วิกฤตบัตรทอง อีก 3 ปี ระบบสาธารณสุขจะพัง โรงพยาบาลรัฐกว่า 200 แห่งติดลบ รักษาฟรีอาจไม่มีแล้ว เกิดอะไรขึ้นกับระบบสาธารณสุขไทย แล้วทางออกของเรื่องนี้จะต้องทำอย่างไร
ทุกวันนี้หลายคนอาจยังรู้สึกอุ่นใจอยู่บ้างเวลาไปโรงพยาบาลแล้วรักษาฟรีด้วย บัตรทองทำให้เรารักษาได้โดยไม่ต้องควักเงินจ่ายตอนป่วย แต่ตอนนี้บุคลากรในระบบสาธารณสุข เริ่มส่งสัญญาณตอนนี้ข้างในระบบมันกำลังพังลงอย่างช้าๆ และถ้าไม่รีบแก้อีกไม่เกิน 3 ปีข้างหน้า เราอาจไม่มีระบบนี้ให้ใช้กันอีกเลย
นพ.วีระพันธ์ สุวรรณนามัย สมาชิกวุฒิสภา เปิดเผยว่า สถานการณ์ระบบสาธารณสุขในโรงพยาบาลรัฐของไทยกำลังเผชิญกับปัญหารุมเร้าทั้งบุคลากรไม่เพียงพอไปจนถึงปัญหาทางการเงิน จนตอนนี้เรียกได้ว่าถึง ‘จุดฝีแตก’
โรงพยาบาลรัฐ 218 แห่งเงินติดลบ
ซึ่งในงานเสวนา ‘ทิศทางการดำเนินงานระบบบัตรทองในปัจจุบันและอนาคต’ ได้เปิดเผยตัวเลขข้อมูลล่าสุดจากเดือนเมษายน พ.ศ. 2568 ระบุว่า โรงพยาบาลรัฐ 218 แห่ง จากทั้งหมดประมาณ 900 แห่ง ที่มีเงินบำรุงติดลบอย่างสิ้นเชิง หรือก็หมายความว่า ถ้าหากชำระหนี้ทั้งหมด ก็จะไม่เหลือเงินสดไว้ในระบบเลย
ยิ่งไปกว่านั้นยังมีโรงพยาบาล 91 แห่งที่แม้ยังมีเงินบำรุงหลงเหลืออยู่ แต่มีไม่ถึง 5 ล้านบาท ทำให้ไม่สามารถรับมือกับวิกฤตใดๆ ได้
ทั้งนี้ นพ.วีระพันธ์ ยังชี้ด้วยว่า หลังวิกฤตโควิดมีเงินจัดสรรในกองทุนประมาณ 80,000 ล้านบาท แต่ผ่านมา 2 ปี เงินหายไปปีละ 20,000 ล้านบาท จนปัจจุบันนี้เหลืออยู่ 40,000 ล้านบาท และถ้ายังไม่ทำอะไรอีก 3 ปี ระบบสาธารณสุขไทยแย่แน่
งบไม่ประมาณไม่สอดคล้องกับต้นทุนการรักษาที่แท้จริง
‘สิทธิประโยชน์บัตรทอง’ ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ตอนนี้โรงพยาบาลรัฐจำนวนมากต้องแบกรับภาระต้นทุนที่ไม่เคยได้รับการชดเชยอย่างเป็นธรรม
โดยผลการศึกษาต้นทุนของผู้ป่วยในโดยทีมวิจัยที่เก็บข้อมูลจากโรงพยาบาลทั่วประเทศนานถึง 5 ปี พบว่า ต้นทุนเฉลี่ยต่อผู้ป่วยในหนึ่งรายอยู่ที่ 13,000 บาท
ในขณะที่โรงพยาบาลรัฐได้รับเงินจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. เพียงแค่ 8,350 บาท และในปีงบประมาณ 2568 มีข้อเสนอให้ลดเหลือเพียง 7,100 บาท
ถ้าระบบสาธารณสุขพังจะเกิดอะไรขึ้น?
นพ.วีระพันธ์ ฉายภาพว่า ‘คำว่าพัง’ ในที่นี้คือ ต่อไปการให้บริการของบุคลากรทางการแพทย์จะยากลำบากมากยิ่งขึ้น อย่างเช่น คนไข้ควรจะได้รับการเอ็กซเรย์ 2 ครั้ง ก็อาจจะเหลือเพียง 1 ครั้ง เท่ากับท้ายที่สุดแล้วคนที่รับผลกระทบเต็มๆ ก็คือประชาชน
แนวทางออก
ระยะสั้น
- ให้นำเงินไปสมทบโรงพยาบาลที่ขาดทุนก่อน
- หยุดเพิ่มสิทธิประโยชน์แบบไม่ดูงบประมาณ อย่างเช่น การออกโครงการทางการแพทย์ใหม่ๆ
ระยะกลาง
- ปรับเงินให้เหมาะสมด้วยการคำนวณตามความจริง
- ใช้บุคลากรอย่างเหมาะสม
ระยะยาว
- จะต้องมีการแก้ไขและทบทวนกฎหมาย
และสุดท้ายคือการเพิ่มโมเดลการรักษาแบบ Co-pay เพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงพยาบาลรัฐและเอกชน