หลังจากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่ CIMB Thai มองว่า ความไม่แน่นอนทางการเมือง กำลังกดดันเศรษฐกิจไทยใน 3 ด้าน แต่ยังคงคาดการณ์ GDP ไทยปี 2568 ไว้ที่ 1.8% ในกรณีฐาน มองบวกแม้ครึ่งปีหลังจ่อชะงักงัน แต่ยังไม่เข้าภาวะถดถอย
วันนี้ (1 กรกฎาคม) ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย มองว่าความไม่แน่นอนทางการเมืองกำลังกดดันเศรษฐกิจไทยใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่ ความเชื่อมั่นภาคเอกชน ประสิทธิผลนโยบายเศรษฐกิจ และการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ดังนี้
ในด้านความเชื่อมั่นภาคเอกชน ดร.อมรเทพมองว่า นักลงทุนจะมีความระมัดระวังมากขึ้น และมีการชะลอการลงทุนในโครงการที่ต้องพึ่งพางบประมาณจากภาครัฐ โดยเฉพาะภาคการก่อสร้าง ซึ่งรัฐบาลควรพยายามที่จะรักษาเสถียรภาพเอาไว้ให้ได้
ขณะที่ด้านนโยบายที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอาจไม่กระทบมากนัก เนื่องจากการหยุดปฏิบัติหน้าที่ของนายกฯ น่าจะไม่มีผลต่อการเบิกงบประมาณรายจ่าย และน่าจะสามารถผลักดันโครงการได้ต่อไป แต่ซีไอเอ็มบีมองว่า ประสิทธิผลจะลดลง จากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ต่ำลง เพราะความไม่แน่นอนทางการเมือง
แต่หากการเมืองเดินหน้าไปสู่การยุบสภาฯ ก็อาจกระทบต่องบประมาณในปี 2569 ที่อาจล่าช้ากระทบเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 4 ถึงไตรมาส 2 ปีหน้า
ส่วนการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกับสหรัฐอาจไม่กระทบในระยะสั้น และผู้แทนการค้าทั้งสองฝ่ายน่าจะยังคงพบปะพูดคุยกันตามกำหนดการเดิมต่อไป
เศรษฐกิจไทยเข้าข่ายชะงักงัน
ดร.อมรเทพ กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจไทยกำลังก้าวเข้าสู่ครึ่งหลังของปีงู ด้วยการเผชิญเรื่องร้อนๆ อย่างเต็มแรง และเสี่ยงเติบโตช้าลงช่วงครึ่งปีหลัง แต่สำนักวิจัยฯ ยังคงคาดการณ์ GDP ปี 2568 ไว้ที่ 1.8%
“เศรษฐกิจไทยปีงูเผชิญแรงกดรอบด้านเดือดดาลเหมือนงูไฟ ทั้งอสังหาริมทรัพย์ซบเซา นักท่องเที่ยวหาย การบริโภคแผ่ว ตลาดยานยนต์ซึม กำลังซื้ออ่อนแอ สินเชื่อหดตัว อัตราดอกเบี้ยสูง เงินบาทแข็งกระทบส่งออก การเมืองสั่นคลอน ปัจจัยต่างประเทศร้อนแรง ในฉากทัศน์นี้ กรณีฐาน (Base case) คาด GDP ปีนี้โตแค่ 1.8% เข้าข่ายเศรษฐกิจชะงักงัน”
ดร.อมรเทพ เตือนอีกว่า เศรษฐกิจอาจเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค หาก GDP หดตัวต่อเนื่อง 2 ไตรมาสติดใน Q3 และ Q4 โดยเฉพาะหากปัจจัยลบหนักกว่าคาด เช่น สงครามน้ำมัน ราคาน้ำมันพุ่ง หรือการเมืองไทยยืดเยื้อ ยิ่งกดดันเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่ำสุดเหลือเพียง 1.4%
อย่างไรก็ดี กรณีดีที่สุด (Upside) หากส่งออกฟื้น มาตรการกระตุ้นกระจายตัวได้จริง การเมืองไม่ป่วน และน้ำมันลดราคา GDP มีโอกาสโตได้สูงสุดราว 2.3%
“ไม่ว่าฉากทัศน์ไหน จะรุ่ง รอด หรือริ่ง สัญญาณชัดคือเศรษฐกิจไทยยังเสี่ยงโตต่ำต่อเนื่องไปถึงปีหน้า หากยังไม่เร่งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างจริงจัง และยั่งยืน ซึ่งจะทำให้ไทยสูญเสียความน่าสนใจในการลงทุนจากต่างชาติ” ดร.อมรเทพ กล่าวทิ้งท้าย