×

แรมโบ้อีสานยื่นหนังสือนายกฯ ค้านแต่งตั้งพีระพันธุ์เป็นรัฐมนตรี เชียร์เอกนัฏเป็นหัวหน้าพรรคแทน

โดย THE STANDARD TEAM
23.06.2025
  • LOADING...
peerapan-minister-dispute

วันนี้ (23 มิถุนายน) เวลา 10.00 น. ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล เสกสกล อัตถาวงศ์ ในฐานะผู้ก่อตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้คัดค้านการแต่งตั้ง พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี

 

เสกสกลกล่าวว่า เดิมทีพีระพันธุ์ได้เข้ามาขอใช้พรรคเพื่อเป็นฐานสำหรับการหาเสียงเลือกตั้งในช่วงปลายปี 2564 โดยในเวลานั้นมีข้ออ้างว่าเพื่อรองรับกรณีที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจจะตัดสินใจเล่นการเมืองต่อ ซึ่งขณะนั้นพีระพันธุ์ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค และเป็น สส. บัญชีรายชื่อลำดับที่ 14 แต่ในช่วงสองปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ที่พีระพันธุ์เข้ามาบริหารพรรค แต่สถานะของตนซึ่งเคยเป็น สส. บัญชีรายชื่อลำดับที่ 15 ตอนนี้กลับตกมาอยู่ที่ลำดับ 17 และยังไม่สามารถเข้าสภาได้ โดยเป็นผลมาจากปัญหาภายในพรรค 

 

เสกสกลกล่าวว่า ตนมีความกังวลเกี่ยวกับการบริหารพรรคของพีระพันธุ์ ประการแรกคือ การบริหารที่ไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ เดิมทีมีเจตนาที่จะสร้างพรรคให้เข้มแข็ง เจริญรุ่งเรือง และเป็นที่พึ่งของประชาชน แต่สถานการณ์กลับตรงกันข้าม พรรคกลับแตกแยกและขาดความสามัคคี หลายคนในพรรคต่างบ่นว่าหัวหน้าพรรคเอาแต่ความคิดของตนเอง และยังมีการแต่งตั้งคนใกล้ชิดที่ทำงานในบริษัทของตนเองให้ไปดำรงตำแหน่งสำคัญ 

 

ประการที่สองคือ ข้อสงสัยเกี่ยวกับการถือหุ้นและการเคลื่อนไหวของบริษัทที่นายพีระพันธุ์เป็นเจ้าของ ซึ่งแหล่งข่าวระบุว่าตามหลักกฎหมายแล้วไม่สามารถทำได้ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี

 

นอกจากนี้ ยังได้หยิบยกประเด็นที่พีระพันธุ์ถูก ป.ป.ช. เรียกสอบสวนเรื่องการติดรูปตัวเองในกิจกรรมแจกถุงยังชีพที่จังหวัดนครราชสีมา แต่กลับหลีกเลี่ยงที่จะไปชี้แจง อีกทั้งยังพบข้อเท็จจริงว่าก่อนที่พีระพันธุ์จะลาออกจากตำแหน่ง สส. นั้น เขาไม่ได้ลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และเพิ่งจะลาออกย้อนหลังไปกว่า 40 วัน เพื่อให้ทันตามกฎหมายและระเบียบการเลือกตั้งที่กำหนดว่าผู้สมัคร สส. ต้องไม่สังกัดหรือดำรงตำแหน่งข้าราชการทางการเมือง แต่เขากลับไม่ได้ลาออกก่อนที่จะลงรายชื่อเป็น สส. บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 และเป็นแคนดิเดตนายกฯ ลำดับที่ 2 ของพรรค รทสช. ซึ่งเรื่องนี้มีหลักฐานที่ยื่นให้นายกฯ เรียบร้อยแล้ว แต่กลับไม่มีการตรวจสอบใดๆ เกิดขึ้น

 

ท้ายที่สุด เสกสกลได้กล่าวว่าตนได้มีการพูดคุยกับ เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค เกี่ยวกับสถานการณ์ที่วุ่นวายภายในพรรค และรู้สึกว่าหัวหน้าพรรคไม่ฟังใครเลย และยังพยายามโหนกระแส พล.อ. ประยุทธ์ โดยสร้างกลุ่มด้อมพีระพันธุ์ เป็นการเลียนแบบ ‘ด้อมส้ม’ ซึ่งมองว่าไม่เหมาะสม ในฐานะผู้ก่อตั้งพรรค ตนอยากเชียร์ให้ เอกนัฏขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคแทน ถึงแม้ก่อนหน้านี้จะมีข่าวว่าเอกนัฏถูกปลดออกจากเลขาธิการพรรค แต่เนื่องจากเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่และไม่ต้องการมีปัญหากับหัวหน้าพรรค จึงพยายามปรับตัวและสามารถทำงานร่วมกันได้

 

นอกจากนี้ ในรายละเอียดของหนังสือที่เสกสกลได้ยื่นถึงนายกรัฐมนตรี ได้ระบุและมีการอ้างอิงถึงรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 ที่ว่าด้วยอำนาจในการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน และมาตรา 160 ที่กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรี ซึ่งผู้ยื่นหนังสือเน้นย้ำว่าเป็นสาระสำคัญที่นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องตรวจสอบและรู้หรือควรรู้ก่อนที่จะเสนอรายชื่อทูลเกล้าฯ ต่อพระมหากษัตริย์ รวมถึงในระหว่างการดำรงตำแหน่ง 

 

หากพบว่ามีคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้าม ก็จะทำให้สมาชิกภาพความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงได้ และกรณีนี้กำลังอยู่ในระหว่างการไต่สวนขององค์กรอิสระ ไม่ว่าจะเป็น ป.ป.ช., กกต. หรือผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมถึงการที่อัยการสูงสุดอาจพิจารณาตรวจสอบ แม้ยังไม่ได้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็ตาม

 

สำหรับกรณีของพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาคนั้น มีการระบุในหนังสือว่าปัจจุบัน พีระพันธุ์มีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามหลายประการ และกำลังอยู่ระหว่างการไต่สวนของ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินคดีฐานละเมิดจริยธรรมอย่างร้ายแรงในกรณีการทุจริตแจกถุงยังชีพ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่คณะกรรมการไต่สวนกำลังแจ้งข้อกล่าวหา โดยข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันอาจทำให้ขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งขัดต่อมาตรฐานจริยธรรม ปี 2561 ข้อ 7, ข้อ 8 และข้อ 27 และถือเป็นจริยธรรมร้ายแรงที่ขัดต่อคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และ (5) 

 

นอกจากนี้ ป.ป.ช. ยังรับไต่สวนคดีซุกหุ้นและเป็นกรรมการบริษัท รวมถึงกรณีของ สุนงค์ สาลีรัฐวิภาค คู่สมรส ซึ่งเป็นการกระทำหลายกรรมต่างกัน อันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 187 ประกอบพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนหรือหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 มาตรา 4, มาตรา 5 และมาตรา 11 โดยผู้ร้องระบุว่ามีพยานหลักฐานปรากฏชัดเจนในข้อมูลนายทะเบียนนิติบุคคล สำเนารายชื่อผู้ถือหุ้น และงบดุลของแต่ละบริษัท 

 

ทั้งยังมีการกล่าวหาว่าในระหว่างดำรงตำแหน่ง พีระพันธุ์ยังคงบริหารจัดการบริษัทที่ตนเป็นเจ้าของ ทั้งยังแต่งตั้งบุคคลใกล้ชิดที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนให้เป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจ อาทิ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือแต่งตั้งเป็นข้าราชการการเมืองประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งล้วนเป็นการละเมิดจริยธรรมอย่างร้ายแรงที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และยังอยู่ระหว่างการไต่สวนของ ป.ป.ช.

 

เสกสกลยื่นคัดค้านพีระพันธุ์เป็นรัฐมนตรี เสกสกลยื่นคัดค้านพีระพันธุ์เป็นรัฐมนตรี เสกสกลยื่นคัดค้านพีระพันธุ์เป็นรัฐมนตรี

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising