ท่ามกลางการเติบโตอย่างต่อเนื่องของกลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูง (High Net Worth: HNW) ในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 24% ในอีก 5 ปีข้างหน้า แตะระดับ 124,000 คน และมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารในธุรกิจ Wealth Management ที่คาดว่าจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 6% และมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารอาจทะลุ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2571
อย่างไรก็ตาม การวางแผนส่งต่อความมั่งคั่ง (Legacy Planning) ยังคงเป็นประเด็นที่ถูกมองข้ามโดยคนไทยจำนวนมาก สร้างความท้าทายและโอกาสใหม่ให้กับอุตสาหกรรมการเงินและประกันชีวิต
บัณฑิต เจียมอนุกูลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แม้ภาพรวมทักษะทางการเงินของคนไทยจะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ข้อมูลสำรวจยังชี้ให้เห็นความเปราะบาง โดยเฉพาะการขาดการวางแผนการเงินระยะยาว
“หลายครั้งที่ผู้คนอาจประเมินความสำคัญของการจัดการทรัพย์สินมรดกต่ำเกินไป อย่างน้อยที่สุดคือไม่ควรปล่อยให้ทรัพย์สินกลายเป็นปัญหาในภายหลังสำหรับคนข้างหลัง”
ช่องว่างการวางแผนมรดกในกลุ่ม HNW ไทย
ข้อมูลชี้ว่า ปัจจุบันคนไทยทำพินัยกรรมเพียง 13% เทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 30-40% การขาดพินัยกรรมมักนำไปสู่ปัญหาการแบ่งมรดกที่ซับซ้อนและใช้เวลานานในกระบวนการทางศาล นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องภาษีมรดกที่ผู้รับมรดกต้องพิจารณา
ปัจจัยหนุนการเติบโตของ HNW ในไทยส่วนหนึ่งมาจาก ช่องว่างรายได้ (Income Gap) ที่ค่อนข้างสูง และ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครอบครัว ที่ขนาดเล็กลง มีบุตรน้อยลง (1-2 คน) ทำให้ทรัพย์สินที่คนรุ่นพ่อแม่หามาได้ถูกส่งต่อและกระจุกตัวมากขึ้นในคนรุ่นต่อไป (Next Gen) ซึ่งปัจจุบันคือกลุ่มคนอายุ 50 ปีขึ้นไป ส่งผลให้ความมั่งคั่งต่อครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น
‘ประกันชีวิต’ เครื่องมือบริหารมรดกยุคใหม่
ในอดีต HNW ไทยจำนวนไม่น้อยเลือกใช้บริการวางแผนมรดกผ่านผลิตภัณฑ์ประกันในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ หรือฮ่องกง เนื่องจากข้อเสนอและราคาที่น่าสนใจกว่า อย่างไรก็ตาม บัณฑิตชี้ว่าอุตสาหกรรมประกันชีวิตกำลังปรับตัวเพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่ซับซ้อนของกลุ่ม HNW มากขึ้น โดยนำเสนอ “บริการ” ที่เป็นมากกว่าแค่ “กรมธรรม์” ประกันชีวิตถูกมองเป็นเครื่องมือเชิงกลยุทธ์ที่ช่วยให้การส่งต่อความมั่งคั่งมีความราบรื่นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
จุดเด่นสำคัญคือความสามารถในการระบุผู้รับผลประโยชน์ได้โดยตรง ทำให้เมื่อถึงเวลา ทรัพย์สินที่เป็นทุนประกันสามารถส่งต่อไปยังทายาทได้ทันที โดยข้ามขั้นตอนการจัดการมรดกที่อาจยุ่งยากและใช้เวลานานของศาล นอกจากนี้ โครงสร้างของผลิตภัณฑ์ประกันบางประเภทยังเอื้อต่อการบริหารจัดการภาระภาษีมรดก เมื่อเทียบเบี้ยประกันที่ชำระกับทุนประกันที่จะได้รับ
เพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่ซับซ้อนของกลุ่ม HNW พรูเด็นเชียลได้นำเสนอ PRULegacy ซึ่งบัณฑิตเน้นย้ำว่า “เป็นบริการ ไม่ใช่แค่สินค้า” ที่ใช้ประกันชีวิตเป็นแกนหลักในการวางแผนส่งต่อมรดก
“เราต้องการเข้ามาตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มนี้ในการส่งต่อ Legacy อย่างราบรื่น” บัณฑิตกล่าว “ที่ผ่านมา HNW ไทยจำนวนไม่น้อยเลือกไปซื้อผลิตภัณฑ์ประกันเพื่อวางแผนมรดกในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง เพราะมีราคาที่ถูกกว่า แต่ปัจจุบัน คปภ. ได้อนุญาตให้บริษัทประกันในไทยสามารถเสนอผลิตภัณฑ์ในราคาที่แข่งขันได้มากขึ้น ซึ่งช่วยลดการไหลออกของเงินทุน”
ธุรกิจประกันลุ้นผ่านกฎหมายจ่ายผลประโยชน์เป็นสกุลเงินต่างประเทศ
เพื่อขยายการเข้าถึงบริการวางแผนมรดกสำหรับกลุ่ม HNW อุตสาหกรรมประกันมีแนวโน้มที่จะขยายช่องทางจัดจำหน่าย โดยเฉพาะช่องทางตัวแทน ซึ่งพรูเด็นเชียลเองก็ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนตัวแทนขึ้น 10 เท่า ภายใน 5 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 1,200 คน
ประเด็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่งสำหรับอนาคตของบริการนี้ คือความเป็นไปได้ที่กฎหมายในไทยจะอนุญาตให้บริษัทประกันสามารถเสนอขายกรมธรรม์และจ่ายผลประโยชน์เป็นสกุลเงินต่างประเทศ (Foreign Currency Policies) ได้
“เราคาดว่ามีกลุ่ม HNW ประมาณ 30% ที่มีความต้องการรับผลประโยชน์กรมธรรม์เป็นสกุลเงินดอลลาร์” บัณฑิตกล่าว
การเปลี่ยนแปลงนี้จะตอบโจทย์ความต้องการกระจายความเสี่ยงด้านสกุลเงินของลูกค้า และสอดรับกับแนวโน้มที่ HNW ไทยมีการลงทุนและใช้ชีวิตในต่างประเทศมากขึ้น รวมถึงอาจดึงดูดลูกค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะสนับสนุนนโยบาย Financial Hub ของประเทศ
การออกกรมธรรม์ในสกุลเงินต่างประเทศยังมีข้อดีคือ ลูกค้าอาจมีโอกาสจ่ายเบี้ยประกันที่ถูกลงได้ หากบริษัทประกันสามารถนำเบี้ยที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์ไปลงทุนต่อในสินทรัพย์ที่เป็นดอลลาร์ และจ่ายผลประโยชน์เป็นดอลลาร์โดยตรง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และเพิ่มโอกาสในการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นให้กับลูกค้า อย่างการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตรในไทย