ประเทศไทยกำลังเผชิญมรสุมเศรษฐกิจหลายด้านทั้งจากปัจจัยในประเทศและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวช่วงปลายเดือนมีนาคม หรือแรงกระเพื่อมจากมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ซึ่งประกาศขึ้นภาษีสินค้าจากหลายประเทศ โดยไทยได้รับผลกระทบด้วยอัตราภาษีสูงถึง 36% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยโลกที่ 17% และกลุ่มประเทศอาเซียนที่ 33% แม้ว่าทางสหรัฐฯ จะประกาศเลื่อนการขึ้นภาษีออกไปอีก 90 วัน แต่การคงอัตราภาษีนำเข้าขั้นต่ำที่ 10% จากทุกประเทศ ได้สะท้อนความไม่แน่นอนจากสงครามการค้าที่ยังอยู่ในระดับสูง ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถืออย่าง Moody’s ยังปรับลด Outlook ของไทยจาก Stable เป็น Negative แม้ว่าจะยังคงอันดับความน่าเชื่อถือไว้ที่ระดับ Baa1 ก็ตาม
ทั้งนี้ สาเหตุหลักของการปรับลดมุมมองครั้งนี้ มาจากความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ เนื่องจากการส่งออกไปยังสหรัฐฯ มีสัดส่วนค่อนข้างมากต่อ GDP ของไทย ซึ่งกลายเป็นปัจจัยกดดันเพิ่มเติมต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังอยู่ในภาวะเปราะบาง นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัจจัยที่สะท้อนความเปราะบาง คือสถานะทางการคลังของไทยที่มีแนวโน้มอ่อนแอลง สะท้อนจากอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ช่วงหลังการแพร่ระบาดของโควิด
สถานการณ์ข้างต้นสะท้อนความเสี่ยงด้านต่ำของการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างชัดเจน หลายสำนักวิจัยจึงได้ปรับลดประมาณการ GDP ไทยลงมาอยู่ในช่วง 1-2% เช่นเดียวกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World Bank) ที่คาดการณ์ GDP ไทยไว้ที่ 1.8% และ 1.6% ตามลำดับ ภาครัฐเองก็ปรับลดประมาณการ เช่น กระทรวงการคลังปรับลดการเติบโตทางเศรษฐกิจจาก 3% เหลือ 2.1% และธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินใหม่ที่ 1.3%-2.0%
ในภาวะที่ ‘พายุกำลังเข้า’ การจัดพอร์ตลงทุนโดยเน้นความมั่นคงจึงมีความสำคัญมากขึ้น ตราสารหนี้ไทยจึงเป็นหนึ่งในทางเลือกที่น่าสนใจท่ามกลางความไม่แน่นอน ด้วยคุณสมบัติที่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างสม่ำเสมอและมีความเสี่ยงต่ำกว่าสินทรัพย์เสี่ยงประเภทอื่น โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดทุนยังคงผันผวน หนึ่งในปัจจัยสนับสนุนสำคัญคือ แนวโน้มนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายจากธนาคารกลางทั่วโลก รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 3 ครั้ง นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 ถึงเมษายน 2568 จาก 2.50% เหลือ 1.75% โดยตลาดยังคาดว่าอาจมีการลดลงเพิ่มเติม ซึ่งเมื่ออัตราดอกเบี้ยลดลง ราคาตราสารหนี้จะปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ลงทุนมีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากส่วนต่างราคา (Capital Gain) เพิ่มเติม
อีกปัจจัยบวกที่เสริมตลาดตราสารหนี้คือ ภาวะเงินเฟ้อในประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ และมีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบล่างเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 1% สาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับลดลง
รวมถึงมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพจากภาครัฐ ซึ่งช่วยลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และลดโอกาสที่ธนาคารกลางจะต้องกลับมาใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวในระยะใกล้
นอกจากนี้ ตลาดตราสารหนี้ไทยยังได้รับแรงสนับสนุนจากสภาพคล่องในประเทศที่อยู่ในระดับสูงสะท้อนผ่านปริมาณการซื้อตราสารหนี้ต่อเนื่องจากนักลงทุนในประเทศ ขณะเดียวกัน เงินทุนจากต่างชาติก็เริ่มไหลเข้าสู่ตลาดอย่างชัดเจน โดยเฉพาะช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา ซึ่งเป็นช่วงที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยยอดซื้อสุทธิสะสมตั้งแต่ต้นปี (YTD) จากนักลงทุนต่างชาติสูงถึงกว่า 60,000 ล้านบาท ถือเป็นสัญญาณบวกที่ช่วยประคับประคองตลาดตราสารหนี้
ในปัจจุบันที่ตลาดยังคงผันผวนจากความไม่แน่นอนและมรสุมต่างๆ ที่กล่าวในข้างต้น แม้ว่ามรสุมนี้จะไม่ใช่ครั้งแรกและคงไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่ซัดเข้าประเทศไทย ประกอบกับ อัตราดอกเบี้ยกำลังเข้าสู่วัฏจักรขาลง กลยุทธ์สำคัญคือ การจัดพอร์ตการลงทุนอย่างสมดุลและมีการบริหารความเสี่ยงที่ดีจะช่วยให้นักลงทุนสามารถรับมือกับความท้าทายต่างๆ และสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนในระยะยาวได้ โดยการลงทุนในตราสารหนี้ไทยเปรียบเสมือน ‘เสื้อชูชีพในพายุ’ ซึ่งไม่เพียงแค่ช่วยให้พอร์ตการลงทุนไม่จม แต่ยังเป็นทางเลือกที่ช่วยสร้างรายได้สม่ำเสมอและลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนในช่วงที่มรสุมเศรษฐกิจยังไม่คลี่คลาย ขณะเดียวกัน ยังโอกาสรับกำไรจากส่วนต่างราคา (Capital Gain) ได้ในภาวะดอกเบี้ยขาลง และอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ คือ การเลือกกองทุนตราสารหนี้ที่เหมาะกับความเสี่ยงและระยะเวลาการลงทุนของผู้ลงทุนเองได้อีกด้วย
ภาพ: RomoloTavani / Getty Images