×

Winning Culture และเบื้องหลังที่นำลิเวอร์พูลคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกอีกครั้ง

28.04.2025
  • LOADING...
ลิเวอร์พูล คว้า แชมป์พรีเมียร์ลีก

HIGHLIGHTS

  • สิ่งสำคัญที่สุดที่ เจอร์เกน คล็อปป์ ได้หลงเหลือไว้ให้คือสิ่งที่เรียกว่า “วัฒนธรรมองค์กร” ซึ่งลิเวอร์พูลนั้นมี “Winning Culture” หรือ “วัฒนธรรมของผู้ชนะ” อยู่เต็มเปี่ยม
  • ข้อมูลของฮิวจ์ส ได้นำทางให้มาพบกับ อาร์เน สลอต โค้ชแห่งทีมฟเยนอร์ด ในลีกดัตช์ ซึ่งแม้จะไม่ได้เป็นตัวเลือกที่โดดเด่นเหมือนคนอื่น แต่ข้อมูลบอกว่ามีหลายอย่างที่เขาน่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับลิเวอร์พูล โดยเฉพาะพื้นฐานระบบการเล่นที่ใกล้เคียงกับฟุตบอลของคล็อปป์
  • การค้นพบครั้งนี้เป็นการค้นพบที่สำคัญในระดับปรากฏการณ์ เพราะไรอัน คราเฟนแบร์ก กลายเป็นกองกลางตัวรับที่ครบเครื่องที่มีความสำคัญอย่างมากต่อระบบการเล่นของทีมในยุคของสลอต
  • ตลอดฤดูกาล 2024/25 ลิเวอร์พูลแสดงให้เห็นว่าพวกเขาคือทีมที่สม่ำเสมอที่สุด โดยมีสถิติตัวเลขที่น่าตกใจในการเปรียบเทียบผลงาน 16 นัดแรก กับ 17 นัดต่อมา ตัวเลขสถิติหลายอย่างใกล้เคียงกันอย่างไม่น่าเชื่อ เช่น จำนวนแต้ม 39 กับ 40, จำนวนประตูได้ 37 กับ 38, จำนวนประตูเสีย 15 กับ 16 เป็นต้น
  • ฟุตบอลเป็นกีฬาประเภททีม แต่ต้องยอมรับว่าในแต่ละทีมที่ประสบความสำเร็จจะต้องมีผู้เล่นที่โดดเด่นกว่าคนอื่นเสมอ สำหรับลิเวอร์พูล จะเป็นใครอื่นไม่ได้นอกจากโม ซาลาห์

ในช่วงสุดท้ายของสารคดี “Doubters to Believers Liverpool FC: Klopp’s Era” เจอร์เกน คล็อปป์ที่อยู่ในความรู้สึกที่ยากจะบรรยายเพราะกำลังจะต้องไปจากทีมที่เขารัก ได้กล่าวคำปริศนาทิ้งท้ายเอาไว้ได้อย่างน่าสนใจ

 

เขารู้ว่าลิเวอร์พูลทีมนี้ที่เขาสร้างมาจะอยู่รอดปลอดภัย

 

และบางทีอาจจะทำได้ดีกว่าเดิมด้วย

 

คำพูดนี้กลายเป็นดังคำทำนาย เพราะในที่สุดหลังการรอคอยที่ยาวนานถึง 35 ปี ลิเวอร์พูลได้กลับมาฉลองแชมป์พรีเมียร์ลีกร่วมกับเหล่าเดอะ ค็อป ในสนามแอนฟิลด์ของพวกเขาอีกครั้ง

 

ทั้งๆ ที่ก่อนเริ่มต้นฤดูกาลพวกเขาไม่ได้เป็นแม้กระทั่งหนึ่งในทีมเต็งที่หลายคนจับตามอง ด้วยเพราะนี่เป็นฤดูกาลแรกที่ไม่มี เจอร์เกน คล็อปป์ บอสใหญ่ที่ตัดสินใจอำลาทีมไปด้วยเหตุผลของคนหมดแรงซึ่งทำให้ไม่มีใครคิดว่าลิเวอร์พูลจะมีโอกาส

 

อาร์เน สลอต ผู้รับช่วงต่อพาลิเวอร์พูลเป็นแชมป์พรีเมียร์ลีก – แชมป์ลีกสูงสุดสมัยที่ 20 ของอังกฤษ – อีกครั้งได้อย่างไร?

 

บางทีทุกอย่างนั้นอาจจะเริ่มต้นต้ังแต่ในช่วงเวลาของการบอกลาของคล็อปป์แล้ว

 

 

บทเพลงในวันอำลา

 

วันสุดท้ายของฤดูกาล 2023/24 เป็นวันที่แฟนลิเวอร์พูลไม่อยากให้มาถึงมากที่สุด

 

เพราะนั่นหมายถึงนี่คือวันสุดท้ายแล้วที่พวกเขาจะมีเจอร์เกน คล็อปป์ เป็นผู้จัดการทีม

 

ตลอดระยะเวลา 9 ปีครึ่ง คล็อปป์คือชายผู้เข้ามาเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่างภายในทีมที่เคยตกต่ำและหลงทางไม่รู้จะหวนกลับมาหาความยิ่งใหญ่อีกครั้งได้อย่างไรในยุคของฟุตบอลทุนนิยม ด้วยการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่สำคัญที่สุด

 

สิ่งนั้นคือการเปลี่ยนแปลงความสงสัยให้กลายเป็นความเชื่อ “From Doubters to Believers”

 

แต่ในโมงยามของความเศร้าที่หลายคนทั้งในสนามแอนฟิลด์และหน้าจอโทรทัศน์ทั่วโลกกำลังน้ำตารื้น คล็อปป์ที่กลับมาอำลาทุกคนหลังจบเกมในชุดเสื้อฮูดดี้สีแดงพร้อมข้อความ “Thank You Luv” กลับไม่แสดงอาการของคนโศกเศร้าออกมาให้เห็นแม้แต่น้อย มีแต่รอยยิ้มให้

 

พร้อมกับชวนทุกคนร้องเพลงหนึ่งที่กลายเป็นการประกาศแต่งตั้ง “ผู้สืบทอด”​ ของเขาอย่างเป็นทางการ แม้ว่าจะไม่มีการประกาศใดๆจากสโมสรก็ตาม

 

“Arne Slot…La la la la la” 

 

เพลงนี้กลายเป็นการเปิดประตูสู่ยุคสมัยใหม่ของลิเวอร์พูล Post Klopp Era 

 

ที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม

 

 

ตำนานผู้สืบทอด

 

ครั้งหนึ่งลิเวอร์พูลเองก็เคยมีช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านอันยิ่งใหญ่แบบนี้เช่นเดียวกัน

 

ในฤดูกาล 1973/74 บิลล์ แชงคลีย์ มหาบุรุษผู้เป็นบิดาที่วางรากฐานความยิ่งใหญ่ของสโมสรฟุตบอลสีแดงแห่งเมอร์ซีย์ไซด์ ตัดสินใจที่จะวางมือจากการเป็นผู้จัดการทีม โดยคนที่ได้รับเลือกให้เป็นผู้สืบทอดคือ บ็อบ เพสลีย์ มือขวาคนสนิทผู้เป็นผู้นำแห่งกลุ่ม “Bootroom Staff” ในตำนานอันลือลั่น 

 

ด้วยความยิ่งใหญ่ของแชงคลีย์ที่ไม่ต่างอะไรจากการเป็นผู้ถางทาง ปูอิฐ ก่อกำแพง สร้างหลังคาให้ลิเวอร์พูลได้มีบ้านหลังใหญ่ ทำให้น้อยคนจะเชื่อว่าผู้สืบทอดอย่างเพสลีย์จะแบกรับสิ่งเหล่านี้ได้

 

แต่ปรากฏว่าเพสลีย์ทำได้ และทำได้ดียิ่งกว่าแชงคลีย์เสียอีกในแง่ของจำนวนถ้วยรางวัลที่พิชิตได้ด้วย 6 แชมป์ลีกสูงสุด (ดิวิชัน 1 ในชื่อเดิม), 3 แชมป์ยุโรป (ยูโรเปียน คัพ ในชื่อเดิม), 1 แชมป์ยูเอฟา คัพ, 3 แชมป์ ลีก คัพ และ 6 แชมป์แชริตี ชิลด์

 

โดยเฉพาะถ้วยแชมป์ยูโรเปียน คัพ ที่แม้แต่แชงคลีย์ก็ยังทำไม่ได้

 

แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นแตกต่างจากในปัจจุบัน เพราะแชงคลีย์เป็นผู้เลือกผู้สืบทอดของเขาด้วยตัวเอง ซึ่งเพสลีย์ก็ไม่ต่างอะไรจาก “ศิษย์เอก” ที่รู้งานทุกอย่างภายในสโมสรเป็นอย่างดีอยู่แล้ว และเข้าใจในปรัชญาการเล่นของทีมแบบ Pass & Move ที่วางรากฐานใหม่

 

แล้วลิเวอร์พูลในยุคปัจจุบันเลือกผู้สืบทอดอย่างไร? 

 

 

Data นำทางให้เรามาพบกัน

 

เรื่องนี้ต้องยกความดีความชอบให้แก่ ริชาร์ด ฮิวจ์ส ผู้อำนวยการสโมสรคนใหม่ที่ถูกดึงตัวมาจากบอร์นมัธ ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอย่างยิ่งในระดับบริหารของสโมสร เนื่องจากตำแหน่ง Dirctor of sport ของลิเวอร์พูลว่างมาเป็นเวลาร่วมปี

 

ฮิวจ์ส – ซึ่งเป็นคนคุ้นเคยของไมเคิล เอ็ดเวิร์ดส อดีตผู้อำนวยการสโมสรที่ถูก FSG กลุ่มทุนเจ้าของสโมสรลิเวอร์พูลดึงตัวกลับมานั่งแท่นซีอีโอด้านฟุตบอลบริหารกิจการสโมสรในเครือ – เป็นหนึ่งในคนสายบริหารที่ได้รับการยอมรับในวงการฟุตบอลอังกฤษ มีประสบการณ์และคอนเน็กชันในวงการในระดับที่ไม่ธรรมดา ที่สำคัญคือเป็นผู้บริหารหัวก้าวหน้าที่ไม่ใช้ความรู้สึกนำหน้าในการตัดสินใจ แต่ใช้การวิเคราะห์ข้อมูล (Data analysis) เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

 

กระบวนการคัดเลือกคนเพื่อมาแทนที่คล็อปป์ ซึ่งเป็นงานที่ยากอย่างยิ่ง เริ่มต้นอย่างเป็นทางการภายหลังจากการประกาศข่าวการตัดสินใจอำลาสโมสรของบอสใหญ่ชาวเยอรมันในช่วงปลายเดือนมกราคม แม้ว่าผู้บริหารระดับสูงสุดของสโมสรจะทราบเรื่องตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงการตัดสินใจของคล็อปป์

 

โจทย์นั้นไม่ได้อยู่ที่การจะหาใครเพื่อมา “แทนที่” เพราะไม่มีใครที่แทนคล็อปป์ได้

 

แต่เป็นการหาใครสักคนที่จะรับช่วงต่อและใช้ “มรดก” ที่อดีตบอสใหญ่สร้างไว้ให้ไปต่อยอดได้อย่างดีที่สุด

 

ในช่วงเวลานั้นมีชื่อของผู้จัดการทีมระดับท็อปของยุโรปหลายคนที่อยู่ในข่าย โดยเฉพาะชื่อที่สร้างความตื่นเต้นได้มากอย่าง ชาบี อลอนโซ อดีตกองกลางขวัญใจชาวแอนฟิลด์ที่พาไบเออร์ เลเวอร์คูเซน สร้างตำนานคว้าแชมป์บุนเดสลีกาสมัยแรกได้ด้วยทีมที่มีสไตล์การเล่นเร้าใจที่สุด

 

อีกคนคือ รูเบน อโมริม กุนซือคนหนุ่มไฟแรงแห่งสปอร์ติง ลิสบอน ที่ได้รับการยกย่องว่ามีโอกาสจะเป็น “นิว มูรินโญ”​ ด้วยสไตล์การทำทีมที่ยอดเยี่ยม มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

 

แต่สุดท้ายข้อมูลของฮิวจ์ส ได้นำทางให้มาพบกับอาร์เน สลอต โค้ชแห่งทีมฟเยนอร์ด ในลีกดัตช์ ซึ่งแม้จะไม่ได้เป็นตัวเลือกที่โดดเด่นเหมือนคนอื่น แต่ข้อมูลบอกว่ามีหลายอย่างที่เขาน่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับลิเวอร์พูล โดยเฉพาะพื้นฐานระบบการเล่นที่ใกล้เคียงกับฟุตบอลของคล็อปป์

 

นั่นหมายถึงทีมไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้าง ทุกอย่างเดินหน้าต่อจากสิ่งที่มีอยู่เดิมได้เลย

 

และความมหัศจรรย์ก็คือทุกอย่างเป็นไปดังนั้นจริงๆ

 

 

บทเพลงเดิมแต่เปลี่ยนท่วงทำนอง

 

ฟุตบอลของคล็อปป์เป็นที่จดจำในความเร้าใจดุเดือดในแบบ “Heavy Metal Football” เพรสซิงดุดันแบบ “Gegenpressing”

 

แล้วฟุตบอลของอาร์เน สลอตเป็นแบบไหน?

 

เรื่องนี้เป็นคำถามที่ไม่เฉพาะแฟนลิเวอร์พูล แต่แฟนบอลทั่วโลกเองก็อยากรู้เหมือนกันว่าลิเวอร์พูลจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน จะเล่นแบบเดิม หรือจะเล่นแบบใหม่ 

 

คำตอบนั้นได้เห็นกันลางๆ ในช่วงของการอุ่นเครื่องพรีซีซัน ซึ่งแม้จะเริ่มต้นได้ไม่สวยด้วยการแพ้เปรสตัน นอร์ธเอนด์ ในเกมอุ่นเครื่องแบบปิด แต่หลังจากนั้นลิเวอร์พูลค่อยๆ เก็บชัยชนะได้ถึง 4 นัดติดต่อกัน รวมถึงการชนะอาร์เซนอล และแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ได้อย่างน่าประทับใจในการทัวร์สหรัฐอเมริกา

 

แต่สไตล์การเล่นแบบใหม่นั้นได้เห็นกันชัดเจนขึ้นหลังฤดูกาลใหม่เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อลิเวอร์พูลแสดงให้เห็นว่าพวกเขาเริ่มเปลี่ยนแปลงสไตล์ของตัวเองใหม่ จากเดิมที่จะวิ่งบดขยี้เข้าใส่คู่แข่งอย่างหนักหน่วงตลอดทั้งเกม กลายเป็นการเพรสซิงแบบหวังผลที่เน้นจังหวะความแม่นยำมากขึ้น

 

เช่นกันกับการเล่นที่เปลี่ยนจาก Direct football ที่พร้อมเปลี่ยนจังหวะการเล่นจากรับเป็นรุกตลอดเวลา สู่การครอบครองบอล เคาะบอลตามช่อง เพื่อรอจังหวะการเข้าทำที่เหมาะสม

 

ลิเวอร์พูลยุคใหม่ของอาร์เน สลอตจึงอาจไม่ถึงกับการเป็นบทเพลงใหม่เสียทั้งหมด แต่เป็นเหมือนการเล่นเพลงเดิมที่เคยเพราะอยู่แล้วในท่วงทำนองใหม่ที่เบาลง นิ่งขึ้น และกินแรงน้อยกว่าเดิม

 

เรื่องนี้กลายเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ลิเวอร์พูลยืนระยะในฤดูกาลที่ยาวนานได้

 

 

พระเจ้าอยู่ในรายละเอียด

 

หากความเร็วเป็นเรื่องของปีศาจ พระเจ้าก็อยู่ในรายละเอียด

 

พระเจ้าของลิเวอร์พูลคือการใส่ใจทุกรายละเอียด ทุกขั้นตอน ซึ่งทีมงานชุดใหม่ของสลอตประกอบไปด้วย

 

  • ซิปเก ฮุลส์ชอฟฟ์ มือขวาคนสนิทที่ตามมาจากฟเยนอร์ด,
  • รูเบน ปีเตอร์ส ผู้ดูแลสภาพความฟิตของทีมซึ่งเป็นเบื้องหลังความสำเร็จ
  • จอห์นนี ไฮติงกา อดีตนักเตะเอฟเวอร์ตันที่ถูกดึงตัวมาเป็นทีมงานคนสำคัญของสลอต,
  • ฟาเบียน อ็อตต์ โค้ชผู้รักษาประตู
  • เคลาดิโอ ทัฟฟาเรล โค้ชผู้รักษาประตูอีกคนซึ่งเป็นทีมงานชุดเดิมของคล็อปป์ที่หลงเหลืออยู่
  • อารอน บริกส์ โค้ชพัฒนาศักยภาพผู้เล่น
  • เจมส์ เฟรนช์ หัวหน้าแผนกวิเคราะห์

 

ทีมงานเหล่านี้มาพร้อมกับไอเดียใหม่ๆ ในการทำงาน ยกตัวอย่างเช่น การนำแว่นพิเศษมาใช้ฝึกผู้รักษาประตูซึ่งเป็นแว่นที่จะทำให้มองเห็นได้แคบลง ผู้รักษาประตูต้องพยายามฝึกการมองโดยรอบ (Peripheral vision) เป็นการฝึกสายตาให้ก้าวขีดจำกัดไปอีกขั้น

 

หรือเรื่องของการประเมินขีดจำกัดร่างกายของผู้เล่น ที่จะมีการตรวจข้อมูลอย่างละเอียดยิบทุกขั้นตอนตั้งแต่การซ้อมจนถึงการแข่ง เพื่อดูสภาพร่างกายว่าขณะนี้สภาพร่างกายอยู่ในระดับไหน มีความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายหรือไม่ และทีมควรจะเล่นในระดับไหนเพื่อรักษาสภาพร่างกายเอาไว้

 

รายละเอียดต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้ลิเวอร์พูลก้าวได้อย่างมั่นคงและต่อเนื่อง

 

 

Winning Culture ที่ไม่เคยหายไป

 

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่างานของสลอตที่ว่าเหมือนจะยากจนแทบเป็นไปไม่ได้นั้น ในอีกด้านก็ถือว่าเป็นงานที่ง่ายขึ้นเพราะทุกอย่างของลิเวอร์พูล คล็อปป์ทำมาไว้ให้แล้ว

 

แม้กระทั่งในฤดูกาลสุดท้ายที่รู้ตัวว่าจะต้องอำลาทีม คล็อปป์ก็เลือกจะเปลี่ยนแกนสำคัญที่สุดของทีมอย่างเด็ดขาดด้วยการซื้อกองกลางเข้ามาถึง 4 รายด้วยกัน อันได้แก่ อเล็กซิส แม็ค คัลลิสเตอร์, โดมินิก โซโบสไล, ไรอัน คราเฟนแบร์ก และวาตารุ เอ็นโด

 

อย่างไรก็ดีสิ่งสำคัญที่สุดที่คล็อปป์ได้หลงเหลือไว้ให้คือสิ่งที่เรียกว่า “วัฒนธรรมองค์กร” ซึ่งลิเวอร์พูลนั้นมี “Winning Culture” หรือ “วัฒนธรรมของผู้ชนะ” อยู่เต็มเปี่ยม จากช่วงเวลา 9 ฤดูกาลที่อยู่กับทีมมา ซึ่งนอกจากประสบความสำเร็จกวาดแชมป์ครบทุกรายการแบบ “Complete” (1 พรีเมียร์ลีก, 1 แชมเปียนส์ ลีก, 1 เอฟเอ คัพ, 2 ลีกคัพ, 1 สโมสรโลก, 1 ยูเอฟา ซูเปอร์ คัพ) ยังผ่านการไล่ล่าแชมป์อย่างต่อเนื่อง

 

ทีมชุดนี้จึงเต็มไปด้วยผู้เล่นที่ผ่านความสำเร็จ มีประสบการณ์ กระหายชัยชนะ พร้อมทุ่มเททำทุกสิ่งทุกอย่างอย่างดีที่สุดเพื่อชัยชนะ เล่นเพื่อชัยชนะ เล่นเพื่อทีม เล่นเพื่อแฟนฟุตบอล ซึ่งการจะสร้างสิ่งเหล่านี้นั้นไม่ใช่เรื่องที่สามารถทำได้ง่าย และไม่ใช่เรื่องที่จะใช้เงินซื้อได้

 

การจะสร้าง Winning Culture ต้องใช้ความพยายามในการปรับจูนความคิด Mindset ของสมาชิกทุกคนในทีมให้เป็นไปในทางเดียวกัน ให้เชื่อในแบบเดียวกัน และทำในแบบเดียวกัน

 

กาลเวลาและความเจ็บปวดจากความผิดหวังคือสิ่งที่ทุบตีให้จิตใจแข็งแกร่ง มี Mentality ที่ไม่ยอมแพ้ต่ออะไรง่ายๆ ซึ่งครั้งหนึ่งลิเวอร์พูลเคยถูกจดจำด้วยคำว่า “Mentality Monster”

 

สิ่งเหล่านี้ยังคงเหลืออยู่ภายในทีม และรอเวลาที่จะถูกปลดปล่อยอีกครั้ง ซึ่งอาร์เน สลอต ไม่เพียงแค่ได้รับมอบกุญแจต่อจากคล็อปป์ เขายังรู้วิธีที่จะร่ายคาถาเพื่อคลายสะกดประตูหัวใจนักเตะด้วย

 

 

Less is more ใช้นักเตะน้อยแต่มาก

 

ความมหัศจรรย์ในการเป็นแชมป์ของลิเวอร์พูลในฤดูกาลนี้คือการที่พวกเขาแทบไม่ได้ปรับทัพเสริมทีมเลย

 

นักเตะคนเดียวที่ถูกซื้อเข้ามาคือเฟเดริโก คิเอซา กองหน้าทีมชาติอิตาลี ที่ย้ายมาจากยูเวนตุสด้วยค่าตัวเพียงแค่ 12.5 ล้านปอนด์ก่อนตลาดการซื้อขายฤดูร้อนจะปิดตัวลง ขณะที่เป้าหมายหลักที่เคยเกือบจะย้ายมาคือ มาร์ติน ซูบิเมนดี ห้องเครื่องทีมชาติสเปนจากเรอัล โซเซียดัด ตัดสินใจล้มการเจรจาเพราะไม่อยากหักกับต้นสังกัด

 

เรื่องนี้เป็นที่วิพากษ์อยู่พอสมควรในช่วงเวลานั้นเพราะจากผลงานในฤดูกาล 2023/24 ค่อนข้างชัดเจนว่าลิเวอร์พูลมีจุดที่ควรทำให้ดีขึ้นหากต้องการจะกลับมาเป็นทีมที่ประสบความสำเร็จ การที่คนที่มีหน้าที่ในการดูแลการจัดหาผู้เล่น (ซึ่งสลอตไม่มีอำนาจตรงนี้เหมือนคล็อปป์) อย่างฮิวจ์ส เสริมทัพให้ทีมแค่รายเดียวดูจะเป็นการประมาทอย่างรุนแรง

 

แต่สลอตทำในสิ่งที่สมควรได้รับการปรบมือให้ด้วยการใช้ผู้เล่น “เท่าที่มี” ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดและคุ้มค่าที่สุด

 

แม้ว่าในช่วงปลายฤดูกาลผลงานของลิเวอร์พูล การเล่นดูจะอ่อนแรงลงจากช่วงครึ่งฤดูกาลแรกจนสังเกตได้และเริ่มมีการพูดถึงขุมกำลังที่กรำศึกใช้งานมาอย่างหนักตลอดทั้งฤดูกาล แต่สำหรับสลอต ในมุมของเขาแล้วทีมไม่จำเป็นต้องหมุนเวียนเปลี่ยนผู้เล่นมากมาย

 

สิ่งสำคัญกว่าคือการที่ทุกคนรู้บทบาทหน้าที่ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นตัวหลักอย่างโม ซาลาห์ หรือตัวประกอบขวัญใจแฟนบอลอย่าง วาตารุ เอ็นโด 

 

 

ผลิดอกและออกใบ

 

อีกสิ่งที่สลอตทำคือการเปลี่ยนแปลงผู้เล่นหลายคนให้เติบโตเป็นผู้เล่นที่ดีขึ้น

 

คนที่ต้องได้รับการกล่าวถึงเป็นพิเศษคือ ไรอัน คราเฟนแบร์ก กองกลางชาวดัตช์ที่ย้ายมาจากบาเยิร์น มิวนิกในช่วงฤดูกาลที่แล้วด้วยค่าตัว 34.2 ล้านปอนด์ ซึ่งกลายเป็นการค้นพบครั้งสำคัญของสลอตและลิเวอร์พูล

 

โดยหลังจากที่การคว้าตัวซูบิเมนดี ล้มเหลวทางด้านสลอต ไม่ได้เรียกร้องขอให้ฮิวจ์สช่วยหากองกลางคนไหนเข้ามาทดแทน แต่ขอลองเปลี่ยนบทบาทของคราเฟนแบร์ก จากเดิมที่จะได้เล่นในบทกองกลางตัวขับเคลื่อนเกม (หรือหมายเลข 8) มาเป็นกองกลางตัวรับ (หมายเลข 6) แทน

 

การค้นพบครั้งนี้เป็นการค้นพบที่สำคัญในระดับปรากฏการณ์ เพราะคราเฟนแบร์ก กลายเป็นกองกลางตัวรับที่ครบเครื่องที่มีความสำคัญอย่างมากต่อระบบการเล่นของทีมในยุคของสลอตที่เน้นการครองบอล ด้วยความสามารถเฉพาะตัว ทักษะการเล่นพลิกบอลในที่แคบ และวิสัยทัศน์ (Vision) ในการเล่นที่สูง ทำให้ควบคุมจังหวะการเล่นในแดนกลางร่วมกับ อเล็กซิส แม็ค คัลลิสเตอร์ ได้อย่างยอดเยี่ยม

 

แต่คราเฟนแบร์ก ไม่ใช่คนเดียวเท่านั้นที่สลอตเปลี่ยนแปลง

 

ยังมีเทรนต์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ แบ็กขวาผู้โดดเด่นด้านการสร้างสรรค์เกมรุกแต่ถูกโจมตีอย่างหนักเรื่องเกมรับว่าเป็นจุดอ่อนของทีมที่จะโดนคู่แข่งเล่นงานเสมอ 

 

ด้วยการชี้แนะของสลอต (และความตั้งใจส่วนตัวของเทรนต์) ทำให้เกมรับของเขาได้รับการพัฒนาขึ้น ด้วยการใส่ใจในรายละเอียดทุกอย่าง แม้กระทั่งองศาในการเปิดหน้าเข้าหาคู่แข่ง และจังหวะในการเข้าถึงบอล ซึ่งแบ็กขวาจอมเปิดบอลพร้อมเรียนรู้และรับคำติทุกครั้งที่ทำพลาดเพื่อให้เกิดการพัฒนา

 

โคดี คักโป ตัวรุกอเนกประสงค์ที่ถูกคล็อปป์ใช้งานหลากหลายตำแหน่งแม้กระทั่งการถอยลงมายืนกองกลางตัวรุกถูกจับกลับไปใช้งานในตำแหน่งที่จะเป็นประโยชน์ที่สุดอย่างปีกซ้าย ซึ่งกองหน้าทีมชาติเนเธอร์แลนด์ที่สลอตคุ้นเคยอย่างดีกลับมาเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดในแนวรุกของทีม ด้วยผลงานรวม 16 ประตูในฤดูกาลนี้

 

 

มหัศจรรย์ซาลาห์

 

ฟุตบอลเป็นกีฬาประเภททีม แต่ต้องยอมรับว่าในแต่ละทีมที่ประสบความสำเร็จจะต้องมีผู้เล่นที่โดดเด่นกว่าคนอื่นเสมอ

 

สำหรับลิเวอร์พูล จะเป็นใครอื่นไม่ได้นอกจากโม ซาลาห์ ผู้สร้างผลงานมหัศจรรย์ในฤดูกาลนี้ และมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกอีกครั้งของลิเวอร์พูล

 

ในฤดูกาลนี้ซาลาห์ กลับมาระเบิดฟอร์มการเล่นที่ร้อนแรงอีกครั้ง นับเฉพาะในพรีเมียร์ลีกจนถึงเกมที่ 33 เขาทำไปแล้ว 27 ประตูกับ 18 แอสซิสต์ หรือคิดเป็นการมีส่วนร่วมกับประตูมากถึง 45 ประตูด้วยกัน ขนาดที่ซูเปอร์สตาร์ชาวอียิปต์ประสบปัญหาฟอร์มการเล่นตกลงในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา

 

ไม่นับเรื่องการเจรจาต่อสัญญาใหม่ที่ยืดเยื้อ ซึ่งสามารถส่งผลต่อเรื่องของสมาธิ ความทุ่มเทในการเล่นได้ แต่ซาลาห์ไม่ยอมให้เรื่องเหล่านี้มากระทบใจ (แม้จะมีการส่งสัญญาณความไม่พอใจถึงสโมสรหลายครั้ง) ยังคงตั้งหน้าตั้งตาเล่นในสนามอย่างดีที่สุดทุกนัด

 

โดยเบื้องหลังแล้วทุกสิ่งทุกอย่างที่ซาลาห์ทำได้นั้นเริ่มจากการดูแลตัวเองอย่างดีให้พร้อมที่สุดทั้งทางร่างกาย ที่แม้จะวัยล่วงเข้า 32 ปีแต่สภาพร่างกายยังสด แข็งแกร่งเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือเรื่องของชั้นเชิงประสบการณ์ที่มากขึ้น ใช้ไหวพริบในการเอาชนะคู่แข่งมากกว่าแค่ความเร็ว 

 

ขณะที่เรื่องของจิตใจก็มีการฝึกฝนด้วยวิธีที่เรียกว่า Visualization ฝึกสมาธิและฝึกจิตให้พร้อมสำหรับการลงสนามทุกนัด

 

ซาลาห์ ยังพยายามเน้นย้ำกับทุกคนโดยบอกว่าในฐานะผู้เล่นที่มีประสบการณ์สูงของทีมชุดนี้ที่หลงเหลือจากชุดคว้าแชมป์ในฤดูกาล 2019/20 เขาต้องการจะพาผู้เล่นทีมชุดนี้คว้าแชมป์ให้ได้อีกครั้งเป็นอย่างน้อยก่อนที่จะจากทีมไป ซึ่งก็เพื่อเป็นการสืบทอด Winning Culture ของทีมนั่นเอง

 

ในขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นถึงปรัชญาของชีวิต ในการทำวันนี้ให้ดีที่สุด ใช้ชีวิตอย่างดีที่สุด และเก็บเกี่ยวทุกอย่างเอาไว้ให้มากที่สุด เพราะไม่รู้ว่าวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร

 

การนำโดยเป็นแบบอย่าง (Lead by example) ของซาลาห์ มีความสำคัญอย่างมากต่อทุกคนในทีมลิเวอร์พูล เพราะไม่เพียงแค่ทุกคนจะรู้ว่าทีมมีผู้นำที่พึ่งพาได้แบบเขา แต่ยังได้เห็นแบบอย่างในการใช้ชีวิตที่ดี และได้เห็นว่าหากต้องการจะไปอยู่ในจุดสูงสุดนั้นมันต้องแลกมาด้วยความทุ่มเทขนาดไหน

 

โชคดีสำหรับทุกคนที่ลิเวอร์พูลตกลงสัญญากับซาลาห์ได้

 

และซาลาห์ก็ทำได้สำเร็จในการพาทีมเป็นแชมป์อีกครั้ง

 

 

Consistency จงทำดีอย่างสม่ำเสมอ

 

ถึงแม้จะมีการพูดกันว่าการคว้าแชมป์ของลิเวอร์พูลในฤดูกาลนี้ไม่สนุก ไม่ตื่นเต้น เหมือนหลายฤดูกาลที่ผ่านมาที่ต้องวัดกันจนถึงนัดสุดท้าย (และบางครั้งลุ้นกันจนถึงช่วง 15 นาทีสุดท้ายของเกมสุดท้ายก็มี)

 

แต่ในเรื่องนี้ก็สะท้อนให้เห็นถึงสิ่งสำคัญที่สุดที่ลิเวอร์พูลมีแต่คู่แข่งอย่างอาร์เซนอลไม่มีคือเรื่องของความสม่ำเสมอ (Consistency) ซึ่งความจริงแล้วคือสิ่งสำคัญที่สุด

 

ตลอดฤดูกาล 2024/25 ลิเวอร์พูลแสดงให้เห็นว่าพวกเขาคือทีมที่สม่ำเสมอที่สุด โดยมีสถิติตัวเลขที่น่าตกใจในการเปรียบเทียบผลงาน 16 นัดแรก กับ 17 นัดต่อมา ตัวเลขสถิติหลายอย่างใกล้เคียงกันอย่างไม่น่าเชื่อ

 

เช่น จำนวนแต้ม 39 กับ 40, จำนวนประตูได้ 37 กับ 38, จำนวนประตูเสีย 15 กับ 16 เป็นต้น

 

เป็นเรื่องปกติที่จะมีวันที่เล่นได้ยอดเยี่ยม เล่นได้ดี และเล่นได้ไม่ดี แต่ไม่ว่าฟอร์มในวันนั้นจะเป็นแบบไหน ลิเวอร์พูลจะสามารถเก็บผลการแข่งขันที่พวกเขาต้องการได้เสมอ ในขณะที่คู่แข่งทีมอื่นต่างสะดุดเป็นว่าเล่น

 

โดยที่การสะดุดของคู่แข่งเป็นว่าเล่นนั้น ไม่ได้มีความหมายว่างานของลิเวอร์พูลง่าย เพราะในอีกมุมหนึ่งคือคุณภาพของพรีเมียร์ลีกสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะสำหรับทีมระดับกลางที่เป็นตัวแปรอย่าง ไบรท์ตัน, คริสตัล พาเลซ, บอร์นมัธ หรือ เบรนต์ฟอร์ด ที่พร้อมช่วงชิงแต้มจากทีมใหญ่ได้เสมอ

 

และหากมองถึงผลงานในภาพรวม ทีมที่เพิ่งแพ้มาแค่ 2 นัดจาก 33 นัด ก็พอจะแทนคำตอบได้เป็นอย่างดีว่าทำไมพวกเขาถึงคู่ควรกับการเป็นแชมป์

 

 

Never Give Up ชนะเพราะไม่เคยยอมแพ้

 

แต่ถึงจะสม่ำเสมอแค่ไหน มันย่อมมีเกมที่พิสูจน์หัวจิตหัวใจของทีม

 

ลิเวอร์พูลในยุคของอาร์เน สลอต พิสูจน์ให้เห็นว่าทีมนี้ไม่ได้มีเพียงแค่เลือดเนื้อ แต่พวกเขายังมีหัวใจที่ไม่ยอมแพ้ใครเหมือนยุคของคล็อปป์

 

ในฤดูกาลนี้มีหลายเกมที่ลิเวอร์พูลตกอยู่ในสถานการณ์เป็นรองแต่สามารถพลิกสถานการณ์กลับมาได้ด้วยการไม่ยอมแพ้ ไม่ว่าจะเป็น เกมเยือนอาร์เซนอลที่เอมิเรตส์ สเตเดียม ซึ่งโม ซาลาห์ ทำประตูตีเสมอให้ทีมในช่วง 10 นาทีสุดท้ายก่อนกลับออกมาด้วยผล 2-2

 

ก่อนจะต่อด้วยเกมยากกับไบรท์ตัน ที่แอนฟิลด์ ซึ่งโดนนำไปก่อนอีกครั้ง แต่โคดี คักโป และซาลาห์​ช่วยกันทำคนละประตูในช่วงเวลาห่างกัน 2 นาทีให้ทีมพลิกกลับมาเอาชนะได้ 2-1 ก่อนที่จะต่อด้วยเกมกับเซาแธมป์ตัน ที่เซนต์ แมร์รี ซึ่งถูกเจ้าบ้านพลิกขึ้นนำ 2-1 แต่แก้ไขสถานการณ์กลับมาจนแซงเอาชนะได้อย่างสุดมัน 3-2

 

ไม่นานมานี้ในเกมที่พบกับเวสต์แฮม ยูไนเต็ด ซึ่งทำท่าเหมือนจะสะดุดอีกครั้งเมื่อพลาดโดนตีเสมอได้ก่อนหมดเวลาแค่ 4 นาที ในเกมที่เล่นกันไม่ออก อืด เนือย แต่หลังจากนั้นก็กลับมาได้สำเร็จด้วยการขึ้นมาแก้ตัวโขกพังประตูชัยของ เวอร์จิล ฟาน ไดจ์ค ช่วยให้ทีมคว้า 3 คะแนนที่ทำให้เข้าใกล้แชมป์

 

ต่อด้วยการยิงประตูชัยของเทรนต์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ ที่สลัดอาการบาดเจ็บลงมาช่วยทีมในเกมกับเลสเตอร์ ซิตี 

 

หัวจิตหัวใจที่ไม่ยอมก้มหัวต่อการยอมแพ้ การไม่ยอมให้สถานการณ์ความกดดันใดๆ ซึ่งรวมถึงเรื่องกระแสข่าวการต่อสัญญาของ 3 แกนหลักอย่าง ซาลาห์, ฟาน ไดจ์ค และเทรนต์ เข้ามาทำลายทุกสิ่งทุกอย่างที่ทุกคนพยายามสร้างร่วมกันมา ทำให้ลิเวอร์พูลเดินทางมาถึงวันนี้

 

วันแห่งคำสัญญาที่ทุกคนจะได้กลับมาร่วมฉลองแชมป์ลีกสูงสุด สิ่งที่บิลล์ แชงคลีย์ เคยบอกว่านี่แหละคือ “Bred and butter” ของทีมอย่างลิเวอร์พูล ในสมัยที่ 20 มากที่สุดในอังกฤษอีกครั้งเทียบเท่าแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

 

นี่ยังเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ชาวดัตช์อย่างอาร์เน สลอต ผู้สมควรได้รับคำสดุดีจากการสร้างสิ่งมหัศจรรย์ที่เรียบง่ายตลอดทั้งฤดูกาล รวมถึง เวอร์จิล ฟาน ไดจ์ค ที่เป็นกัปตันทีมชาวดัตช์คนแรกที่นำทีมคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกได้

 

ด้วยความหวังของเหล่าเดอะ ค็อป ว่ามันจะไม่ใช่เพียงแค่ครั้งเดียวในยุคสมัยนี้

 

แต่ตอนนี้ขอให้ทุกคนได้ฉลองร่วมกันอีกครั้งก่อน หลังจากที่คราวที่แล้วซึ่งเป็นการคว้าแชมป์แรกในรอบ 30 ปี ไม่มีโอกาสได้ฉลองร่วมกันในแอนฟิลด์เพราะสถานการณ์โควิด

 

And now you’re gonna believe us.

 

We are the champions…again at last!

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising