×

ผู้ว่าการ สตง. ชี้แจงข้อสังเกตการใช้เฟอร์นิเจอร์แพง บอกเจ้าหน้าที่เกิน 80% นั่งราคาปกติ ย้ำไม่มีห้องดูหนัง แต่เป็นแบบหนึ่งของห้องประชุม

โดย THE STANDARD TEAM
30.04.2025
  • LOADING...

วันนี้ (30 เมษายน) ที่อาคารรัฐสภา มณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ชี้แจงกรณีที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า โครงการก่อสร้างตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ใช้เฟอร์นิเจอร์ที่มีราคาสูง โดยอธิบายว่า ในการออกแบบ สมมติว่ามีเงินอยู่ 300 ล้านบาท สร้างสำนักงาน 1 หลังพร้อมอยู่ และจ้างคนออกแบบพร้อมครุภัณฑ์ในอาคารแต่ละชั้น ที่ต้องระบุอย่างชัดเจนว่า ครุภัณฑ์มาจากห้างร้านไหน

 

มณเฑียรกล่าวต่อไปว่า สตง. มีหน้าที่ตรวจว่าการออกแบบครุภัณฑ์นั้นเหมาะสมเชื่อถือได้หรือไม่ กรณีเป็นที่เป็นข่าวนั้น คือครุภัณฑ์ที่อยู่ระหว่างการออกแบบ แต่จะเป็นครุภัณฑ์จริงๆ ได้ ต้องมีการก่อสร้างให้เสร็จ และหลังก่อสร้างเสร็จก็ต้องดูว่าเหมาะสมตามแบบราชการหรือไม่ 

 

“สำหรับในส่วนราชการหากมีการปรับแบบ เพิ่มงานเท่ากับเพิ่มเงิน ลดงานก็เท่ากับลดเงิน ซึ่งปัจจุบันแบบของ สตง. ได้มีการลดเงิน”

 

สำหรับกรณีฝักบัวราคาราว 10,000 กว่าบาท และเก้าอี้ห้องประชุมตัวละราว 90,000 บาทนั้น มณเฑียรชี้แจงว่า สตง. มีเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 2,400 คน เก้าอี้ตัวละ 1-2 หมื่นบาท โดยปกติการสร้างบริษัทจะกำหนดว่าชั้นที่สูงเป็นพื้นที่สำหรับผู้บริหาร

 

“ดังนั้นครุภัณฑ์จะมีการออกแบบตามฐานะ เก้าอี้แพงมีเพียงชุดเดียวคือเก้าอี้ของประธานและเก้าอี้ของกรรมการในห้องประชุม หลายคนเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ สตง. ทุกคนต้องนั่งเก้าอี้ตัวละ 90,000 บาท แต่ความจริงไม่ใช่ ดูรายละเอียดจากกรมบัญชีกลางได้ เจ้าหน้าที่เกิน 80% นั่งเก้าอี้ปกติ ปัจจุบันทุกบริษัทต้องมีห้องน้ำ หากไปดูแบบของฝักบัวมีอยู่ 2 แบบ เมื่อทำจริงเอาทั้ง 2 แบบมารวมกัน ฝักบัวจึงแพง” 

 

มณเฑียรอธิบายเพิ่มเติมว่า ผู้ที่ออกแบบได้เสนอราคาครุภัณฑ์มา สตง. มีหน้าที่ดูว่าเหมาะสมหรือไม่ และดูว่าบริษัทผู้ออกแบบได้อ้างอิงครุภัณฑ์ชิ้นดังกล่าวมาจากร้านใด ราคาถูกต้องหรือไม่ ก่อนย้ำว่าเป็นขั้นตอนการออกแบบไม่ใช่ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง 

 

ขณะที่ประเด็นเก้าอี้ตามฐานะหากเทียบตำแหน่งของบริหารในสำนักงานก็เทียบเท่าระดับรัฐมนตรี ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย สามารถศึกษาได้ ว่าประธานเทียบเท่าตำแหน่งอะไร หรือตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเทียบเท่าตำแหน่งอะไร กฎหมายมีเขียนไว้ 

 

ส่วนที่มีการออกมาเปิดเผยว่ามีห้องฉายภาพยนตร์ในอาคารสำนักงาน สตง. นั้น มณเฑียรชี้แจงว่า ทั้งหมดเรียกว่าห้องประชุม หลังห้องประชุมจะเขียนว่าเป็นห้องแบบใด เช่น ห้อง Classroom และห้อง Theater ย้ำว่าไม่มีห้องฉายภาพยนตร์ เป็นเพียงลักษณะของห้องประชุม จึงขอแก้ข่าวว่า สตง. ไม่มีห้องดูหนัง

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising