×

ศาลพิษณุโลกไม่อนุญาตให้ถอดกำไล EM พอล แชมเบอร์ส ชี้ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง แม้ถูก ตม. เพิกถอนวีซ่าแล้ว

โดย THE STANDARD TEAM
29.04.2025
  • LOADING...
พอล แชมเบอร์ส นักวิชาการอเมริกันที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 ขณะศาลพิษณุโลกไม่อนุญาตให้ถอดกำไล EM

วันนี้ (29 เมษายน) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานความคืบหน้าคดีมาตรา 112 ของ พอล เวสลีย์ แชมเบอร์ส นักวิชาการชาวอเมริกัน อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยนเรศวร ล่าสุดเมื่อวานนี้ (28 เมษายน) เวลา 15.40 น. พอลได้เดินทางไปยังศาลจังหวัดพิษณุโลก เพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาถอดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) ที่ข้อเท้า ซึ่งถูกติดตั้งมาตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน ภายใต้เงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว

 

ภายหลังการพิจารณาคำร้องเป็นเวลาราว 1 ชั่วโมง ในเวลา 16.40 น. ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า “กรณีไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งอนุญาตของศาลอุทธรณ์ภาค 6 ให้ยกคำร้อง” ซึ่งหมายความว่า พอลจะยังคงต้องสวมใส่อุปกรณ์กำไล EM ต่อไป ซึ่งทีมทนายความของพอลเตรียมที่จะยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 6 เพื่อให้พิจารณาในประเด็นนี้อีกครั้ง

 

สำหรับคดีนี้สืบเนื่องจากกรณีที่แม่ทัพภาค 3 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 (ผอ.รมน. ภาค 3) ได้มอบอำนาจให้นายทหารไปแจ้งความดำเนินคดีกับพอล ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากกรณีที่มีการเผยแพร่คำโปรย หรือข้อความแนะนำงานเสวนาวิชาการบนเว็บไซต์ของสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak ซึ่งเป็นสถาบันวิชาการในประเทศสิงคโปร์

 

เมื่อวันที่ 8 เมษายน หลังจากที่พอลทราบว่าศาลได้ออกหมายจับ จึงได้เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา และถูกนำตัวไปขออำนาจศาลฝากขัง ซึ่งศาลจังหวัดพิษณุโลกได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวถึงสองครั้งในวันเดียวกัน ทำให้ทีมทนายความต้องยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ภาค 6

 

ต่อมาในวันที่ 9 เมษายน ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวพอลระหว่างการสอบสวน โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือ การวางหนังสือเดินทางไว้ที่ศาลจังหวัดพิษณุโลก ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น การแต่งตั้งผู้กำกับดูแลระหว่างการปล่อยตัวชั่วคราว และการติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) ที่ข้อเท้าของพอล เมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่ผ่านมาในการยื่นคำร้องขอถอด EM ครั้งล่าสุด ดร.พอล ได้ชี้แจงเหตุผลสำคัญหลายประการ โดยประเด็นแรกคือ เขาไม่ใช่ผู้เขียนและโพสต์ข้อความที่เป็นเหตุในเว็บไซต์ของ ISEAS และข้อมูลที่ผู้กล่าวหานำมานั้น มาจากเฟซบุ๊กของบุคคลที่มีลักษณะโจมตีทางการเมือง ซึ่งต่อมา กอ.รมน. ภาค 3 เองก็ยอมรับว่าได้รับข้อมูลดังกล่าวมาจากเฟซบุ๊กของ ‘อัษฎางค์ ยมนาค’ ทำให้เกิดข้อสงสัยถึงความน่าเชื่อถือของมูลเหตุแห่งการกล่าวหา

 

นอกจากนี้พอลยังยืนยันถึงความบริสุทธิ์ใจและเจตนาที่จะต่อสู้คดีในประเทศไทยอย่างเปิดเผย โดยการวางหนังสือเดินทางไว้กับศาลเพื่อแสดงให้เห็นว่าจะไม่หลบหนี อีกทั้งยังมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ทำให้การติดตามตัวไม่เป็นอุปสรรค ประกอบกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้มีคำสั่งเพิกถอนวีซ่าและกำหนดเงื่อนไขให้พอลต้องรายงานตัวทุกเดือน พร้อมวางหลักทรัพย์ประกันเพิ่มเติมอีก 300,000 บาท ซึ่งถือเป็นมาตรการควบคุมที่เข้มงวดและเพียงพอแล้ว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising