×

Moody’s หั่นอันดับเครดิตสหรัฐฯ เหลือ Aa1 ชี้ นโยบายคลังไร้เสถียรภาพ-หนี้พุ่งสูง

17.05.2025
  • LOADING...

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Moody’s Investors Service ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐ จาก Aaa เป็น Aa1 ซึ่งถือเป็นการประกาศปลดสหรัฐฯออกจากอันดับความน่าเชื่อถือสูงสุด

 

“สะท้อนถึงความกังวลต่อภาวะหนี้สินและการขาดดุลงบประมาณที่พุ่งสูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อสถานะของสหรัฐ ในฐานะจุดหมายปลายทางอันดับหนึ่งสำหรับเงินทุนโลก”

 

ทั้งนี้หลังการประกาศ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี พุ่งขึ้นแตะระดับ 4.49% ขณะที่กองทุน ETF ที่อิงดัชนี S&P 500 ปรับตัวลดลง 0.6% ในการซื้อขายหลังปิดตลาด

 

Moody’s ระบุว่า แม้เศรษฐกิจและสถานะทางการเงินของสหรัฐฯยังคงมีความแข็งแกร่ง แต่ไม่สามารถชดเชยการเสื่อมถอยของตัวชี้วัดทางการคลังได้ โดยเฉพาะการขาดดุลงบประมาณที่ขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากนโยบายการคลังของรัฐบาล และยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลงเพราะสมาชิกรัฐสภายังคงผลักดันร่างกฎหมายลดหย่อนภาษีและยังไร้แนวทางในการควบคุมการใช้จ่ายของรัฐอย่างชัดเจน

 

Stephen Moore อดีตที่ปรึกษาเศรษฐกิจระดับสูงของรัฐบาล กล่าวถึงความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นว่า การปรับลดอันดับเป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก ถ้าพันธบัตรที่รัฐบาลสหรัฐฯ หนุนหลังยังไม่ใช่สินทรัพย์ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับ AAA แล้วจะมีอะไรที่คู่ควรกับระดับนั้นอีก

 

อีกทั้งการประกาศนี้ทำให้อดีตคนใกล้ชิดประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาวิจารณ์กันอย่างคับคั่ง เริ่มตั้งแต่ Stephen Moore อดีตที่ปรึกษาเศรษฐกิจของทรัมป์ ระบุว่า เป็นเรื่องน่าตกใจ เพราะพันธบัตรของรัฐบาลสหรัฐฯควรเป็นสินทรัพย์ที่มีความน่าเชื่อถือสูงสุด

 

รวมถึง Steven Cheung ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารของทำเนียบขาว แสดงความเห็นบนช่องทางบนโซเชียลมีเดียเพียงสั้นๆ ว่า นักเศรษฐศาสตร์ของ Moody’s พยายามโจมตี โดนัลด์ ทรัมป์

 

อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลภายใต้การบริหารของโดนัลด์ ทรัมป์ จะพยายามแก้ปัญหางบประมาณ ทั้งการตั้งเป้าลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้จากภาษีศุลกากร แต่ผลลัพธ์ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม และบางนโยบาย เช่น การให้ Elon Musk เป็นหัวหน้าของ ‘กระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล’ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า DOGE ซึ่งหน้าที่ของหน่วยงานนี้คือ การลดคน ลดจำนวนข้าราชการ เพื่อลดภาระงบประมาณของรัฐบาล ซึ่งก็ยังไม่ประสบความสำเร็จตามที่คาดไว้

 

“ทั้งหมดนี้ทำให้ตลาดการเงินยังมีความกังวลและประเมินว่าอาจกระทบต่อความสามารถของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายในอนาคตด้วยเช่นกัน”

 

ขณะเดียวกัน Tracy Chen ผู้จัดการพอร์ตจาก Brandywine Global Investment Management แสดงความเห็นว่า การลดอันดับเครดิตอาจส่งผลให้นักลงทุนเรียกร้องผลตอบแทนจากพันธบัตรรัฐบาลในระดับที่สูงขึ้นกว่าเดิม และยังตั้งข้อสังเกตว่า แม้ตลาดเคยฟื้นตัวได้หลังถูกปรับลดอันดับในอดีต แต่ครั้งนี้อาจแตกต่าง เนื่องจากพันธบัตรและเงินดอลลาร์ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยอาจไม่มั่นคงเท่าเดิม

 

เมื่อมาดูข้อมูลจากสำนักงานงบประมาณรัฐสภา (CBO) ชี้ว่า สหรัฐฯ มีงบประมาณขาดดุลเกือบ 2 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี หรือคิดเป็นกว่า 6% ของ GDP และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก จากผลกระทบของเศรษฐกิจชะลอตัวและมีความจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

นอกจากนี้ ยอดหนี้รัฐบาลกลางแตะระดับสูงมากและคาดว่าจะเพิ่มขึ้นแตะ 107% ของ GDP ภายในปี 2029 หากไม่มีการปฏิรูปนโยบายการเงินและการคลังอย่างจริงจัง สิ่งที่ตามมาคือต้นทุนการชำระดอกเบี้ยหนี้ก็จะเพิ่มขึ้น ตามระดับอัตราดอกเบี้ย ทำให้ภาระทางการคลังของสหรัฐฯยิ่งหนักขึ้น

 

ด้าน โจเซฟ ลาวอร์ญา หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ SMBC Nikko Securities กล่าวว่า ช่วงเวลาที่ Moody’s ปรับลดอันดับนั้นดูแปลก เพราะเกิดขึ้นระหว่างที่สภากำลังพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญ พร้อมชี้ว่าอัตราส่วนหนี้ต่อ GDP ที่ระดับ 100% ไม่ใช่เรื่องผิดปกติในระดับสากล

 

พร้อมยังย้ำว่า สหรัฐฯ ยังคงเป็นประเทศที่อุตสาหกรรมเติบโตเร็ว ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ควรสนับสนุนอันดับความน่าเชื่อถือในระดับสูง

 

ท้ายที่สุดแล้ว การที่ Moody’s ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯในครั้งนี้ถือเป็นสัญญาณเตือนว่า แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯจะยังทรงพลังในระดับโลก แต่ความไม่แน่นอนของนโยบายการคลังและนโยบายการเมืองอาจทำให้สถานะทางการเงินของประเทศต้องเผชิญแรงกดดันมากขึ้น

 

ภาพ: ArtiMind / Shutterstock, T. Schneider / Shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising