สัปดาห์นี้เป็นอีกสัปดาห์ที่ธนาคารกลางขนาดใหญ่ของโลกอย่าง ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และอังกฤษ (BOE) จัดการประชุมเพื่อตัดสินอัตราดอกเบี้ยนโยบายในสัปดาห์เดียวกัน โดยนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า Fed จ่อคงอัตราดอกเบี้ย BOE จ่อลดอัตราดอกเบี้ยในสัปดาห์นี้
สำหรับฝั่งประเทศไทย แม้ว่าเมื่อสัปดาห์ก่อน คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะเพิ่งมีมติ 5:2 ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 1.75% ไป แต่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ก็พาคาดว่า ดอกเบี้ยไทยจะมีแนวโน้มลดลงอีก ไปอยู่ที่ 1.25-1.5% ณ สิ้นปีนี้
ตลาดแรงงานสหรัฐฯ แกร่ง หนุน Fed ไม่ลดดอกเบี้ย
ด้าน ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ หัวหน้านักวิจัยเศรษฐกิจ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล. InnovestX บริษัทการเงินการลงทุนในกลุ่ม SCBX ระบุว่า ตลาดแรงงานสหรัฐแข็งแกร่งทำให้ Fed จะยังไม่ลดดอกเบี้ย
“ตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่งกว่า ที่คาดการณ์ไว้ โดยการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 177,000 ตำแหน่ง สูงกว่าที่คาดไว้ที่138,000 ตำแหน่ง แม้จะชะลอลงจากเดือนมีนาคมที่เพิ่มขึ้น 185,000 ตำแหน่ง อัตราการว่างงานยังคงที่ที่ 4.2% อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการจ้างงานจากภาคเอกชน ADP ลดลงอย่างต่อเนื่อง (เมษายนอยู่ที่ 62,000 ตำแหน่ง และเฉลี่ย 3 เดือนอยู่ที่ 98,000 ตำแหน่ง) ทั้งนี้การว่างงานที่ทรงตัว การจ้างงานที่อยู่ในระดับสูง (แม้มีแนวโน้มชะลอลง) ขณะที่อัตราเงินเฟ้อแม้ยังตาแต่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในอนาคต บ่งชี้สถานการณ์ Mild Stagflation ทำเรายังคงประมาณการว่า Fed จะไม่ลดดอกเบี้ย ในการประชุมวันที่ 6-7 พฤษภาคม”
กสิกรไทยคาด คาดเฟดคงดอกเบี้ย เหตุรอดูผลกระทบนโยบายภาษีที่ยังไม่แน่นอน
ดร.ลลิตา เธียรประสิทธิ์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในการประชุม FOMC วันที่ 6-7 พฤษภาคม ซึ่งเป็นรอบที่ 3 จากทั้งหมด 8 รอบในปีนี้ คาดว่าเฟดจะคงดอกเบี้ยต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีที่ระดับ 4.25-4.50% เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้
- รอดูผลกระทบจากมาตรการปรับขึ้นภาษีนำเข้า โดยมาตรการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ยังคงมีความไม่แน่นอนสูงหลังจากมีการชะลอการปรับขึ้นภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (Reciprocal tariffs) ออกไป 90 วัน ขณะที่การปรับขึ้นภาษีศุลกากรกับสินค้าจีนถึง 145% มีโอกาสปรับลดลงได้บ้างหลังสหรัฐฯ และจีนมีท่าทีพร้อมเจรจา
- แนวโน้มเงินเฟ้อในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูงและมีโอกาสเร่งสูงขึ้นจากภาษีนำเข้าที่สูงขึ้น แม้เงินเฟ้อเดือนมี.ค. 2568 ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานวัดจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปรับลงมาอยู่ที่ 2.4% และ 2.8% ตามลำดับ ขณะที่เงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานวัดจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ที่เฟดให้ความสำคัญ ปรับลดลงมาอยู่ที่ 2.3% และ 2.6% ตามลำดับ
- ตลาดแรงงานชะลอลง แต่ยังไม่เปลี่ยนแปลงจากแนวโน้มอย่างมีนัยสำคัญ โดยอัตราการว่างงานเดือนมี.ค. 2568 ปรับสูงขึ้นเล็กน้อยจาก 4.1% ในเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ 4.2% ขณะที่ยอดผู้ขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสัปดาห์ 20-26 เม.ย. 2568 เพิ่มสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบสองเดือนที่ 241,000 ราย แต่ยังถือว่าเป็นตัวเลขที่ยังไม่น่ากังวล อย่างไรก็ดี คาดว่าตัวเลขตลาดแรงงานในระยะข้างหน้าคงจะเห็นผลกระทบที่เพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอลง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคาดว่า Fed จะปรับลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ จากเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญจากผลกระทบที่ชัดเจนขึ้นของการปรับขึ้นภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (Reciprocal tariffs) หลังการชะลอการปรับขึ้นภาษีฯ สิ้นสุดลง
UOB คาดดอกเบี้ย Fed ปลายปีเหลือ 3.75%
UOB Group Research คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ไม่เปลี่ยนแปลงที่ระดับ 4.25 – 4.5%ในการประชุมวันที่ 6-7 พฤษภาคมนี้ (ผลการตัดสินใจจะประกาศใน 8 พฤษภาคม เวลา 01.00 น. ตามประเทศไทย) สอดคล้องกับความเห็นส่วนใหญ่ทั่วโลก
หลังจากรายงานการประชุม (FOMC Minutes) ประจำเดือนมีนาคม และคำชี้แจงของเจ้าหน้าที่ Fed หลายคนก่อนช่วง Silent Period ยืนยันว่า Fed จะยึดแนวทางการรอและดู (Wait-and-See Approach) เพื่อรับมือกับความเสี่ยงเงินเฟ้อ ซึ่งอาจเกิดจากนโยบายภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ
แต่ในอนาคต UOB คงการคาดการณ์ว่า Fed ลดอัตราดอกเบี้ยไว้ 0.25% อีก 3 ครั้ง (ครั้งละไตรมาส) ซึ่งจะทำให้ Fed Funds Target Rate (FFTR) ไปอยู่ที่ 3.75% ภายในสิ้นปีนี้
BOE จ่อลดดอกเบี้ยวันพฤหัสบดีนี้
ตามผลสำรวจของ Bloomberg (ณ วันที่ 5 พฤษภาคม) นักเศรษฐศาสตร์ 34 คนที่ทำการสำรวจ คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ซึ่งจะประชุมอัตราดอกเบี้ยในวันพฤหัสบดีที่ 8 พฤษภาคมนี้ จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยธนาคารอย่างเป็นทางการลง 0.25% ไปสู่ระดับ 4.25% ในการประชุมครั้งนี้ สอดคล้องกับมุมมองของ Lee Sue Ann นักเศรษฐศาสตร์ของ UOB
นอกจากนี้ ในกรณีฐาน Lee Sue Ann มองว่า BOE จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยทุกไตรมาส โดยจะลดอัตราดอกเบี้ยต่ออีก 3 ครั้งในปีนี้
จับตาทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย ‘ไทย’ ช่วงที่เหลือของปี
หลังจากการประชุม กนง. วันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ มีมติไม่เป็น เอกฉันท์ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ลงมาอยู่ที่ระดับ 1.75% สำนักเศรษฐกิจต่างๆ ก็ปรับมุมมองดังนี้
กสิกรไทยคาด กนง. ลดอีกอย่างน้อย 1 ครั้ง
ดร.ลลิตา เธียรประสิทธิ์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดกนง. ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอีกอย่างน้อย 1 ครั้งในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ ตามแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงครึ่งปีหลัง โดยจุดจับตาคงอยู่ที่การประชุมรอบเดือนสิงหาคม หลังจากการชะลอการปรับขึ้นภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ของสหรัฐฯ จะสิ้นสุดลงในวันที่ 9 กรกฎาคม ซึ่งกนง. คงต้องประเมินความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย จากอัตราภาษีศุลกากรที่สหรัฐฯ จะประกาศเรียกเก็บกับสินค้าไทยรวมถึงประเทศคู่ค้าและคู่แข่งอื่นๆ ภายใต้การรักษาเสถียรภาพทางการเงิน โดยกนง. คงพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยในจังหวะที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดภายใต้ขีดความสามารถของนโยบายการเงิน (Policy Space) ที่มีจำกัด
กรุงไทยคาด กนง. อาจลดดอกเบี้ยสู่ระดับ 1.50% จับตา ‘บาทแข็ง’ อันดับ 3 ในภูมิภาค
ขณะที่ กฤษฏิ์ ศรีปราชญ์ นักวิเคราะห์ Krungthai COMPASS คาด กนง. อาจพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมสู่ระดับ 1.50% จากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบรุนแรงจากนโยบายการค้าสหรัฐฯ โดยมองว่าช่วงเวลาของการตัดสินนโยบายครั้งต่อไป กนง. จะพิจารณาจากพัฒนาการของการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ หลังพ้นกรอบระยะเวลายกเว้นการเก็บภาษี 90 วัน และพัฒนาการของเศรษฐกิจไทย เพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดจาก Policy Space ที่มีจำกัด
“ในระยะข้างหน้าต้องติดตามช่วงเวลาและขนาดของการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ของ กนง. ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาท หลังแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยไทยมีทิศทางต่ำลง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ (Fed) ยังไม่ความไม่แน่นอนจากผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้าที่อาจส่งผลให้เงินเฟ้อสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้นอีกครั้ง โดยเงินบาทในช่วงนับตั้งแต่การเลือกตั้ง ปธน.สหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2024 มีทิศทางแข็งค่าสูงกว่าประเทศในภูมิภาค โดยเป็นรองเพียงญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์เท่านั้น”
SCB EIC มองดอกเบี้ยไทยไปอยู่ที่ 1.25% ณ สิ้นปีนี้
SCB EIC มองว่า กนง. จะลดดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้ง สู่ระดับ 1.25% ภายในสิ้นปี เพื่อรองรับเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มชะลอลงตามความไม่แน่นอนที่ปรับสูงขึ้นมา เหตุมอง กนง. สื่อสารชัดว่านโยบายการเงินจำเป็นต้อง ‘ผ่อนคลาย’
“ในการสื่อสารครั้งนี้ กนง. มองว่านโยบายการเงินจำเป็นต้องอยู่ในระดับที่ผ่อนคลาย เอื้อต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจและครัวเรือนต่อสถานการณ์การค้าโลกที่มีความตึงเครียดและผันผวน โดยไม่ได้ให้คำนิยามว่าเป็น Easing cycle แต่อย่างใด เนื่องจาก Shock ที่เข้ามากระทบกับเศรษฐกิจไม่ได้มีลักษณะที่เป็น Shock ครั้งเดียวและรุนแรงดังเช่นในวิกฤติการเงินโลก (Global Financial Crisis) แต่พร้อมที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งแตกต่างจากการสื่อสารในครั้งก่อนๆ ที่พยายามเน้นย้ำว่านโยบายการเงินยังควรมีสถานะเป็นกลาง (Neutral) ต่อเศรษฐกิจ กล่าวคือไม่ได้เร่งหรือฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจ” SCB EIC ระบุ