เมื่อวันที่ 30 เมษายน หลัง กนง. มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 2% เป็น 1.75% ต่อปี โดยให้มีผลทันที ทั้งนี้ 2 เสียง เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
ภายหลังการประกาศอัตราดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าว สักกะภพ พันธ์ยานุกูล เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำประมาณการเศรษฐกิจในฉากทัศน์ต่างๆ โดยมี 2 สมมติฐานหลัก คือ Reference Scenario และ Alternative Scenario
ซึ่ง Alternative Scenario ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า ทุกประเทศเจรจาลดภาษีได้ครึ่งหนึ่งของ Reciprocal Tariff ตั้งแต่ไตรมาส 3 ปีนี้ โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มเข้าสู่ Technical Recession ในปีนี้
ขณะเดียวกันทุกประเทศเจรจาลด Reciprocal Tariff ได้ครึ่งหนึ่งจากที่สหรัฐฯ ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ (ในส่วนของไทยถูกประกาศไว้ที่ 36%) และจีนถูกขึ้นภาษี 72.5%
หากเป็นไปตามสมมติฐานนี้ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ไทยในปี 2569 อาจทำได้เพียง 1% จากปี 2568 ซึ่งคาดว่าจะทำได้ 1.3%
“หลักๆ ผลกระทบที่จะเห็นจะผ่านเรื่องการลงทุนภาคเอกชน เพราะความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น ในแง่ของการลงทุนจะทำได้น้อยลงมากกว่าเดิม เพราะฉะนั้นประมาณการณ์เรื่องการลงทุนภาคเอกชนก็จะลดลง”
อย่างไรก็ดี สมมติฐานฉากทัศน์ Alternative Scenario น่าจะมีโอกาสเกิดได้น้อยกว่า ซึ่งหากเป็นกรณีนี้สหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบมาก และอาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เองมีโอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession)
ส่วนประเด็นการลดดอกเบี้ยในครั้งนี้จะเป็นการเข้าสู่วัฏจักรดอกเบี้ยขาลง (Easing cycle) หรือไม่นั้น สักกะภพกล่าวว่า หากจะเห็นการลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง “คงต้องเห็นเศรษฐกิจที่ลดลงรุนแรง อย่างในช่วงวิกฤตการเงินโลกหรือวิกฤตโควิด ที่เราลดดอกเบี้ยรวมทั้งหมด 1.5% และ 2% (ตามลำดับ) แต่รอบนี้เศรษฐกิจโลกไม่ได้ถูกกระทบเท่ากับช่วงโควิด”
สำหรับมุมมองของ ธปท. ในปัจจุบัน สักกะภพกล่าวว่า “ตอนนี้ในแง่ของมุมมองก็เปลี่ยนไปคืออยู่ในช่วงที่เรียกว่า ปรับให้มีภาวะผ่อนคลาย”
สถานการณ์ปัจจุบันยังอยู่ในระยะเริ่มต้นเท่านั้น เศรษฐกิจโลกน่าจะชะลอตัวลง และสถานการณ์น่าจะยืดเยื้อและทอดยาว กระทบกับโครงสร้างการผลิตและการค้าโลก ในแง่นโยบายการค้าโลกยังคาดเดาได้ยาก
ด้านความเสี่ยงเรื่องของ Technical recession คือ การเติบโตของ GDP ติดลบติดต่อกัน 2 ไตรมาส ในฉากทัศน์ Reference Scenario ไม่น่าจะเกิดขึ้น แต่หากเป็น Alternative Scenario มีความเสี่ยงสูงขึ้นจากผลกระทบที่ทอดยาว แต่ไม่ได้ให้น้ำหนักมาก