วันนี้ (23 พฤษภาคม) ศิริกัญญา ตันสกุล สส. แบบบัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวถึงกรณีศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ชดใช้ค่าเสียหายคดีจำนำข้าวจำนวน 10,028 ล้านบาท โดยระบุว่า คำวินิจฉัยนี้จะสร้างมาตรฐานใหม่ให้การบริหารราชการแผ่นดินไทยเหมือนกัน ความผิดที่ศาลใช้คำว่าประมาทเลินเล่อโดยร้ายแรง ตกลงแล้วเราต้องทำแค่ไหนจึงถือว่าไม่ประมาทเลินเล่อ
นอกจากนี้ ศาลตัดสินให้ว่ามีความผิด โดยที่ระบุว่ามีการตักเตือนหลายรอบแล้ว แต่ในขณะเดียวกัน ฝั่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น คือยิ่งลักษณ์ ก็ไม่ได้อยู่เฉย มีการตั้งกรรมการหรืออนุกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้นมา แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ต้องไปติดตามอีก แล้วจะไปติดตามอะไร อย่างไร จึงเกิดข้อสงสัยว่าเส้นแบ่งอยู่ตรงไหน
“ถ้าคุณยิ่งลักษณ์มีเจตนาจริงๆ ที่จะปล่อยปละละเลย ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ก็ค่อนข้างชัดเจน แต่พอบอกว่าประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง สำหรับคนที่ต้องดำเนินนโยบายต่อไปในอนาคต มันก็เริ่มทำให้น่าจะเกิดความกังวลใจ และอาจจะทำให้ไม่กล้าทำโครงการอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาในอนาคตก็ได้ เพราะมีบรรทัดฐานแบบนี้เกิดขึ้น” ศิริกัญญากล่าว
ศิริกัญญากล่าวต่อไปว่า ถึงแม้จะประมาทเลินเล่อร้ายแรงจริง แต่รูปแบบของการดำเนินนโยบาย จะเป็นในรูปแบบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ดี หรือคณะกรรมการข้าวแห่งชาติ (กขช.) ก็ดี ยิ่งลักษณ์ก็เป็นแค่ประธาน ทำไมประธานถึงได้มีความผิดแค่คนเดียว แต่องค์ประกอบของคณะกรรมการนั้นถึงไม่ได้มีความผิดด้วย และถึงแม้เอาความผิดมารวมกัน แล้วหารด้วยคณะกรรมการนี้ก็จริง แต่โทษที่จะต้องชดเชยเป็นหมื่นล้าน ได้สัดส่วนแล้วหรือยัง จึงเป็นคำถามอยู่ว่าเฉพาะส่วนที่ประมาทเลินเล่อร้ายแรงนั้นถึงขั้นเลวร้ายหรือไม่ และต้องได้รับผิดกันกี่คนแน่
สำหรับผู้คิดนโยบายพรรคการเมือง เมื่อเจอบรรทัดฐานนี้ ศิริกัญญากล่าวว่า การดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลต้องมีฝั่งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว การตักเตือนหรือส่งคำเตือนต่างๆ ก็มีทั้งฝ่ายค้านและข้าราชการประจำอยู่แล้ว ถ้ารัฐบาลมีเหตุผลมากเพียงพอที่จะเดินหน้า ก็เดินหน้าต่อ แต่เมื่อถึงกรณีที่คอร์รัปชันเกิดขึ้น แล้วต้องทำแค่ไหนถึงจะเพียงพอ
เมื่อถามว่าในฐานะคนคิดนโยบายพรรคการเมือง พอเจอบรรทัดฐานแบบนี้ กลัวมากขึ้นหรือไม่ หรือต้องชั่งน้ำหนักตอนพูดหาเสียงหรือไม่ ศิริกัญญากล่าวว่า อาจจะไม่ใช่เรื่องตอนหาเสียง แต่เป็นเรื่องของตอนที่มีการดำเนินนโยบายหลัก ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรจริงๆ
“ตั้งคณะกรรมการ ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงเฉยๆ ในอำนาจหน้าที่แล้ว ก็ยังไม่เพียงพอด้วยหรือไม่ ต้องมาแชร์ความผิดนี้ด้วย ทำให้ทั้ง ครม. ที่จะต้องเป็นคนคอยดึงขากางเกงกันเองให้ สุดท้ายแล้วไม่สามารถทำนโยบายอะไรได้เลยในอนาคต” ศิริกัญญากล่าว
ศิริกัญญาทิ้งท้ายว่า ในฐานะพรรคประชาชนก็ไม่อยากให้บรรทัดฐานใหม่เป็นแบบนี้ เพราะรู้สึกว่าอาจทำให้เป็นการขัดขวางกระบวนการทำงานของการบริหารราชการแผ่นดินจริงๆ เราก็ต้องมีแนวปฏิบัติ มีแนวทางอะไรที่รอบคอบยิ่งขึ้นในอนาคตเมื่อต้องเป็นผู้บริหาร ในเมื่อศาลสร้างบรรทัดฐานใหม่เช่นนี้