×

‘ทนเจ็บได้-เล่นเกมยาว’ เปิดไพ่ในมือจีน รับมือสงครามภาษีทรัมป์

25.04.2025
  • LOADING...

สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ เดินหน้าอย่างเต็มที่ โดยประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ กำหนดภาษีศุลกากรตอบโต้ ต่อสินค้าจีนที่นำเข้ามาในสหรัฐฯ สูงถึง 145% ในขณะที่จีนตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีสินค้าสหรัฐฯ สูงถึง 125%

 

การเผชิญหน้ากันครั้งนี้ ไม่เพียงแต่นำไปสู่ความขัดแย้งครั้งประวัติศาสตร์ และบั่นทอนความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศให้เลวร้ายลง แต่ยังสร้างความเจ็บปวดให้กับเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง

 

ขณะที่รัฐบาลปักกิ่งและประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แสดงจุดยืนชัดเจนว่า ‘ไม่มีทางยอม’ และพร้อมที่จะสู้ในสงครามนี้จนถึงที่สุด อีกทั้งยังยืนกรานหนักแน่นว่าจะไม่เจรจาใดๆ จนกว่าสหรัฐฯ​ จะเป็นฝ่ายยกเลิกมาตรการภาษีดังกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม คำถามสำคัญคือ ทำไมจีนจึงไม่หวั่นเกรงต่อมาตรการภาษีของทรัมป์ ในขณะที่ทั่วโลกร้อนรนและต้องหาทางคุยแก้ปัญหากับวอชิงตัน

 

จีนมีไพ่อะไรในมือ และสิ่งที่มีอยู่จะช่วยให้ชนะในสงครามการค้าครั้งนี้ได้หรือไม่

 

ทนเจ็บระยะสั้น หวังผลระยะยาว

 

จีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ในแง่หนึ่งหมายความว่า สามารถอดทนและดูดซับผลกระทบจากมาตรการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ได้ดีกว่าประเทศเล็กๆ อื่นๆ 

 

ขณะที่ยังมีประชากรมากกว่าพันล้านคน และมีตลาดในประเทศขนาดใหญ่ ที่สามารถช่วยบรรเทาแรงกดดันบางส่วน จากผู้ส่งออกที่กำลังได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ

 

มูฟเมนต์หนึ่งที่สะท้อนความพยายาม ‘ยืนหยัดด้วยตัวเอง’ ของรัฐบาลจีน คือการยอมเจ็บในระยะสั้น แต่หวังผลในระยะยาวจากการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ

 

โดยปีนี้ รัฐบาลจีนประกาศเป้าหมายใหญ่ ในการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศของชาวจีน และกำหนดนโยบายสร้างแรงจูงใจต่างๆ เช่น เงินอุดหนุนสำหรับซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ไปจนถึงนโยบาย ‘รถไฟสีเงิน’ ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุภายในขบวนรถไฟ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในกลุ่มประชากรวัยเกษียณ

 

มาตรการภาษีของทรัมป์ ยังจุดชนวนความเป็นชาตินิยมของจีนให้รุนแรงขึ้น โดยนักวิเคราะห์ชี้ว่า บรรดาผู้นำในพรรคคอมมิวนิสต์พร้อมและยินดีที่จะอดทนต่อความเจ็บปวดจากผลกระทบของสงครามภาษี ดีกว่าจะยอมจำนนต่อคำขู่และท่าทีของทรัมป์ ที่เหมือนกับการใช้อำนาจรุกรานและข่มเหงรังแก

 

ขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์ยังปลูกฝังกระแสชาตินิยมแก่ประชาชน ผ่านสื่อกระบอกเสียงของรัฐ ที่เรียกร้องให้ชาวจีน “ฟันฝ่าพายุไปด้วยกัน” 

 

ในฐานะระบอบเผด็จการ จีนยังมีขีดจำกัดที่แบกรับความเจ็บปวดได้สูงกว่าหลายประเทศประชาธิปไตย เนื่องจากมีความกังวลน้อยมากเกี่ยวกับความคิดเห็นของสาธารณชนในระยะสั้น เพราะไม่มีการเลือกตั้งและไม่ต้องแคร์ความนิยมของประชาชนที่จะตัดสินอนาคตรัฐบาลและผู้นำประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การเมืองภายในจะแข็งแกร่ง แต่จีนเองยังคงเผชิญปัญหาเศรษฐกิจที่น่ากังวล โดยเฉพาะวิกฤตอสังหาริมทรัพย์และอัตราว่างงานที่เพิ่มสูงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา 

 

ซึ่งความไม่แน่นอนจากผลกระทบของสงครามการค้ากับสหรัฐฯ อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันต่อวิกฤตเหล่านี้ และอาจกลายเป็นอุปสรรคที่ฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจจีน

 

จีนเตรียมพร้อมตั้งแต่ทรัมป์ 1.0

 

วิกเตอร์ ชิห์ (Victor Shih) นักรัฐศาสตร์และผู้อำนวยการศูนย์จีนศตวรรษที่ 21 (21st Century China Center) ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก ชี้ว่าจีนได้เตรียมตัวรับมือสงครามการค้ากับสหรัฐฯ มานานกว่า 6 ปี นับตั้งแต่ยุครัฐบาลทรัมป์ สมัยแรก หรือในช่วงปี 2018 ที่ทรัมป์ เริ่มต้นใช้กำแพงภาษีกับสินค้าจีน และเดินหน้าต่อต้านบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จากจีน เช่น Huawei 

 

โดยจีนมองว่า มีความเป็นไปได้ที่สงครามการค้าจะทวีความรุนแรงขึ้น และสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ กระจายห่วงโซ่อุปทาน ในขณะที่พยายามจัดการกับความท้าทายทางเศรษฐกิจในประเทศ อีกทั้งยังเดินหน้าขยายความสัมพันธ์ทางการค้ากับนานาประเทศในภูมิภาคต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ลดสัดส่วนการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ จากเดิมราว 1 ใน 5 ของทั้งหมด เหลือไม่ถึง 15%

 

สิ่งที่เกิดขึ้น หมายความว่า สหรัฐฯ ไม่ใช่ตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของจีนอีกต่อไป โดยปัจจุบันตลาดส่งออกสำคัญของจีนอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

 

ในขณะที่จีนเอง เป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของ 60 ประเทศในปี 2023 และยังครองตำแหน่งผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก โดยมีตัวเลขเกินดุลการค้าสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ ในสิ้นปี 2024

 

ที่ผ่านมา รัฐบาลปักกิ่ง ยังอัดฉีดเงินหลายพันล้านดอลลาร์ไปกับโครงการขยายความร่วมมือการค้าและโครงสร้างพื้นฐาน ที่รู้จักกันดีในชื่อโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road initiative) เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศโลกใต้ หรือที่เรียกว่า Global South

 

อย่างไรก็ตาม การขยายคู่ค้าของจีน ไม่ได้หมายความว่า จีนจะลดความสำคัญของตลาดสหรัฐฯ ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก แต่หมายความว่า การที่สหรัฐฯ​ จะนำเครื่องมือทางการค้า เช่นการขึ้นภาษี มากดดันจีนให้จนมุมนั้นคงไม่ใช่เรื่องง่าย

 

เอกราชทางเทคโนโลยี

 

ภายใต้การนำของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง การแข่งขันพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ รุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว แม้จะเผชิญการขัดขวางจากสหรัฐฯ

 

ที่ผ่านมา จีนลงทุนอย่างหนักในการสร้างเทคโนโลยีภายในประเทศด้วยตนเอง ตั้งแต่พลังงานหมุนเวียนไปจนถึงชิป รถยนต์ไฟฟ้า และปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เช่น DeepSeek ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นคู่แข่งที่น่าเกรงขามของ ChatGPT 

 

เมื่อไม่นานมานี้ ปักกิ่งได้ประกาศแผนการใช้จ่ายงบประมาณมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วงทศวรรษหน้าเพื่อสนับสนุนนวัตกรรมด้าน AI

 

ขณะที่การพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงเซมิคอนดักเตอร์ ต้องใช้แร่ธาตุหายากหรือ Rare Earth จำนวนมหาศาล โดยรัฐบาลจีนได้สร้างห่วงโซ่อุปทานสำหรับแร่ธาตุหายากและแร่ธาตุสำคัญอื่นๆ เพื่ออัปเกรดเทคโนโลยีการผลิตด้วย AI และหุ่นยนต์ที่มีรูปร่างเหมือนมนุษย์ 

 

จีนเป็นผู้ผลิตสำคัญของโลก

 

จีนเป็นที่รู้จักในฐานะ ‘โรงงานของโลก’ โดยผลกระทบจากมาตรการภาษีของทรัมป์ ส่งผลให้บริษัทต่างๆ ของสหรัฐฯ ต้องพิจารณาย้ายโรงงานผลิตออกจากจีน แต่ไม่สามารถทำได้ง่าย เนื่องจากประเทศอื่นๆ ไม่มีโครงสร้างพื้นฐานและแรงงานที่มีทักษะในระดับเดียวกับที่จีนมี

 

การที่บริษัทผู้ผลิตในจีน อยู่ในทุกขั้นตอนของห่วงโซ่อุปทาน ถือเป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญสำหรับภาคการผลิตของจีนมายาวนานหลายทศวรรษ 

 

โดยประเทศอื่นๆ รวมถึงสหรัฐฯ ที่ต้องการเดินรอยตามและพัฒนาภาคการผลิตของตนเอง คงต้องใช้เวลานานพอสมควร หรืออาจจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำได้เหมือนจีน 

 

จีนผูกขาดแร่หายาก

 

จีนถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีแร่ธาตุหายากจำนวนมาก ซึ่งจำเป็นต่อการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เช่น ดิสโพรเซียม (Dysprosium) ซึ่งใช้ในแม่เหล็ก ในรถยนต์ไฟฟ้า และกังหันลม และแร่อิตเทรียม (Yttrium) ซึ่งเป็นสารเคลือบทนความร้อนสำหรับเครื่องยนต์ไอพ่น

 

การผูกขาดในแร่ธาตุหายาก ทำให้รัฐบาลปักกิ่งนำมาใช้เป็นอาวุธต่อกรมาตรการภาษีของทรัมป์ ด้วยการจำกัดการส่งออกแร่ธาตุหายาก 7 ชนิด ซึ่งรวมถึงแร่ธาตุบางชนิดที่จำเป็นสำหรับการผลิตชิป AI

 

จากการประมาณการของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) คาดว่าจีนมีสัดส่วนการผลิตแร่ธาตุหายาก คิดเป็นประมาณ 61% 

 

ทั้งนี้ ในปี 2024 จีนได้ห้ามการส่งออกแร่ธาตุสำคัญชนิดหนึ่ง คือ แอนติโมนี (Antimony) ซึ่งมีความสำคัญต่อหลายกระบวนการผลิต ทำให้ราคาของมันเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า ท่ามกลางกระแสการซื้อตุนและการค้นหาซัพพลายเออร์ทางเลือก

 

แต่สิ่งที่น่ากลัว คือผลกระทบลักษณะเดียวกันนี้ อาจเกิดขึ้นกับตลาดแร่ธาตุหายาก ซึ่งจะกระทบอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างรุนแรง ตั้งแต่รถยนต์ไฟฟ้าไปจนถึงอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าสหรัฐฯ ​จะเผชิญผลกระทบที่รุนแรงไม่น้อยเช่นกัน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising