แหล่งข่าวจากภาคสถาบันการเงิน เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ระบุว่า ได้รับการยืนยันจาก ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ อดีตรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ ว่า อยู่ระหว่างในการจัดทำใบสมัครเพื่อชิงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แทน ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (คนปัจจุบัน) ที่กำลังจะหมดวาระลงในวันที่ 30 กันยายน 2568 หลังจากก่อนหน้านี้ ดร.สมประวิณ ลาออกจากตำแหน่งผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อมาเตรียมพร้อมสมัครในตำแหน่งผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ โดยอยู่ระหว่างเปิดให้ผู้สนใจยื่นใบสมัครระหว่างวันที่ 13 พฤษภาคม – 4 มิถุนายน 2568
เปิดประวัติ ‘ดร.สมประวิณ’
ดร.สมประวิณ เป็นนักเศรษฐศาสตร์ผู้มีประสบการณ์หลากหลาย ทั้งในภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคเอกชน ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเคยดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงานกลยุทธ์องค์กรของธนาคารไทยพาณิชย์
ซึ่งเป็นบทบาทที่ต้องขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ทั้งองค์กรในบริบทการแข่งขันระดับสูง พร้อมประสานงานกับหน่วยธุรกิจและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมากทั้งภายในและภายนอกองค์กร โดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญของเศรษฐกิจและระบบการเงินไทย
ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ
สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จาก University of Maryland, College Park และสั่งสมประสบการณ์มากกว่า 25 ปีในบทบาทระดับผู้บริหาร เช่น รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ของธนาคารไทยพาณิชย์ และหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ (Chief Economist) ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา
รวมถึงรองคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จุดแข็งคือความเข้าใจบริบทของเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างดี นำข้อเท็จจริงจากข้อมูลที่หลากหลายมาวิเคราะห์เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอแนะทางนโยบายอย่างมียุทธศาสตร์ การจัดลำดับความสำคัญของนโยบายในสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง และการจัดการประเด็นขัดแย้งอย่างเป็นระบบ
ในระดับนโยบายสาธารณะ ดร.สมประวิณ มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาควิชาการ เช่น การเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการคลัง อนุกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจในวุฒิสภา และกรรมการในสถาบันวิจัยชั้นนำอย่างสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) รวมถึงเคยมีบทบาทในคณะทำงานวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจหลังโควิด ความสามารถในการฟัง วิเคราะห์ และเชื่อมโยงมุมมองที่หลากหลาย มีประสบการณ์ในการผลักดันเสนอนโยบายทั้งในระดับประเทศและระดับองค์กร