×

สิ้นยุคกวาร์ดิโอลา? เทรนด์ฟุตบอลเปลี่ยน เป๊ปจะสร้าง แมนฯ ซิตี้ 2.0 ไหวหรือไม่

19.05.2025
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MIN READ
  • ฟุตบอลของซิตี้ช้าเกินไป ครองบอลนานเกินไป แต่สร้างความอันตรายได้น้อยเกินไป จับทางง่ายเกินไป และมันเป็นแบบนี้มานานเกินไปแล้ว
  • คนที่ควรจะเป็นความหวังมากที่สุดของทีมคือฮาแลนด์ แต่กลับกลายเป็นว่ายิ่งเล่นศูนย์หน้าที่เคยถูกเรียกว่าเป็น ‘จอมมาร’ กลับกลายเป็นตัวประกอบของทีมไปด้วยอีกคน
  • คำถามคือการจะสร้าง ‘แมนฯ ซิตี้ 2.0’ ขึ้นมาอีกครั้งต้องใช้พลังและเวลา เป๊ปจะมีกำลังมากพอที่จะทำทุกอย่างใหม่อีกครั้งหรือไม่?

“ผมเคยบอกกับเขาหลังการพบกันครั้งหลังสุดว่า คุณอย่าใช้แผนแบบเดิมกับผมอีกนะ เพราะผมจะหาทางแก้ได้”

 

คำพูดนี้ของ โอลิเวอร์ กลาสเนอร์ บอสใหญ่ที่กลายเป็นบุคคลประวัติศาสตร์ของคริสตัล พาเลซ หลังพาทีม ‘ดิ อีเกิลส์’ (ที่ไม่ใช่วงดนตรี) ผงาดคว้าแชมป์ใหญ่รายการแรกตั้งแต่ก่อตั้งสโมสร 120 ปีด้วยการเอาชนะแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ได้ในนัดชิงเอฟเอคัพ กลายเป็นคำพูดที่มีการหยิบยกขึ้นมาอย่างน่าสนใจ

 

ถึงแม้จะมีข้อเท็จจริงที่น่าสนใจ อย่างแรกคือกลาสเนอร์พูดเรื่องนี้ในช่วงก่อนเกมนัดชิงเอฟเอคัพ ไม่ใช่หลังจบเกมการแข่งขันที่ชนะไปแล้ว อย่างที่สองคือการจัดทีมของ เป๊ป กวาร์ดิโอลา ในเกมที่พวกเขาเฉือนเอาชนะคริสตัล พาเลซ เมื่อเดือนเมษายนด้วยสกอร์ 5-2 เป็นการเล่นในระบบ 4-2-2-2 ไม่ใช่ระบบ 4-3-3 (และรูปแบบการเล่นจริงคือ 3-6-1) แบบในเกมที่เวมบลีย์

 

แต่สิ่งที่น่าสนใจคือนี่เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปีที่เราต่างเริ่มรู้สึกว่าทีมแมนฯ ซิตี้ ของ เป๊ป กวาร์ดิโอลา ถูกคู่แข่งจับทางได้ไล่ตามทัน และการที่พวกเขาจบฤดูกาลด้วยมือเปล่าก็เป็นเครื่องพิสูจน์ชั้นดี

 

ฟุตบอลของยอดอัจฉริยะกำลังจะกลายเป็นสิ่งล้าสมัยไปแล้วหรือ?

 

ย้อนกลับไปในช่วงกลางปี 2022 ภายหลังจากการเข้ารับตำแหน่งของ เอริก เทน ฮาก ผู้จัดการทีมคนใหม่ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ได้กล่าวประโยคหนึ่งซึ่งกลายเป็นเหมือนดัง ‘คำทำนาย’ อนาคตที่แม่นยำอย่างไม่น่าเชื่อถึง เจอร์เกน คล็อปป์ และ เป๊ป กวาร์ดิโอลา สองสุดยอดกุนซือผู้ครองวงการฟุตบอลอังกฤษ

 

“ในช่วงเวลานี้ผมชื่นชมพวกเขาทั้งสอง พวกเขาทำทีมเล่นฟุตบอลที่มหัศจรรย์ แต่สิ่งที่เราแน่ใจได้คือยุคสมัยต่างๆ ล้วนมีวันสิ้นสุด”

 

ถึงแม้ว่า เทน ฮาก จะไม่ได้ทำในทางตรงด้วยการนำแมนฯ ยูไนเต็ด โค่นบัลลังก์ของทั้งคู่ แต่สิ่งที่เขาพูดได้กลายเป็นความจริงแบบอ้อมๆ เพราะคล็อปป์อำลาลิเวอร์พูลหลังจบฤดูกาลที่ 2 ที่เขาคุมทีมในโอลด์แทรฟฟอร์ด ด้วยเหตุผลของคนหมดไฟ 

 

ขณะที่เป๊ปแม้จะยังอยู่ในตำแหน่งและเพิ่งต่อสัญญาใหม่ไปอีก 2 ปี แต่จับสัญญาณเวลานี้มันชวนให้คิดว่ายุคสมัยของเขากำลังจะสิ้นสุดลงจริงๆ

 

จริงอยู่ที่การสูญเสีย โรดรี เสาหลักของเรือใบไปตั้งแต่ช่วงต้นฤดูกาลได้ทำลายทุกสิ่งทุกอย่างของแมนฯ ซิตี้ในฤดูกาลนี้ เรียกว่าเป็นหายนะที่รุนแรงที่สุดเกินกว่าที่ใครจะคาดคิด 

 

แต่เวลาผ่านมาเรามองเห็นแล้วว่าปัญหานั้นอาจจะใหญ่เกินกว่าการโยนทุกอย่างให้กับโรดรีคนเดียว

 

ปัญหาที่ใหญ่ที่น่าสนใจมากกว่านั้นอยู่ในคำพูดของกลาสเนอร์ ที่บอกแบบมั่นใจว่าทีมเป็นรองอย่างคริสตัล พาเลซ ที่แพ้ขาดลอยมา 5-2 ในเกมที่เอติฮัดสเตเดียมจะหยุดแมนฯ ซิตี้ได้ ซึ่งพวกเขาก็ทำได้จริงๆ ด้วยฟอร์มการเล่นที่ยอดเยี่ยมคู่ควรแก่การได้รับชัยชนะและแชมป์แรกในประวัติศาสตร์ของสโมสร

 

คริสตัล พาเลซ ไม่ได้เป็นทีมแรกและทีมเดียวที่แก้ทางแมนฯ ซิตี้ได้ในฤดูกาลนี้ มีอีกหลายทีมที่สร้างปัญหาให้แก่เป๊ป โดยที่หาคำตอบหรือทางออกได้ยากเหลือเกิน 

 

เรื่องนี้เกิดจากอะไรบ้าง?

 

 

‘เกมครองบอล’ (Juego de posicion) กลายเป็นของล้าสมัย

 

ตั้งแต่ตัดสินใจเดินหน้างานในสายการเป็นโค้ชฟุตบอล ปรัชญาการเล่นในแบบของ เป๊ป กวาร์ดิโอลา คือฟุตบอลที่เน้นการครองบอล (Juego de posicion) เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นกับบาร์เซโลนา, บาเยิร์น มิวนิก หรือแม้แต่แมนเชสเตอร์ ซิตี้ก็ตาม

 

ปรัชญานี้เป็นสิ่งที่เจ้าตัวได้เรียนรู้จากครูผู้ยิ่งใหญ่อย่าง โยฮัน ครอยฟ์ ‘นักเตะเทวดา’ ผู้วางรากฐานฟุตบอลให้แก่บาร์เซโลนา และวางฐานรากของโมเดิร์นฟุตบอลด้วย ซึ่งแม้จังหวะจะโคนในการเล่นจะเปลี่ยนแปลงไปบ้าง จากการเล่นรวดเร็วเน้นได้เสียอย่างสไตล์ที่ถูกเรียกว่า ‘Tiki-taka’ สู่การครองบอลแบบหมดจดในยุคหลังของแมนฯ ซิตี้

 

แต่สุดท้ายหัวใจของมันก็คือการครองบอลให้ได้มากกว่าคู่แข่ง เพราะถ้าบอลอยู่กับเรา เขาจะชนะได้อย่างไร

 

อย่างไรก็ดีในฤดูกาลนี้เป็นครั้งแรกที่เราได้เห็นว่าฟุตบอลสไตล์เน้นครองบอลของเป๊ปไม่ได้ผล พวกเขามักจะเสียท่าให้กับคู่แข่งที่วางแผนการตั้งรับมาได้ดี และมีเกมสวนกลับที่อันตราย

 

ในวันที่พ่ายให้กับเรอัล มาดริดในศึกยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก เป๊ปยอมรับว่า “ฟุตบอลของเรามันไม่ได้ผลเหมือนที่เคยทำได้”

 

ฟุตบอลของซิตี้ช้าเกินไป ครองบอลนานเกินไป แต่สร้างความอันตรายได้น้อยเกินไป จับทางง่ายเกินไป และมันเป็นแบบนี้มานานเกินไปแล้ว

 

หากเปรียบให้เห็นภาพง่ายๆ เหมือนกับเป๊ปคืออัจฉริยะผู้วาดภาพด้วยจินตนาการและฝีแปรงที่หาใครเทียม แต่ต้องใช้เวลาในการค่อยๆ วาดภาพขึ้นมา ในขณะที่คู่แข่งใช้วิธีในการป้อนคำสั่งให้กับปัญญาประดิษฐ์ และสามารถวาดภาพที่สวยกว่าได้ด้วยคำสั่งลัดเพียงประโยคเดียว

 

สิ่งเหล่านี้ทำให้เป๊ปตกอยู่ใต้ภาวะเครียดและกดดันอย่างเห็นได้ชัดตลอดฤดูกาล (จำรอยแผลขีดข่วนบนใบหน้าได้ใช่ไหม?) โดยที่แม้จะมีช่วงที่สามารถเก็บชัยชนะได้อย่างต่อเนื่องบ้างแต่ไม่มีสักช่วงในฤดูกาลที่รู้สึกว่าเป๊ปสามารถค้นหาคำตอบหรือแนวทางใหม่ๆ ได้เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา เช่น ตอนที่ เซร์จิโอ อเกวโร เจ็บก็ดันกุนโดวานขึ้นไปยืนเป็น False9 จนทีมกลับมาเป็นแชมป์ลีกในฤดูกาล 2020/21

 

 

จุดแข็ง = จุดอ่อน

 

ท่ามกลางคำถามมากมายที่เป๊ปเผชิญในฤดูกาลนี้ หนึ่งในเรื่องที่เขาไม่สามารถค้นหาคำตอบได้เลยคือการใช้งานคนที่ควรจะเป็นจุดศูนย์กลางของทีมอย่าง เอร์ลิง เบราต์ ฮาแลนด์

 

ในฤดูกาลที่ไร้โรดรี ทำให้ปัญหาที่ถูกซุกไว้ในพรมมาตั้งแต่ฤดูกาลที่แล้วได้ถูกขุดขึ้นมา โดยเฉพาะ 3 แกนหลักที่เคยพาทีมครองความยิ่งใหญ่มาโดยตลอดอย่าง เควิน เดอ บรอยเนอ, แบร์นาโด ซิลวา และอิลคาย กุนโดวาน เริ่มโรยราและทำผลงานตกลงจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด

 

นักเตะอย่าง ฟิล โฟเดน, เฌเรมี โดกู,​ ซาวินโญ, แจ็ค กรีลิช หรือแม้แต่ โอมาร์ มามูช กองหน้าตัวใหม่ก็ไม่สามารถก้าวขึ้นมาทดแทนได้

 

คนที่ควรจะเป็นความหวังมากที่สุดของทีมคือฮาแลนด์ แต่กลับกลายเป็นว่ายิ่งเล่นศูนย์หน้าที่เคยถูกเรียกว่าเป็น ‘จอมมาร’ กลับกลายเป็นตัวประกอบของทีมไปด้วยอีกคน

 

ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากแท็กติกการเล่นของแมนฯ ซิตี้ ที่เน้นการครองบอลนานเกินไปจนทำให้คู่แข่งสามารถกลับมาปักหลักตั้งรับรอได้ทั้งทีมด้วยการเล่นรับลึก (Low Block) และนั่นหมายถึงการที่ฮาแลนด์ต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่โดนประกบติดจนกระดิกแทบไม่ออกมาโดยตลอด

 

ทั้งๆ ที่จุดแข็งของเขาคือความแข็งแกร่ง ความเร็ว และการเล่นหลังไลน์แนวรับ ซึ่งเหมาะกับฟุตบอลในสไตล์ที่เข้าทำรวดเร็วมากกว่า

 

ในเกมนัดชิงเอฟเอคัพกับพาเลซ คนเดียวที่ผ่านบอลให้ฮาแลนด์ได้ลุ้นโอกาสบ้างคือ เดอ บรอยเนอ และจะว่าไปก็เป็นคนเดียวที่รู้ทางกันมาตั้งแต่ย้ายมาจากดอร์ทมุนด์ แต่ปัญหาคือเพลย์เมกเกอร์ในตำนานชาวเบลเยียมโรยราลงไปมากแล้วจึงไม่สามารถป้อนบอลให้ได้เหมือนเดิม

 

 

แมนฯ ซิตี้ 2.0 ต้องใช้พลังและเวลา

 

สิ่งที่น่าสนใจคือตอนนี้เป๊ปรู้ (และทุกคนก็รู้)​ ว่าแมนฯ ซิตี้จำเป็นที่จะต้องสร้างทีมขึ้นมาใหม่

 

แน่ละว่างบประมาณของเขามีไม่จำกัด ต่อให้สโมสรเผชิญกับคดีทางการเงิน 115 (+15) คดีซึ่งการพิจารณาคดีเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยตั้งแต่เดือนธันวาคมปีกลาย แต่ยังไม่มีการประกาศคำตัดสินออกมา แมนฯ ซิตี้ก็ใช้งบประมาณมากร่วม 200 ล้านปอนด์สำหรับช่วงตลาดการซื้อขายรอบฤดูหนาวที่ผ่านมาในการเสริมทัพด้วยนักเตะหลายราย นำโดย โอมาร์ มามูช, นิโก กอนซาเลซ และอับดูโคเดียร์ คูชานอฟ 

 

อีกทั้งคาดว่าจะมีการเสริมทัพอีกชุดใหญ่ในช่วงปิดฤดูกาลนี้ ซึ่งมีชื่อนักเตะอย่าง ฟลอเรียน เวียร์ตซ์ รวมถึง ทิยานี เรนเดอร์ส โผล่ขึ้นมาในฐานะนักเตะเป้าหมาย

 

แต่คำถามคือการจะสร้าง ‘แมนฯ ซิตี้ 2.0’ ขึ้นมาอีกครั้งต้องใช้พลังและเวลา 

 

เป๊ปจะมีกำลังมากพอที่จะทำทุกอย่างใหม่อีกครั้งหรือไม่? และเวลา 2 ปีในสัญญานั้นยาวนานพอที่จะเปลี่ยนแปลงทุกอย่างได้อย่างรวดเร็วไหม โดยเฉพาะในเมื่อมันเริ่มสังเกตได้ว่ามนตร์ขลังฟุตบอลของเขานั้นเริ่มจางลงไป

 

มันชวนให้คิดถึงกรณีของ ‘The Special One’ โชเซ มูรินโญ ที่หลังพาเชลซีคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกในฤดูกาล 2014/15 มาตรฐานของผลงานก็ตกลงไปอย่างเห็นได้ชัด แท็กติกฟุตบอลไปจนถึงสไตล์การทำทีมของมูรินโญกลายเป็นของล้าสมัยอย่างรวดเร็ว จนในเวลานี้ไปอยู่ในลีกรองอย่างตุรกีกับเฟเนร์บาห์เช (และไม่ได้แชมป์ด้วย)

 

อย่างไรก็ดีในการให้สัมภาษณ์หลังจบเกมนัดชิงเอฟเอคัพ เป๊ปถูกตั้งคำถามถึงแรงบันดาลใจของเขาที่จะพาทีมกลับมาอีกครั้งว่าจะเป็นไปได้ไหม

 

“แรงบันดาลใจของผมงั้นหรือ?” เป๊ปยิ้มที่มุมปาก

 

“ผมเป็นโค้ชที่มีพรสวรรค์ไง” 

 

อย่าลืมว่านี่คือคนที่กำหนดเทรนด์ฟุตบอลของโลกทั้งใบมาแล้วในช่วงเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ที่ไม่ว่าจะทีมไหนก็อยากจะเล่นให้ได้แบบ ‘ทีมของ เป๊ป กวาร์ดิโอลา

 

ฤดูกาลนี้คือบทเรียนที่ยิ่งใหญ่ แต่ฤดูกาลหน้าคือความท้าทายที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่า สุดท้ายเป๊ปจะพาทีมและพาตัวเองกลับมาได้อีกครั้งไหม

 

หรือเขาจะกลายเป็นของตกยุคแบบมูรินโญจริงๆ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising