หากแก่นแท้ของธุรกิจคือการสร้างการเติบโต การเติบโตนั้นจะยั่งยืนได้อย่างไรหากเป็นไปเพื่อองค์กรเพียงฝ่ายเดียว? คำถามนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ ‘สยามพิวรรธน์’ เลือกที่จะสร้างเส้นทางที่แตกต่าง ด้วยการนิยามบทบาทของตัวเองให้เป็น ‘แพลตฟอร์มแห่งโอกาส’ ที่ไม่ได้มุ่งสร้างเพียงความสำเร็จของตน แต่ปรารถนาที่จะเห็นทุกคนที่รายล้อมเติบโตไปพร้อมกัน
นี่คือแก่นกลางของ ‘วิถีสยามพิวรรธน์’ แนวคิดที่เปลี่ยนพื้นที่ค้าปลีกให้กลายเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนสังคมได้อย่างน่าสนใจ
วิสัยทัศน์ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นสิ่งที่สยามพิวรรธน์บูรณาการเข้าเป็นเนื้อเดียวกับทุกกระบวนการทางธุรกิจมาตั้งแต่ต้น แนวคิดว่าด้วย ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ ถูกนำมาใช้เป็นเข็มทิศในการสร้างสรรค์โครงการต่างๆ โดยมีเป้าหมายที่ใหญ่กว่าแค่การทำธุรกิจ นั่นคือการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คน ส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ และทำให้ชื่อของประเทศไทยก้องกังวานในเวทีโลก
เมื่อ ‘โอกาส’ คือรากฐานของการเติบโตร่วมกัน
จุดเริ่มต้นที่ชัดเจนที่สุดภาพหนึ่งคือ ‘สยามเซ็นเตอร์’ ที่ไม่ได้เป็นเพียงศูนย์การค้า แต่เป็นโรงบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ สยามพิวรรธน์ให้การสนับสนุนนักออกแบบไทยตั้งแต่ยังเป็นเวทีประกวดเล็กๆ จนดีไซเนอร์เหล่านั้นได้เติบโตกลายเป็นเจ้าของแบรนด์แฟชั่นแถวหน้าของเมืองไทยที่โด่งดังไกลในระดับโลก
ปัจจุบันที่นี่ยังคงเป็นศูนย์รวม ‘Soft Power’ ที่เปิดพื้นที่ให้ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ เยาวชน และกลุ่ม LGBTQ+ ได้แสดงศักยภาพ เพื่อผลักดันพลัง ‘ไทยสร้างสรรค์’ ให้เป็นที่ประจักษ์
ภาพความสำเร็จขยายใหญ่ขึ้นและลงลึกถึงระดับท้องถิ่นผ่าน ‘สุขสยาม’ และ ‘ไอคอนคราฟต์’ สุขสยามคือการจำลองระบบนิเวศทางธุรกิจที่ทำงานร่วมกับกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เพื่อนำของดีจากผู้ประกอบการรายย่อยใน 77 จังหวัดทั่วประเทศมาสู่สายตานักท่องเที่ยวทั่วโลก
ที่นี่ไม่ได้เป็นแค่ตลาด แต่เป็นหมุดหมายที่ดึงดูดผู้คนกว่า 60,000 คนต่อวัน และได้สร้างผู้ประกอบการรายใหม่กว่า 5,000 ราย สร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการและชุมชนรวมแล้วกว่า 4,000 ล้านบาท
ขณะที่ ‘ไอคอนคราฟต์’ คือพื้นที่แห่งแรงบันดาลใจสำหรับงานนวัตศิลป์และงานคราฟต์ร่วมสมัย สยามพิวรรธน์ทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานอย่าง SACIT และ CEA เพื่อเฟ้นหาและบ่มเพาะช่างฝีมือไทยและดีไซเนอร์ SME สิ่งนี้ไม่เพียงสร้างมูลค่าเพิ่มให้งานฝีมือ แต่ยังช่วยต่อลมหายใจและอนุรักษ์ทักษะของช่างฝีมือไทยหลายพันคนให้คงอยู่ต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีร้านมัลติแบรนด์อย่าง O.D.S. และ ABSOLUTE SIAM ที่ทำงานร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เพื่อคัดสรรสินค้าดีไซน์เด่นจากโครงการ DEMark และ Talent Thai มาจัดแสดงและเพิ่มโอกาสสู่ตลาดต่างประเทศ
มากกว่าธุรกิจ คือการสร้างคุณค่าสู่สังคมและชุมชน
สยามพิวรรธน์ไม่ได้หยุดแค่การให้พื้นที่ แต่ยังลงนามความร่วมมือ (MOU) กับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมศักยภาพนักออกแบบไทยอย่างเป็นระบบ และยังร่วมมือกับหอการค้าไทยในโครงการ ‘Big Brothers’ ที่นำผู้เชี่ยวชาญมาเป็นพี่เลี้ยงประกบผู้ประกอบการ SME แบบตัวต่อตัว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างแท้จริง
ปรัชญาการทำงานที่น่าชื่นชมคือ เมื่อสยามพิวรรธน์เข้าไปพัฒนาธุรกิจที่ใด ที่นั่นจะต้องเจริญขึ้น พร้อมกับคุณภาพชีวิตของผู้คนในชุมชนโดยรอบที่ดีขึ้นด้วย สยามพิวรรธน์ไม่ได้มองแค่พื้นที่ในโครงการของตน แต่ดูแลสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมคุณค่าให้กับพื้นที่โดยรอบทั้งหมด
หนึ่งในมิติที่โดดเด่นและนับเป็นรายแรกๆ ของวงการ คือการสร้างพื้นที่ด้วยแนวคิด ‘อารยสถาปัตย์’ (Universal Design) อย่างครบวงจร เพื่อให้ผู้พิการ ผู้สูงอายุ และทุกคนในสังคมสามารถเข้าถึงทุกพื้นที่ได้อย่างเท่าเทียมและสะดวกสบาย
จิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้าย: สู่โลกที่ยั่งยืนในวันข้างหน้า
นอกจากการสร้างคนและชุมชนแล้ว สยามพิวรรธน์ยังมองไปถึงการดูแลโลกใบนี้อย่างจริงจัง ด้วยพันธสัญญาที่ชัดเจนในการมุ่งสู่ ‘Net Zero’ หรือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050 ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่แค่การประกาศเป้าหมายลอยๆ แต่มีการวาง Roadmap การดำเนินงานไว้อย่างเป็นรูปธรรม
ภาพสะท้อนของความตั้งใจนี้คือ ‘สยามดิสคัฟเวอรี่’ ที่ถูกวางให้เป็นโครงการต้นแบบซึ่งให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และการสร้างแบรนด์ ‘Ecotopia’ ให้เป็นพื้นที่แห่งแรงบันดาลใจ ที่ทำให้เรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป แต่เป็นไลฟ์สไตล์ที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้
ตลอดห่วงโซ่คุณค่านี้ สยามพิวรรธน์ได้สร้างประโยชน์ให้แก่แบรนด์และชุมชนต่างๆ กว่า 21,000 ราย สร้างรายได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจแล้วมากกว่า 14,500 ล้านบาท
ทั้งหมดนี้ไม่ใช่แค่โครงการที่แยกส่วนกัน แต่ทุกอย่างร้อยเรียงกันเป็นภาพใหญ่ที่สะท้อน ‘วิถีสยามพิวรรธน์’ ได้อย่างสมบูรณ์ นี่คือบทพิสูจน์ว่าเมื่อธุรกิจไม่ได้มองแค่ผลกำไร แต่มุ่งมั่นที่จะเป็น ‘แพลตฟอร์ม’ เพื่อร่วมสร้างคุณค่าที่ยั่งยืน ผลลัพธ์ที่ได้คืออนาคตที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน ทั้งผู้คน สังคม ประเทศชาติ และโลกใบนี้
ภาพประกอบ: กันยกร กาญจนวิไล