×

ฝรั่งเศส-เวียดนาม จากอดีตอาณานิคมสู่พันธมิตรที่มั่นคง

27.05.2025
  • LOADING...
ฝรั่งเศส เวียดนาม

การเดินทางเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง ระหว่างวันที่ 25-27 พฤษภาคม 2025 ไม่เพียงเป็นการกลับมาเยือนอีกครั้งของผู้นำฝรั่งเศสในรอบเกือบ 10 ปี แต่ยังสะท้อนถึงการเปลี่ยนผ่านของความสัมพันธ์เวียดนาม-ฝรั่งเศส จาก ‘อดีตอาณานิคม’ สู่ ‘หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์รอบด้าน’ ที่มั่นคงในยุคภูมิรัฐศาสตร์ผันผวน

 

สัญญาณจากการทูตระดับสูง: เมื่อการเยือนสะท้อน ‘ลำดับความสำคัญ’

 

รศ. ดร.ธนนันท์ บุ่นวรรณา อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิเคราะห์ว่า การเยือนครั้งนี้เกิดขึ้นตามคำเชิญของประธานาธิบดี เลืองเกื่อง (ประมุขแห่งรัฐอันดับที่ 2 ของลำดับอำนาจการเมืองเวียดนาม รองจากเลขาธิการพรรคฯ โตเลิม) ซึ่งสะท้อนชัดว่ารัฐบาลเวียดนามให้ความสำคัญอย่างสูงกับการต้อนรับมาครง

 

 

ในสื่อเวียดนามเองยังเน้นย้ำว่า “นี่เป็นครั้งแรกของมาครง” ที่มาเยือนในวาระการดำรงตำแหน่งสมัยที่สอง ซึ่งในภาษาทางการทูต หมายถึงระดับความสัมพันธ์ที่ยกระดับขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อทั้งสองประเทศเพิ่งประกาศยกระดับความสัมพันธ์สู่ ‘หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์รอบด้าน’ เมื่อเดือนตุลาคม 2024

 

พันธมิตรยุทธศาสตร์แบบ ‘ไม่มีเงื่อนไข’?

 

ในการแถลงข่าวร่วม มาครงกล่าวชัดว่าฝรั่งเศสต้องการเป็น ‘พันธมิตรแบบไม่มีเงื่อนไขแอบแฝง’ (No Strings Attached) ซึ่งหากเปรียบกับพันธมิตรขั้วมหาอำนาจอื่น ๆ อย่างจีนหรือสหรัฐฯ ที่มักมาพร้อมข้อผูกพันหรือแรงกดดันเชิงยุทธศาสตร์ การวางบทบาทของฝรั่งเศสในฐานะ ‘พันธมิตรที่เท่าเทียมและจริงใจ’ อาจเป็นทางเลือกที่เวียดนามเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อเสถียรภาพของตนในระยะยาว

 

รศ. ดร.ธนนันท์ ยังชวนมองในแง่ความหมายทางประวัติศาสตร์ โดยเปรียบกับการที่เวียดนามใต้ยอมจำนนแบบ ‘ไม่มีเงื่อนไข’ ต่อเวียดนามเหนือในปี 1975 ซึ่งต่างจากสถานการณ์ปัจจุบันที่เวียดนามกลับกลายเป็นผู้มีทางเลือกทางยุทธศาสตร์ที่หลากหลาย และสามารถดึงดูดขั้วอำนาจจากทั่วโลกให้เข้ามาเสริมบทบาทของตน

 

บริบทประวัติศาสตร์: จากอาณานิคมฝรั่งเศสสู่หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์

 

เวียดนามเคยอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสยาวนานถึง 70 ปี (1884-1954) ก่อนถอนตัวตามสนธิสัญญาเจนีวา ความสัมพันธ์ทางการทูตจึงเริ่มต้นอย่างเป็นทางการอีกครั้งในปี 1973 และได้รับการฟื้นฟู-ต่อยอดมาตลอดหลายทศวรรษ

 

ฝรั่งเศสสร้าง ‘คุณูปการ’ หลายด้านในเวียดนาม ทั้งในแง่วัฒนธรรม สถาปัตยกรรม ระบบการศึกษา และมรดกทางกายภาพ เช่น อาคารสไตล์โคโลเนียลที่ยังคงอยู่ในเมืองต่าง ๆ จนถึงปัจจุบัน นับเป็นความทรงจำที่ถูกแปรเปลี่ยนเป็นทุนทางอารยธรรม มากกว่าจะเป็นบาดแผลในอดีต

 

เหตุใดฝรั่งเศสจึงเลือกเวียดนาม?

 

ฝรั่งเศสกำหนดนโยบายอินโด-แปซิฟิกไว้ชัดเจน โดยการเยือนครั้งนี้ของมาครง ครอบคลุมสามประเทศหลัก ได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ แต่เวียดนามถูกเลือกให้เป็นจุดเริ่มต้น ด้วยเหตุผลหลายประการที่ รศ.ดร.ธนนันท์ วิเคราะห์ไว้ดังนี้

 

  1. เวียดนามมีเสถียรภาพทางการเมือง ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์เดียว การเจรจากับรัฐบาลที่มีเสถียรภาพจึงเป็นเดิมพันที่คุ้มค่าในโลกที่ผันผวน
  2. เลขาธิการพรรคฯ โตเลิม เดินทางเยือนฝรั่งเศสเมื่อปี 2024 และเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศ จึงมีการขับเคลื่อนนโยบายที่ต่อเนื่อง
  3. ชุมชนชาวเวียดนามในฝรั่งเศสกว่า 350,000 คน สะท้อนสายสัมพันธ์ระดับประชาชนที่ลึกซึ้ง
  4. ฝรั่งเศสเป็นคู่ค้าอันดับ 5 ของเวียดนามในยุโรป และแทบไม่มีความขัดแย้งสำคัญในปัจจุบัน

 

เวียดนาม: ‘ไผ่ลู่ลม’ ที่ดึงดูดทุกขั้วอำนาจ

 

บทบาทเวียดนามในเวทีโลกชัดเจนขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ด้วยยุทธศาสตร์การเป็น ‘รัฐกันชน’ ที่สามารถรักษาความสัมพันธ์กับมหาอำนาจทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นจีน รัสเซีย สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีเหนือ หรือแม้แต่ฝรั่งเศส

 

“ประเทศที่เคยมีประวัติศาสตร์ร่วมกับเวียดนาม ไม่ว่าจะเป็นการปกครอง หรือสงคราม กลับมาอีกครั้งในฐานะพันธมิตรยุทธศาสตร์” — เป็นบทสะท้อนถึงอิทธิพลของเวียดนามในระเบียบโลกใหม่

 

ความร่วมมือแห่งอนาคต: เทคโนโลยี นวัตกรรม และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

 

ก่อนการเยือนของมาครง นักข่าวเวียดนามได้สัมภาษณ์ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำเวียดนาม โอลิวิเย โบรเชต์ ซึ่งระบุว่า ฝรั่งเศสให้ความสำคัญกับการขยายความร่วมมือในภาคพลังงาน (โดยเฉพาะพลังงานนิวเคลียร์), ระบบขนส่ง, และเทคโนโลยีขั้นสูงอย่าง AI

 

ฝรั่งเศสยังเล็งเห็นบทบาทใน โครงการรถไฟความเร็วสูงของเวียดนาม ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลเวียดนามที่จะเป็นประเทศรายได้สูงภายในปี 2045 โดยฝรั่งเศสพร้อมสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และวิทยาศาสตร์นวัตกรรมในระยะยาว

 

อดีตไม่ใช่พันธนาการ หากใช้สร้างอนาคตร่วมกัน

 

ความสัมพันธ์เวียดนาม-ฝรั่งเศสในวันนี้ไม่เพียงเป็นบทพิสูจน์ของการเปลี่ยนแปลงจาก ‘ผู้ปกครอง’ สู่ ‘พันธมิตร’ หากแต่ยังสะท้อนถึงยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศในโลกที่ไม่แน่นอน

 

ในสมการที่แต่ละประเทศต้องเลือกข้าง เวียดนามกลับเลือก ‘ทุกข้าง’ โดยรักษาสมดุลอย่างชาญฉลาด และฝรั่งเศสก็เลือกจะไม่ใช้ประวัติศาสตร์เป็นพันธนาการ แต่ใช้เป็นสะพานสู่ความร่วมมือในอนาคต

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising