วันนี้ (1 พฤษภาคม) ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า สภาพอากาศที่ร้อนจัดเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี อาหารบูดเสียง่าย และเพิ่มความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรคในอาหาร น้ำดื่ม หรือน้ำแข็ง ซึ่งสอดคล้องกับรายงานจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง ที่พบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงในพื้นที่แล้วถึง 3,237 ราย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 25 เมษายน 2568
ด้าน ยุพิน โจ้แปง ผู้อำนวยการสำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย กล่าวว่า โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน หรือท้องเสียท้องร่วง ติดต่อได้ง่ายจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ไม่สะอาด การสัมผัสสิ่งปนเปื้อน หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่สุขาภิบาลไม่ดี ด้วยความห่วงใยประชาชนในช่วงที่อากาศร้อนเอื้อต่อการระบาด จึงขอเน้นย้ำ 5 ข้อแนะนำง่ายๆ ในการป้องกันตนเอง ได้แก่
- กินอาหารปรุงสุกใหม่ หลีกเลี่ยงอาหารดิบหรือหมักดอง ใช้ช้อนกลาง เลือกร้านอาหารที่ได้มาตรฐาน ‘SAN’ และกินน้ำแข็งที่สะอาด
- ล้างมือให้สะอาด ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ ทุกครั้งก่อนปรุงอาหาร ก่อนกินอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ หรือหลังสัมผัสสิ่งสกปรก
- ดื่มน้ำสะอาด ปลอดภัย เลือกซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดที่มีเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน
- ดูแลความสะอาด ในบ้าน สิ่งแวดล้อมรอบตัว และจัดการขยะมูลฝอยอย่างถูกสุขลักษณะ
- หากมีอาการท้องเสีย ให้ดื่มผงเกลือแร่ (ORS) ทันที หากอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์
ขณะเดียวกัน ภิญญาพัชญ์ จุลสุข ผู้อำนวยการกองอนามัยฉุกเฉิน ได้ขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ ให้เร่งดำเนินมาตรการควบคุม กำกับ ดูแลด้านสุขาภิบาลและสุขอนามัยในสถานที่เสี่ยงต่างๆ เช่น ร้านอาหาร โรงเรียน สถานประกอบการ แหล่งท่องเที่ยว
โดยให้ตรวจประเมิน เฝ้าระวังการปนเปื้อนในอาหาร น้ำ น้ำแข็ง และสุขอนามัยของผู้สัมผัสอาหาร ประสานกับท้องถิ่นในการบังคับใช้กฎหมายสาธารณสุข ให้คำแนะนำในการจัดการกระบวนการผลิตอาหารและน้ำดื่มให้สะอาดปลอดภัย รวมถึงการดูแลส้วม และเน้นย้ำการสื่อสารสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในการเลือกซื้ออาหารที่สะอาด ปลอดภัย และปฏิบัติตามหลัก ‘กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ’ อย่างเคร่งครัด
หากประชาชนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคอุจจาระร่วงหรือสุขอนามัย สามารถติดต่อสอบถามได้ที่สายด่วนกรมอนามัย โทร. 1478