×

ไทยพาณิชย์เผยเงินบาทแกว่ง 7% ในเวลาไม่ถึง 2 เดือน ผลกระทบนโยบายทรัมป์ คาดสิ้นปีแข็งค่าสู่ 31.5 บาทต่อดอลลาร์

11.06.2025
  • LOADING...
ค่าเงินบาทผันผวนจากนโยบายทรัมป์ 2.0 - SCB คาดเงินบาทแข็งแตะ 31.5 บาทต่อดอลลาร์

ธนาคารไทยพาณิชย์ชี้ ค่าเงินบาทปีนี้ผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของมาตรการภาษีทรัมป์ 2.0 มองค่าเงินที่กรอบ 31.50-32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปีนี้

 

แพททริก ปูเลีย รองผู้จัดการใหญ่ Head of Financial Markets Function และ Head of Private Banking Relationship Management ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ตลาดการเงินมีความท้าทายสูงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และสงครามการค้าที่กดดันภาคธุรกิจของไทย รวมถึงปัจจัยล่าสุด คือความไม่แน่นอนของมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้า (Tariffs) จากนโยบายของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ส่งผลให้บางช่วงเงินบาทเปลี่ยนแปลงถึง 30-40 สตางค์ในช่วงข้ามคืน 

 

ด้าน วชิรวัฒน์ บานชื่น นักกลยุทธ์ตลาดการเงินอาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า เงินบาทในปีนี้ยังคงผันผวนสูง ในปีนี้เงินบาทเคยอ่อนค่าไปแตะระดับสูงสุดที่ราว 35.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่จะกลับมาแข็งค่าแตะระดับต่ำสุดที่ราว 32.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเปลี่ยนแปลงถึง 7.4% ภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 เดือน 

 

โดยเงินบาทที่กลับมาแข็งค่า แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจไทยจะยังอ่อนแอและมีแนวโน้มโตชะลอลงในปีนี้ เป็นผลจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นหลัก ซึ่งมาตรการกีดกันทางการค้าเป็นปัจจัยที่เริ่มทำให้นักลงทุนสนใจต่อการลงทุนในสหรัฐฯ น้อยลง 

 

ล่าสุดพบว่าเริ่มมีเงินไหลออกจากสหรัฐฯ ไปสู่กลุ่มประเทศยุโรป รวมทำกลุ่มตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย (EM-Asia) มากขึ้น เงินดอลลาร์สหรัฐจึงอ่อนค่าลง ทำให้เงินภูมิภาครวมถึงเงินบาทแข็งค่าขึ้น 

 

โดยภาพรวมแล้วเงินบาทจะยังเผชิญแรงกดดันด้านแข็งค่าต่อเนื่องในปีนี้ เนื่องจาก 

 

  1. เทรนด์การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐน่าจะดำเนินไปต่อเนื่องอย่างน้อยในปีนี้ โดยนักลงทุนโลกยังต้องการลดความเสี่ยงจากการกระจุกตัวในสินทรัพย์สหรัฐฯ ผ่านการขายสินทรัพย์สหรัฐฯ ออกบางส่วน ทำให้เงินทุนอาจไหลออกจากสหรัฐฯ และดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าต่อ 

 

  1. ข้อตกลงการค้าของสหรัฐฯ อาจพ่วงเงื่อนไขทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงได้ โดยถึงแม้ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะปฏิเสธข่าว แต่มักพบว่าในเวลาที่มีข่าวการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศเอเชีย มักมีการพูดถึงการแทรกแซงค่าเงินร่วมด้วย ซึ่งมักเห็นเงินเอเชีย เช่น เงินไต้หวันดอลลาร์ เงินเกาหลีวอน แข็งค่าขึ้นในช่วงดังกล่าว ดังนั้น ประเด็นนี้อาจเป็นแรงกดดันเพิ่มเติมที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นในระยะกลางถึงยาวได้ 

 

  1. สงครามการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงน้อยลง และมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน ทำให้เงินหยวนมีแนวโน้มอ่อนค่าน้อยกว่าที่เคยประเมินไว้ จึงทำให้เงินบาทที่มีความสัมพันธ์กับเงินหยวนค่อนข้างสูงเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่าน้อยลงตามไปด้วย

 

  1. ราคาทองที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง จะเป็นแรงหนุนต่อการแข็งค่าของเงินบาทต่อไปได้

 

วชิรวัฒน์กล่าวต่อว่า การแข็งค่าของเงินบาทจะยังไม่มากนัก และอาจแข็งค่าน้อยกว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาคได้ เนื่องจากที่ผ่านมาสัดส่วนลงทุนต่างประเทศของไทยยังต่ำ ทำให้แนวโน้มการนำเงินกลับเข้าไทย (Repatriation Flows) อาจจะมีน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค เช่น สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ หรือมาเลเซีย 

 

นอกจากนี้ ความสนใจของนักลงทุนต่างชาติต่อสินทรัพย์ไทยก็ยังมีไม่มากนัก สะท้อนจากสัดส่วนการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทยของนักลงทุนต่างชาติ โดยพบว่ามีนักลงทุนต่างชาติถือครองเพียงราว 9.8% เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค อีกทั้ง สัดส่วนพันธบัตรรัฐบาลไทยในดัชนี JPMorgan Government Bond Index-Emerging Markets ยังถูกปรับลดลงมาอยู่ที่ 8.8% ทำให้แนวโน้มเงินทุนเคลื่อนย้ายที่จะไหลเข้ามาในภูมิภาคเอเชีย อาจไหลเข้าไทยไม่มากนัก ประเมินกรอบเงินบาทที่ราว 31.50-32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปีนี้

 

ภาพ: Boy_Anupong / Getty Images

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising