×

‘ทำฟรังนี้ให้ดีที่สุด’ ตำราธุรกิจและชีวิตแบบ ฟรัง นรีกุล คุณหมอครีเอเตอร์ที่พอขายของได้นิดหน่อย

20.05.2025
  • LOADING...
ฟรัง นรีกุล

HIGHLIGHTS

  • ความฝันแรกที่เป็นแสงนำทางตลอดชีวิตของนรีกุลคือการเป็น ‘คุณหมอ’ เพื่อช่วยเหลือผู้คน แต่ในระหว่างทางอีกสิ่งที่นรีกุลได้ค้นพบคือความสามารถในการเป็นนักสร้างสรรค์คอนเทนต์ในแบบที่เรียกกันตามยุคสมัยว่า ‘คอนเทนต์ครีเอเตอร์’
  • จาก Pain Point ของคุณหมอสาวที่อยากใส่ชุดสูทสีสวยๆ เนื้อผ้าดีๆ ไปงานจึงนำไปสู่การเปิดร้านเสื้อสูท Ellis ซึ่งไม่ได้เป็นแค่ Custom-Made แต่เป็นงาน Tailor-Made ใส่ใจในรายละเอียดทุกอย่างเสมือนตัดสูทใส่เอง
  • ร้านเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ‘Mooood’ เกิดขึ้นจากความชื่นชอบส่วนตัวในการดื่มสมูทตี้ จึงคิดอยากทำร้านสมูทตี้ – ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมสูงในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาในประเทศไทย – ในแบบของเธอเอง
  • Goal ส่วนตัวคือการที่อยากเห็นทุกธุรกิจของเธอดำเนินต่อไปได้ด้วยตัวเอง ให้คนจดจำ Ellis, Mooood รวมถึง ONE Surgery ด้วยแบรนด์เองโดยไม่จำเป็นต้องเอาตัวเองไปผูกกับแบรนด์ ซึ่งทุกวันนี้ยังต้องทำหน้าที่พรีเซนต์ ทำคอนเทนต์โปรโมตเองบ้าง

สำหรับบางคนอาจเกิดมาเพื่อทำอะไรสักอย่างก็เพียงพอแล้ว แต่สำหรับบางคนเกิดมาเพื่อทำอะไรได้หลายๆ อย่าง และบางครั้งชีวิตมันอาจจะอลวนถึงขั้นทำอะไรหลายอย่างไปพร้อมๆ กันด้วย

 

ฟรัง-นรีกุล เกตุประภากร เป็นหนึ่งในคนประเภทหลัง ที่แม้จะได้เห็นและผ่านตากับหลายสิ่งหลายอย่างที่เธอทำมาไม่ว่าจะเป็นบทบาทแรกที่ทำให้ทุกคนรู้จักอย่างการเป็นดารานักแสดง บทบาทสำคัญที่ใช้ทั้งชีวิตเพื่อแลกมันมาอย่างการเป็นแพทย์หญิง  และบทบาทสนุกๆ อย่างการเป็นครีเอเตอร์

 

แต่อีกบทบาทที่เธอกำลังจริงจังกับมันมากขึ้นเรื่อยๆ คือสิ่งที่เป็นความลุ่มหลงที่ซ่อนตัวลึกอยู่ภายในใจมาโดยตลอดแต่ถูกเก็บไว้ไม่ได้บอกให้ใครรู้ก่อนนี้ ก่อนจะระเบิดออกมากลายเป็น 3 ธุรกิจในช่วงระยะเวลาเพียงแค่ปีเศษ

 

“ถ้าถาม ตอนนี้ต้องบอกว่าชอบการทำธุรกิจมากที่สุด” เธอตอบอย่างมั่นใจ

 

แล้วการทำธุรกิจไปจนถึงการใช้ชีวิตในแบบของสุภาพสตรีวัย 27 ปีคนนี้เป็นแบบไหน?

 

ครีเอเตอร์คุณหมอนักธุรกิจหันมาบอกว่า “เดี๋ยวเล่าให้ฟรัง!”

 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

ฟรังที่ไม่คาดฝัน

 

หมวกใบแรกของนรีกุลที่ทำให้ทุกคนรู้จักเธอคือบทบาทนักแสดง ‘ออย’ ตัวละครในซีรีส์ฮอร์โมน ซีซัน 3 ซึ่งเป็นเหมือนนามบัตรแนะนำตัวที่ดีต่อโลกใบนี้

 

“สวัสดี ฉันชื่อ ฟรัง นรีกุล” 

 

แต่ในเบื้องหลังแล้วเธอไม่ได้มีความคิดที่อยากจะเป็นนักแสดงเต็มตัวไปตลอดชีวิตแต่อย่างใด เพียงแต่การมองเห็นโอกาสในการได้คัดเลือกเข้าร่วมเป็นนักแสดงในซีรีส์ และความที่เป็นแฟนของซีรีส์เรื่องนี้อยู่แล้วตั้งแต่ซีซันแรก ทำให้มองว่าเรื่องนี้เป็นโอกาสที่ไม่ใช่จะหาได้ทั่วไป

 

“เราอยากรู้ว่าการทำงานเบื้องหลังในซีรีส์มันเป็นอย่างไร” 

 

จากความสงสัยในแบบของเด็กเนิร์ดคนหนึ่งของเธอ ซึ่งก็มีส่วนคล้ายกับตัวละครในเรื่องอย่างออย เด็กเนิร์ดที่มีปมบางอย่างอยู่ในตัว มันได้เปิดประตูสู่โลกใบใหม่ที่ใหญ่กว่า ถึงแม้มันจะมีสิ่งที่ต้องแลกไม่น้อยก็ตามของความเป็นคนมีชื่อเสียง

 

แต่สิ่งที่ฟรังแตกต่างจากออยคือ ปมในใจของเธอคือการไม่อยากเป็นนักแสดงไปตลอดชีวิต

 

เธอมีความฝันที่มากกว่านั้น

 

คำว่าฟรังแปลว่าอิสระ

 

ความฝันแรกที่เป็นแสงนำทางตลอดชีวิตของนรีกุลคือการเป็น ‘คุณหมอ’ เพื่อช่วยเหลือผู้คน ซึ่งเป็นความฝันตั้งแต่เด็กๆ แล้วที่ไม่ว่าจะต้องพบเจอกับความยากลำบากขนาดไหนเธอก็ไม่ยอมแพ้ จนสุดท้ายก็ได้กลายเป็น ‘หมอฟรัง’ สำเร็จ

 

โดยที่ทุกวันนี้ก็ยังคงปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลผู้คนตามความตั้งใจอยู่

 

แต่ในระหว่างทาง อีกสิ่งที่นรีกุลได้ค้นพบคือความสามารถในการเป็นนักสร้างสรรค์คอนเทนต์ในแบบที่เรียกกันตามยุคสมัยว่า ‘คอนเทนต์ครีเอเตอร์’ ซึ่งเริ่มต้นจากการทำคอนเทนต์บนช่องของเธอเองที่ตั้งชื่อได้น่ารักและติดหูว่า ‘เล่าให้ฟรัง’ เสมือนว่าฟรังมาเล่าให้ฟังอีกทีบน YouTube และ Facebook Page

 

คอนเทนต์ตอนแรกของเล่าให้ฟรังเมื่อ 6 ปีที่แล้วเป็นคอนเทนต์ง่ายๆ ‘One Day With Frung’ ที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตในรอบ 24 ชั่วโมงของเธอ และต่อด้วยคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมมากอย่าง ‘เทคนิคการอ่านหนังสือและการจำแบบฟรังๆ’ 

 

จากจุดเริ่มต้นที่ดูเหมือนง่ายๆ ตรงนี้ทำให้เธอค้นพบว่าการทำคอนเทนต์นี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่การแบ่งปันเรื่องราวชีวิตตัวเองสนุกๆ เท่านั้น แต่มันเป็นไปได้มากกว่านั้นมาก

 

โดยเฉพาะการค้นพบว่าบทบาทครีเอเตอร์นี้คือคำว่า ‘อิสระ’ ในแบบที่เป็นตัวของเธอเอง เล่าเรื่องในแบบของเธอเอง ซึ่งแล้วแต่ว่าอยากจะนำเสนอเรื่องไหน อาจจะเป็นการแชร์ชีวิตในแต่ละวัน แชร์สิ่งที่เจอมา ไปจนถึงความรู้ดีๆ ที่อยากแบ่งปัน

 

ปัจจุบันฟรังยังมีช่องทางบนแพลตฟอร์ม TikTok ‘frungnarikunnn’ ก็ได้รับความนิยมอย่างสูงด้วยจำนวนผู้ติดตามมากกว่า 7 แสนคน ซึ่งเธอสามารถแบ่งปันเรื่องราวอย่างง่ายๆ โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีกองถ่ายและผู้คนมากมายเหมือนในกองถ่ายซีรีส์ 

 

บางครั้งเพียง iPhone เพียงเครื่องเดียวตัดต่อก็นับว่าเพียงพอแล้ว เพราะอุปกรณ์สมัยใหม่พัฒนามาไกลจนสามารถทำเรื่องใหญ่ให้กลายเป็นเรื่องเล็กๆ ได้ ตอบโจทย์คนที่มีเอเนอร์จี้ล้นเหลือ (แม้จะยอมรับว่าหลังๆ ก็แบ่งเวลายากเหมือนกัน) 

 

“เราเป็นคนชอบอิสระมากๆ” นรีกุลบอก “แต่ในเวลาเดียวกันก็ดื้อมากๆ ด้วย”

 

ฟังประโยคนี้ภาพของกองทัพธานอสที่เดินทางข้ามจักรวาลผ่านประตูมิติบุกโลกก็ผุดขึ้นมาในหัวทันที ก่อนที่ฟรังจะดึงสติกลับมาด้วยสีหน้าจริงจังของเธอ

 

“แต่จริงๆ แล้วอยากเป็นนักธุรกิจมาตลอด”

 

ทำธุรกิจแบบฟรังๆ

 

“ทำไมผู้หญิงจะมีชุดสูทสวยๆ บ้างไม่ได้!” นรีกุลเล่าถึงแรงบันดาลใจหรือในเวลาเดียวกันอาจจะเป็นแรงฮึดที่ทำให้เธอตัดสินใจทำธุรกิจแรกของตัวเอง

 

‘Ellis’ ร้านตัดชุดสูท (และเสื้อเบลเซอร์) ในแบบเพื่อนหญิงพลังหญิง

 

แน่นอนทุกอย่างต้องเริ่มจาก ‘ความเป็นฟรัง’ ก่อนหรือในภาษาง่ายๆ คือทุกอย่างต้องเริ่มจากสิ่งที่เธอสนใจก่อน และความสนใจแรกของเธอคือความคิดที่อยากจะตัดชุดสครับ (Scubb Suit) หรือชุดออกตรวจสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องใส่เป็นประจำ

 

ปัญหาคือถึงจะมีไอเดียแต่ไปต่อไม่ได้ เพราะไม่สามารถตามหาเนื้อผ้าที่ถูกใจสำหรับนำมาตัดชุดได้ และอีกอย่างคือตลาดนั้นแคบเกินไปเพราะชุดแบบนี้ขายได้เฉพาะแต่ลูกค้าที่ทำงานในโรงพยาบาลเท่านั้น

 

ความฝันจึงถูกเบนเป้าต่อมาถึงสิ่งที่เธอสนใจ หรือบางทีอาจจะเรียกว่าสิ่งที่เธอคาใจ เพราะในฐานะแพทย์หญิงนรีกุลต้องเดินทางเข้าร่วมประชุมทางการแพทย์อยู่บ่อยๆ แต่ไม่สามารถหาชุดสูทสวยๆ ใส่ออกงานได้ง่ายนัก

 

จาก Pain Point ของคุณหมอสาวที่อยากใส่ชุดสูทสีสวยๆ เนื้อผ้าดีๆ ไปงาน จึงนำไปสู่การเปิดร้านเสื้อสูท Ellis ซึ่งไม่ได้เป็นแค่ Custom-Made แต่เป็นงาน Tailor-Made ใส่ใจในรายละเอียดทุกอย่าง เสมือนตัดสูทใส่เอง

Ellis ซึ่งเริ่มในช่วงต้นปี 2004 ถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร มีกลุ่มลูกค้าในช่วงวัย 30 ปีขึ้นไปที่นอกจากจะมีสไตล์ก็มีสตางค์ มีกำลังซื้อด้วย

 

แต่สิ่งที่อาจจะเป็นความสำเร็จที่สุดในเรื่องนี้คือการที่เธอได้ทำในสิ่งที่เก็บไว้ในใจตลอดมา

 

“ฉันได้เป็นนักธุรกิจแล้ว!”

 

และธุรกิจเดียวสงสัยจะไม่พอแล้วสำหรับหมอฟรัง!

 

 

น้ำผลไม้ใกล้ฟรัง

 

นับตั้งแต่ปี 2024 เป็นต้นมาตลาดธุรกิจร้านเครื่องดื่มหวานเย็นชื่นใจในประเทศไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครนับว่าดุเดือดเป็นอย่างยิ่ง เดือดจนเกินกว่าคำว่า ‘Red Ocean’ จนแทบจะกลายเป็น ‘Dead Ocean’

 

แต่สำหรับนรีกุลแล้ว คลื่นมหาสมุทรโหมกระหน่ำรุนแรงแค่ไหน เธอก็พร้อมชูมือขึ้นฟ้าแบบลูฟี่ในเรื่องวันพีซ แล้วบอกทุกคนว่าออกเดินทางไปด้วยกัน!

 

ร้านเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ‘Mooood’ เกิดขึ้นจากความชื่นชอบส่วนตัวในการดื่มสมูทตี้จึงคิดอยากทำร้านสมูทตี้ – ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมสูงในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาในประเทศไทย – ในแบบของเธอเอง

เหมือนเดิมกับร้าน Ellis ถ้าฟรังจะขาย ฟรังจะขายแต่ของดี เครื่องดื่มของ Mooood จึงเป็นเครื่องดื่มที่อร่อยด้วยวัตถุดิบที่ดีด้วยการเลือกใช้ผลไม้สด (ในขณะที่แบรนด์ใหญ่ใช้ผลไม้แช่แข็ง) แต่กินได้โดยไม่รู้สึกผิดต่อตัวเองมากสำหรับคนรักสุขภาพเพราะไม่ได้หวานจนเกินไปโดยมีพาร์ตเนอร์อย่างเพื่อนที่เป็นเชฟช่วยคิดค้นสูตรให้ (และเธอต้องชิมเองทุกสูตร)

 

ปัญหาคือบางครั้งความฟรังก็ตัดสินใจไวเกินไปไม่ได้ศึกษาตลาดอย่างถี่ถ้วนมากพอ โดยที่ร้านสาขาแรกตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ตอนนี้ได้ชื่อว่าโหดและปราบเซียนที่สุดของกรุงเทพฯอย่างย่านบรรทัดทองด้วย

 

“เริ่มจากสิ่งที่อินก่อน แล้วค่อยเรียนรู้ระหว่างทาง” เธอบอกด้วยรอยยิ้มที่ดูแห้งนิดหน่อย ก่อนสารภาพว่า “ลืมคิดไปว่าคนมาบรรทัดทองเขามาเพื่อหาของของอร่อยๆ อ้วนๆ กัน”

 

แต่คงเป็นเพราะตัวโปรดักต์ที่ดีของ Mooood ที่ตั้งใจจะถามไถ่ทุกคนว่า “What’s your Mooood today?” และอยากจะทำให้ทุกคนอารมณ์ดีไปกับเครื่องดื่มแก้วพิเศษ ทำให้ร้านยังมียอดขายจากลูกค้าขาประจำที่สั่งจากบริการเดลิเวอรี รวมถึงจากคนเล่นฟิตเนสที่อยู่ใกล้ๆ ร้าน

 

และสิ่งที่ได้เรียนรู้ทำให้เธอค้นพบ ‘คีย์’ สำคัญบางอย่างจนนำไปสู่การเปิดสาขาที่ 2 อย่างเป็นทางการที่ย่านทองหล่อ ซึ่งไม่ได้เป็นสาขาใหญ่ที่ต้องลงทุนเยอะ แต่เน้นการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าจากบริการเดลิเวอรีแทน

 

“เป้าหมายอยากจะมีให้ถึง 10 สาขาในปีนี้เลย” เธอตอบฉะฉานก่อนเผยรอยยิ้มออกมา

 

“ทำได้จริงหรือเปล่าไม่รู้นะ แต่ตั้งเป้าเอาไว้ก่อนแล้วกัน”

 

 

ทำฟรังนี้ให้ดีที่สุด

 

สิ่งที่นรีกุลไม่ได้บอกแต่เราได้เห็นผ่านช่องทางต่างๆ ของเธอคือการที่เธอมักจะมีโอกาสได้พูดคุยกับนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จหลายคน

 

บทสนทนาในคอนเทนต์เหล่านั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่การทำสนุกๆ แต่มันคือบทเรียนนอกห้องเรียนจากชีวิตจริงของคนที่มีประสบการณ์ที่ถ่ายทอดออกมาก่อนถูกสกัดเป็นวิชาในการทำธุรกิจในฉบับของหมอฟรัง


ล่าสุดเธอเปิดตัวธุรกิจใหม่คลินิกความงาม ‘ONE Surgery & Aesthetics Clinic’ ซึ่งเป็นธุรกิจอย่างที่ 3 ของเธอภายในช่วงระยะเวลาเพียงปีเศษ เพียงแต่ครั้งนี้เธอทำร่วมกับเพื่อนๆ และจริงจังขึ้นกว่าที่ผ่านมาเพราะมองเห็นโอกาสและศักยภาพในตลาดการเสริมความงามในประเทศไทย

 

รวมถึงการมี ‘Insight’ บางอย่างจากการเป็นคุณหมอผู้เชื่อว่าหมอความงามของไทยไม่ได้แพ้ชาติใดในโลก โดยเฉพาะหากมีเครื่องไม้เครื่องมือที่ดีเท่ากับต่างประเทศอย่างเกาหลีที่ถือเป็นกระบี่มือหนึ่งของวงการในด้านนี้

 

“เราสามารถเป็น Destination ของเรื่องความสวยงามความงามได้นะ” นักแสดงสาวผู้ยืนยันว่าก็ยังพร้อมพิจารณางานแสดง เพียงแต่ตอนนี้สิ่งที่เธอสนุกมากที่สุดคือการทำธุรกิจ บอกถึง Goal ในธุรกิจนี้ของเธอ

 

และ Goal ส่วนตัวคือการที่อยากเห็นทุกธุรกิจของเธอดำเนินต่อไปได้ด้วยตัวเอง ให้คนจดจำ Ellis, Mooood รวมถึง ONE Surgery ด้วยแบรนด์เองโดยไม่จำเป็นต้องเอาตัวเองไปผูกกับแบรนด์ ซึ่งทุกวันนี้ยังต้องทำหน้าที่พรีเซนเตอร์ทำคอนเทนต์โปรโมตเองบ้าง 

 

ไม่นับการต้องศึกษาเทรนด์ใหม่ๆ ซึ่งล่าสุดเธอบอกว่ากำลังศึกษาวิธีการใช้งาน Apple Intelligence บนมือถือของเธอ รวมถึงฟีเจอร์การทำงานใหม่ๆ ที่จะช่วยในการทำงานร่วมกับทีมอย่าง Continuity หรือแม้แต่การปรับความละเอียดของภาพใน iPhone ที่ถ่ายโปรดักต์ได้สบายๆ

 

เพราะลึกๆ แล้วเห็นแบบนี้เธอแอบสารภาพว่าเป็น Introvert คนหนึ่งที่อยากใช้ชีวิตอยู่เงียบๆ มากกว่า

 

แต่แน่นอนว่าการจะไปถึงปลายทางนั้นไม่ง่าย ไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นอีกบ้างในวันข้างหน้า 

 

เบื้องหน้าของรอยยิ้ม คอนเทนต์สนุกๆ มีเพียงคนใกล้ตัวที่จะรู้ว่าหลังฉากแล้วในแต่ละมื้อแต่ละเดย์ ฟรัง นรีกุล ต้องเรียนรู้หนักแค่ไหน ไปจนถึงผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบาก ความท้อแท้ ผิดหวังมาแค่ไหน บางเรื่องแม้จะดูเป็นเรื่องง่ายที่สุดแต่การแซะตัวเองจากที่นอนในวันที่อ่อนล้าที่สุดก็เป็นเรื่องที่ยากที่สุดได้เหมือนกัน

 

แต่ถึงอย่างน้อยเธอก็ไม่เคยหยุด และย้ำคำง่ายๆ ที่เป็นแรงผลักดันในแต่ละวันของเธอ

 

“ทำวันนี้ให้ดีที่สุดค่ะ” เธอบอกด้วยคำพูด 

 

ส่วนแววตานั้น แม้จะพูดไม่ได้ แต่ประกายในนั้นพยายามบอกให้เรารู้ว่าเธอจะ ‘ทำฟรังคนนี้ให้ดีที่สุด’

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising