว
อาเซียนจ่อก้าวเป็นเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 4 ของโลก ในอีก 5 ปี
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ในช่วง 5 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจอาเซียนใน 5 ปีจะเปลี่ยนอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และจะกลายเป็นเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 4 ของโลก ดังนั้น อีกเมทริกที่ธนาคารกรุงเทพมองอยู่เสมอคือ การเป็นธนาคารภูมิภาคนี้ (Regional Bank)
“ปัจจุบัน ในแง่ของขนาด ธนาคารกรุงเทพอยู่ประมาณอันดับ 6 ของภูมิภาค โดยใน 6 ธนาคารนี้รวมถึง OCBC Maybank UOB CIMB BBL และ DBS อย่างไรก็ตาม ในจำนวน 6 ธนาตารดังกล่าว หลายแห่งแทบไม่ปรากฎในไทยแล้ว เช่น OCBC และ DBS ดังนั้น ธนาคารที่มีสาขาครอบคลุมทั้งส่วนบนและส่วนล่างของอาเซียน เพื่อรองรับการก้าวขึ้นเป็นอันดับ 4 ของโลกก็ต้องเป็นธนาคารกรุงเทพ” ดร.กอบศักดิ์กล่าว พร้อมย้ำอีกว่า “ผมคิดว่า ธนาคารกรุงเทพจะเป็นหนึ่งใน Top 3 ของภูมิภาคอย่างแท้จริงได้”
ทั้งนี้ อาเซียน ที่มีทั้งส่วนบน ซึ่งเป็นที่ตั้งของ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม (CLMV) และส่วนครึ่งล่าง ซึ่งมีอินโดนีเซียเป็นหัวใจที่สำคัญ
ดร.กอบศักดิ์กล่าว กล่าวอีกว่า ในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่า สินเชื่อแบงก์ไทยอื่นไม่ค่อยโต แต่แบงก์กรุงเทพฯ สินเชื่อยังโตอยู่ ส่วนนึงก็มาจากการขยายตัวของสินเชื่อในอินโดนีเซีย เช่นเดียวกับกำไรของแบงก์กรุงเทพที่สูงขึ้น ส่วนหนึ่งก็มาจาก Permata หลายพันล้าน
“ดังนั้น ธนาคารกรุงเทพ ในอนาคตจะมี 2 ขา ในวันที่เมืองไทยโตไม่ได้ เราก็ไม่ตื่นเต้นเพราะเราสามารถทำธุรกิจในอีกประเทศ (อินโดนีเซีย) โตได้ดี”
โดย ณ สิ้นปี 2567 ธนาคารเพอร์มาตา มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 38% เมื่อเทียบกับปี 2566 และธนาคารเพอร์มาตามีสัดส่วนสินเชื่อประมาณ 12% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมดของธนาคารกรุงเทพ
โดยตั้งแต่การเข้าซื้อกิจการในปี 2563 สัดส่วนสินเชื่อในต่างประเทศต่อสินเชื่อรวมของธนาคารกรุงเทพเพิ่มขึ้นจาก 17% เป็น 25% (ข้อมูล ณ ธันวาคม 2567) ส่งผลให้ปัจจุบันธนาคารเพอร์มาตาเป็น 1 ใน 10 ของธนาคารที่มีสินทรัพย์รวมใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย มีเครือข่ายสาขาให้บริการ 240 สาขา กระจายอยู่ใน 82 เมืองสำคัญทั่วประเทศ เพื่อรองรับการให้บริการลูกค้ากว่า 6.2 ล้านราย (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2568)
Retail Banking นอกไทยแห่งแรกของ BBL
ดร.กอบศักดิ์ เปิดเผยอีกว่า ธนาคารเพอร์มาตา เป็นการทำธุรกิจธนาคารลูกค้ารายย่อย (Retail banking) นอกประเทศไทยครั้งแรกของธนาคารกรุงเทพ ซึ่งช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับธนาคารกรุงเทพ
“International Banking ที่ธนาคารกรุงเทพทำก่อนหน้านี้ เป็นสาขาเล็กๆ ไม่มีเงินฝาก ทำให้แข่งขันยาก การไปแข่งด้านสินเชื่อ ก็ต้องตัดราคา ทำให้ Margin แคบ แต่การมี Permata ซึ่งเป็น Retail Banking แรกของธนาคารกรุงเทพที่อยู่นอกประเทศไทยก็สามารถทำให้เข้าถึงเงินฝาก ที่มีต้นทุนต่ำ ทำให้สามารถแข่งขันได้”
‘ชาติศิริ’ เชื่อ เศรษฐกิจไทยยังไปต่อได้
ชาติศิริ กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจก็ยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยเฉพาะเมื่อสัญญาณต่างๆ เห็นได้ชัดเจนขึ้น แนวโน้มการลงทุนต่างๆ ก็จะมีมากขึ้น แล้วประเทศไทยก็เป็นประเทศที่สงบและมีเสถียรภาพ จึงน่าจะได้ประโยชน์
โดยธนาคารกรุงเทพยังคงเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อรวมในปีนี้ไว้ที่ระดับ 3-4% โดยการเติบโตนี้ส่วนหนึ่งมาจากภาคธุรกิจ (Corporate Banking) ลูกค้ารายกลางและรายย่อย ลูกค้าบุคคล และลูกค้าจากธุรกิจต่างประเทศ
“ตัวเลขนี้เป็นเป้าหมาย (Target) ซึ่งก็แน่นอนไม่ใช่ของง่าย แต่ก็เราก็ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลง”
นอกจากนี้ ชาติศิริ ยังระบุว่า การทำธุรกิจแบงก์ปีนี้มีความท้าทาย แต่ก็มีโอกาสในด้านต่างๆ เช่นเดียวกัน โดยความน่ากังวลคือ ความผันผวน ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการเจรจาระหว่างประเทศต่างๆ