เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส พร้อมด้วย บริจิตต์ มาครง สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง เดินทางถึงกรุงฮานอยเมื่อค่ำวันอาทิตย์ (25 พฤษภาคม) เริ่มต้นการเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการครั้งแรก ซึ่งเป็นการเยือนของผู้นำฝรั่งเศสครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปี นับเป็นหมุดหมายสำคัญในการกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีที่เพิ่งยกระดับสู่ความเป็น ‘หุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน’ เมื่อเดือนตุลาคม 2024 ระหว่างการเยือนฝรั่งเศสของเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์โต เลิม
เป้าหมายหลักของการเยือนครั้งนี้ ได้แก่ การขับเคลื่อนหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้านสู่รูปธรรม: ความสัมพันธ์เวียดนาม–ฝรั่งเศสได้ยกระดับขึ้นในหลากหลายมิติ มาครงต้องการสานต่อด้วยข้อตกลงที่เป็นรูปธรรมในภาคส่วนสำคัญ ทั้งเศรษฐกิจ พลังงาน ความมั่นคง และเทคโนโลยี
ลงนามข้อตกลงหลายด้านครอบคลุมทุกมิติ
- ขยายมูลค่าการค้าและการลงทุน: ฝรั่งเศสถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 5 ของเวียดนามในกลุ่มประเทศยุโรป โดยมาครงนำคณะนักธุรกิจร่วมเดินทางมาเจรจาและลงนามข้อตกลงจำนวนมากในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ เช่น
-
- การบิน: สายการบิน VietJet เซ็นสัญญาจัดซื้อเครื่องบิน Airbus A330neo เพิ่มอีก 20 ลำ เป็นการขยายดีลเดิมเท่าตัว ขณะเดียวกันยังอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อนำดาวเทียมสำรวจโลกจาก Airbus มาทดแทนของเก่าของเวียดนาม
- ความมั่นคงและการป้องกันประเทศ: ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องในความร่วมมือด้านข้อมูลข่าวกรอง ความมั่นคงทางไซเบอร์ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และการต่อต้านการก่อการร้าย พร้อมย้ำเจตนารมณ์ร่วมในการคงเสรีภาพในการเดินเรือในทะเลจีนใต้
- พลังงาน: สนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พลังงานหมุนเวียน และพลังงานสะอาด โดยมีข้อตกลงการพัฒนาโครงข่ายส่งไฟฟ้าระหว่างองค์การเพื่อการพัฒนาฝรั่งเศส (AFD) และบริษัทไฟฟ้าแห่งชาติเวียดนาม
- ภาคส่วนอื่นๆ: คาดว่าจะมีข้อตกลงเพิ่มเติมในด้านการวิจัย ระบบราง การขนส่ง การถ่ายทอดเทคโนโลยี (เช่น Sanofi ส่งต่อเทคโนโลยีผลิตวัคซีน), นวัตกรรม อวกาศ และการพัฒนาบุคลากรระดับสูง
- ‘ทางเลือกที่สาม’ ของฝรั่งเศสในภูมิภาคอินโด–แปซิฟิก: การเยือนเวียดนามเป็นส่วนหนึ่งของทัวร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของมาครง ซึ่งจะเดินทางต่อไปยังอินโดนีเซียและสิงคโปร์ โดยฝรั่งเศสต้องการวางบทบาทตนเองและสหภาพยุโรปเป็นพันธมิตรที่ ‘ไม่มีเงื่อนไขแอบแฝง’ และยึดถือกฎกติกาสากล ท่ามกลางการแข่งขันของสหรัฐฯ กับจีน
- ท่าทีต่อประเด็นภาษีการค้าและแรงกดดันจากสหรัฐฯ: ท่ามกลางการขู่ขึ้นภาษีสินค้าจากยุโรป 50% ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และแรงกดดันให้เวียดนามนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ มากขึ้น ฝ่ายยุโรปได้เตือนให้เวียดนามพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้กระทบความสัมพันธ์กับ EU
- ประเด็นสิทธิมนุษยชน: แม้โดยทั่วไปมาครงมักหยิบยกประเด็นละเอียดอ่อนหลังฉาก แต่ Human Rights Watch ได้เรียกร้องให้เขาหยิบยกประเด็นการจำคุกนักเคลื่อนไหวและนักโทษการเมืองในเวียดนาม ซึ่งเป็นข้อกังวลที่ทวีความรุนแรงขึ้น
ขณะที่ในวันนี้ (26 พฤษภาคม) มีพิธีต้อนรับประธานาธิบดีฝรั่งเศส โดยประธานาธิบดี เลือง เกื่อง และภริยา ณ ทำเนียบประธานาธิบดี พร้อมการหารือระดับสูง และได้เข้าพบโต เลิม เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์
ส่วนวันพรุ่งนี้ (27 พฤษภาคม) มีกำหนดเข้าเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยในฮานอย ก่อนที่ประธานาธิบดีมาครงจะเดินทางต่อไปยังกรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย และปิดท้ายที่สิงคโปร์ เพื่อกล่าวปาฐกถาเปิดการประชุม Shangri-La Dialogue 2025
ทั้งนี้ ในบริบทประวัติศาสตร์ ฝรั่งเศสเคยปกครองเวียดนามในฐานะอาณานิคมเกือบ 70 ปี ก่อนสิ้นสุดในปี 1954 ความสัมพันธ์ทวิภาคีกลับมาอีกครั้งในปี 1973 และได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจาก ‘หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์’ ในปี 2013 สู่ระดับ ‘หุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน’ ในปี 2024 ฝรั่งเศสยังคงเป็นประเทศในยุโรปที่ให้ความช่วยเหลือแบบทวิภาคีแก่เวียดนามในระดับสูงสุดอีกด้วย
ภาพ: Chalinee Thirasupa / Pool / Reuters
อ้างอิง: