×

ย้อนมองประเทศไทยในวัน ‘ตลาดหุ้น’ ย่ำแย่สุดในโลก วาทะเด็ด ‘ศุภวุฒิ สายเชื้อ’ – ‘บรรยง พงษ์พานิช’

01.07.2025
  • LOADING...
longterm-economy-focus

1.“สิ่งหนึ่งที่อย่าไปคิดถึงเลยคือ Quick Win เพราะโครงสร้างของเราไม่ตอบโจทย์โลกทุกวันนี้”

 

ศุภวุฒิ

 

คำกล่าวของ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร และประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่สะท้อนให้เห็นถึงสถานะของเศรษฐกิจไทยบนบริบทโลกที่กำลังเปลี่ยนไป และกำลังส่งสัญญาณไปยังทุกๆ ภาคส่วนของไทยให้เห็นถึงความเร่งด่วนที่เราจะต้องช่วยกันพลิกฟื้นสถานการณ์ของประเทศ ด้วยการโฟกัสที่ผลประโยชน์ในระยะยาว

 


 

2.“การเติบโตของเศรษฐกิจไทยค่อนข้างจะต่ำที่สุดในตลาดเกิดใหม่มา 20 ปีแล้ว ถ้าดู performance ของหุ้น จะเห็นว่า ROE และ ROA ก็ลด” 

 

บรรยง พงษ์พานิช

 

 ตลาดหุ้นไทยเป็นหนึ่งในตลาดที่ทำผลงานแย่ที่สุดในโลกในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการลงทุนจากต่างชาติที่ลดลง ตัวชี้วัดสำคัญคือการลดลงของสัดส่วนการถือครองหุ้นโดยนักลงทุนต่างชาติใน free float เมื่อ 15 ปีที่แล้ว นักลงทุนต่างชาติถือครอง 67% ของ free float แต่ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 35%

 

การทิ้งหุ้นไทยของต่างชาติมาจากหลายสาเหตุ เช่น ปัจจัยพื้นฐานที่อ่อนแอ การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอยู่ในกลุ่มที่ต่ำที่สุดในตลาดเกิดใหม่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) และอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA) ของหุ้นไทยลดลง

 


 

3.“ปัญหาพื้นฐานของไทยคือการขาดรัฐบาลที่มีต้นทุนทางการเมือง (Political Capital) เพียงพอ” 

 

ศุภวุฒิ

 

Political Capital ที่เพียงพอ หมายถึงรัฐบาลที่สามารถโน้มน้าวให้ประชาชนยอมรับการเสียสละในระยะสั้นเพื่อประโยชน์ในระยะยาวได้ วันนี้ไทยไม่มี Quick Wins อีกแล้ว เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจไทยปัจจุบันไม่เหมาะสมกับภูมิทัศน์ของโลก

 


 

4.“ปัญหาใหญ่ของไทยคือ productivity improvement ต่ำมาก ส่วนหนึ่งเพราะห้ามต่างชาติแข่งในหลายอุตสาหกรรม” 

 

ปัญหาของไทย

 

ระหว่างปี 1985 ถึง 1995 ไทยมีการเพิ่มผลิตภาพสูงเนื่องจากเศรษฐกิจเปลี่ยนจากเกษตรกรรมสู่อุตสาหกรรม โดยส่วนใหญ่ขับเคลื่อนโดยการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ทำให้ Productivity เพิ่มขึ้นสูงมาก

 

แต่หลังวิกฤตปี 1997 เศรษฐกิจไทยกลายเป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยภาคบริการ ภาคบริการส่วนใหญ่เป็น “non-tradable” (ไม่สามารถซื้อขายข้ามพรมแดนได้ง่าย) ในทางตรงกันข้าม อุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าที่ซื้อขายได้ต้องมีผลิตภาพสูงเพื่อแข่งขันในระดับสากล

 

สาเหตุที่ Productivity ของไทยต่ำ เพราะการจำกัดการแข่งขันจากต่างชาติในหลายอุตสาหกรรม การผูกขาดและการมีผู้ขายน้อยราย อิทธิพลของรัฐบาลและการทุจริต รวมทั้งการครอบงำโดยรัฐวิสาหกิจ

 


 

5.“หนี้สาธารณะทั่วโลกน่ากังวลที่สุด เมื่อ 15 ปีที่แล้ว หนี้สาธารณะต่อ GDP ของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเฉลี่ยอยู่ที่ 85% ปัจจุบันเพิ่มเป็น 110%” 

 

หนี่สาธารณะ

 

หนี้สาธารณะของรัฐบาลทั่วโลกคือประเด็นที่น่ากังวลที่สุด เมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้ว สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเฉลี่ยอยู่ที่ 85% โดยมีญี่ปุ่นเป็นตัวแปรสำคัญ ปัจจุบันตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นเป็น 110% ของ GDP

 

แม้แต่สหภาพยุโรปซึ่งตั้งมาตรฐานไว้ที่ 60% ก็มีหนี้เกิน 80% ไปแล้ว หนี้สาธารณะที่สูงนี้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการเงินโลก ทำให้เกิดภาวะแย่งชิงทรัพยากรทางการเงิน และนำไปสู่อัตราดอกเบี้ยโดยรวมที่สูงขึ้น

 


 

6.“เริ่มมีแนวคิดห้ามคนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศ หุ้นไทยจะได้ขึ้น ผมบอกเลยว่าจะตรงกันข้าม” 

 

หุ้นไทย ต่างประเทศ

 

บรรยงบอกว่านี่คือสิ่งที่อันตราย การห้ามคนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศ หุ้นไทยจะได้ขึ้น ผลลัพธ์จะตรงกันข้าม การให้คนไทยไปลงทุนต่างประเทศได้ จะกดดันให้บริษัทไทยต้องพัฒนา และถ้าคุณเก็บภาษีหนัก คุณจะเก็บได้แต่คนชั้นกลาง เงินทุนส่วนใหญ่จะหนีไปแล้วไม่กลับ ตลาดจะยิ่งตกต่ำ

 


 

7.“ความท้าทายแรกของเศรษฐกิจไทยคือ การขาดความเชื่อมั่น ธนาคารไม่เต็มใจปล่อยสินเชื่อ และบริษัทใหญ่กำลังทยอยคืนเงินกู้” 

 

ธนาคารไทย

 

ความท้าทายแรกของเศรษฐกิจไทยคือ การขาดความเชื่อมั่น สะท้อนจากธนาคารไม่เต็มใจปล่อยสินเชื่อ และบริษัทใหญ่ๆ กำลังทยอยคืนเงินกู้ ซึ่งบ่งชี้ถึงการขาดความเชื่อมั่นในทิศทางเศรษฐกิจของไทยในอนาคต

 

ถัดมาคือการพึ่งพาการส่งออกและการเปลี่ยนแปลงของโลก หลังวิกฤตต้มยำกุ้งปี 1997 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวโดยพึ่งพาการส่งออกอย่างหนัก ซึ่งเติบโตจาก 35% เป็น 56% ของ GDP หลังการลดค่าเงินบาท อย่างไรก็ตาม นโยบายของทรัมป์กำลังทำลายกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งเป็นภัยคุกคามใหม่ การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ คิดเป็น 9-10% ของ GDP อาจเผชิญกับภาษีที่สูงขึ้น และการมีอุปทานล้นเกินของจีนก็ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมของไทย ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องหาตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่

 


 

8.“ถ้าแปรรูปรัฐวิสาหกิจสุดซอย อย่าง ปตท. แปรรูปเหมือน British Petroleum รัฐบาลจะได้รับเงิน 6 แสนล้านบาท และลดหนี้สาธารณะได้ 1 ล้านล้านบาท” 

 

รัฐวิสาหกิจ

 

ถ้าแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้สุดซอย ถ้ารัฐแปรรูป ปตท. เหมือน British Petroleum ในยุค มากาเร็ต แทชเชอร์ (อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร) ขายให้เหลือ 0% รัฐจะได้เงิน 6 แสนล้านบาท และจะช่วยลดหนี้สาธารณะ 1 ล้านล้านบาท” บรรยงกล่าว 

 

ปัจจุบันไทยขาด ‘เรื่องราว’ (Story) ที่น่าสนใจเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ในอดีตหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวได้จากการเสนอขายหุ้นครั้งแรก (IPO) ของ ปตท. ในปี 2001 เป็นเรื่องราวที่สำคัญที่เปิดตัวประเทศไทยใหม่อีกครั้ง เพียงแค่การเดินสายโรดโชว์สำหรับ IPO ขนาดใหญ่นี้ก็ทำให้ดัชนี SET พุ่งจาก 280 เป็น 400 จุด ดึงดูดเงินทุนต่างชาติจำนวนมาก 

 


 

9.“โอกาสสำคัญอยู่ที่การแปรรูปอาหารส่งออกไปจีนมากขึ้น จีนขาดดุลอาหารเพิ่มขึ้น จาก 5% ในปี 2012 เป็น 9% ในปี 2023”

 

แปรรูปอาหาร

 

ในมุมมองของ ดร.ศุภวุฒิ เครื่องยนต์ใหม่ของเศรษฐกิจไทย ได้แก่ 

  1. การท่องเที่ยว 2. การแปรรูปอาหารเพื่อส่งออก 3. อุตสาหกรรมสุขภาพระดับโลก 4. การผลิตในตลาดเฉพาะกลุ่ม 5. เกษตรกรรมที่บูรณาการกับเทคโนโลยี 6. ข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ

 


 

10.“กฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์เองที่ทำให้นักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจ อย่างการจำกัด short sell ไม่ได้ช่วยอะไรเลย แค่ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น” 

 

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

การตัดสินใจทางการเมืองและกฎระเบียบที่คาดเดาไม่ได้ โดยเฉพาะจากตลาดหลักทรัพย์เอง สร้างความไม่แน่นอนให้กับนักลงทุน เช่น การจำกัดการขายชอร์ต (Short Selling) สำหรับหุ้นนอก SET100 ไม่ได้ช่วยอะไร กลับเพิ่มต้นทุน 

 

ปัญหาธรรมาภิบาลบรรษัท กระทบความเชื่อมั่น “ความไว้วางใจเป็นสิ่งที่สร้างยาก ทำลายง่าย และยากมากที่จะฟื้นคืนเมื่อเสียไปแล้ว” 

 

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising