Nothing beats a first kiss.
คือประโยคสั้นๆ ที่สรุปใจความสำคัญของหนึ่งในหนังรักคลาสสิกตลอดกาลอย่าง 50 First Dates ของ ปีเตอร์ ซีกัล และ 50 First Kisses เวอร์ชันรีเมกภาษาญี่ปุ่นของ ยูอิจิ ฟูคุดะ ได้อย่างครบถ้วนกระบวนความ
รวมทั้งยังสรุปความรู้สึกของการดูหนังทั้งสองเวอร์ชันที่ว่า ‘ไม่มีอะไรดีไปกว่าการได้ดูหนังเรื่องนี้เป็นครั้งแรก’ ได้อีกด้วย
เพราะในฐานะคนที่เคยดู 50 First Dates มาก่อน เวอร์ชันต้นฉบับที่แสดงนำโดย อดัม แซนด์เลอร์ (รับบทเป็น เฮนรี ร็อธ) และดรูว์ แบร์รีมอร์ (รับบทเป็น ลูซี วิตมอร์) ได้ฝังจูบแรกที่ตราตรึงในหัวใจเรามาเป็นเวลา 14 ปีแล้ว แม้ว่ารอยจูบครั้งล่าสุดของ 50 First Kisses ที่ถึงแม้นักแสดงนำอย่าง ทากายูกิ ยามาดะ (รับบทเป็น ไดสุเกะ ยูเกะ) และมาซามิ นากาซาวะ (รุอิ ฟูจิชิม่า) จะทำได้ดีแค่ไหน ก็ทำได้แค่สร้างความรู้สึกวาบหวามเป็นครั้งคราว และกระตุ้นเตือนความทรงจำถึงจูบแรกที่เราเคยได้รับเพียงเท่านั้น
อธิบายอย่างสั้นๆ สำหรับคนที่ไม่เคยดูเรื่องนี้มาก่อน ทั้งสองเวอร์ชันเล่าเรื่องชายหนุ่มที่ต้องทำหน้าที่เริ่มต้นจีบ และทำให้หญิงสาวคนหนึ่งตกหลุมรักซ้ำๆ ในทุกๆ วัน เพราะอาการป่วยแปลกประหลาดที่ทำให้ความทรงจำของเธอจะถูกรีเซตใหม่ในทุกเช้าที่ตื่นขึ้นมา และเขาจะกลายสภาพเป็นได้แค่ ‘คนแปลกหน้าที่อยากเจอ’ เท่านั้น
พล็อตเรื่องหลักมีเพียงเท่านี้ แต่รายละเอียดระหว่างทางที่น่ารักครบรสต่างหากที่ทำให้เรื่องของคนความจำสั้นสามารถอยู่ในหัวใจคนดูได้อย่างยาวนาน
ถ้าจะยกความดีความชอบให้ใครสักคนหนึ่ง จอร์จ วิง ผู้เขียนบทที่สร้างจักรวาลนี้ขึ้นมาคือคนที่ควรได้รับเครดิตไปเต็มๆ
ทั้งตัวละครหลัก ตัวละครรายล้อมที่มีเสน่ห์ บทพูดที่น่าจดจำ มุกจีบสาวที่ไม่ซ้ำกันในแต่ละวัน ความตลกที่สอดแทรกเข้ามาตลอด ความเศร้าที่เจ็บแต่ไม่ฟูมฟาย และการคลี่คลายสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างจับใจ
ซึ่ง ปีเตอร์ ซีกัล ยืนยันความเชื่อนี้ด้วยการถ่ายทอดทั้งหมดออกมาใน 50 First Dates ได้อย่างสวยงาม และยูอิจิ ฟูคุดะ กำลังยืนยันอีกครั้งใน 50 First Kisses
ยูอิจิเลือกที่จะเคารพเวอร์ชันต้นฉบับด้วยการถอดแบบทุกอย่างมาแทบทั้งหมดเป็นทั้งเหตุการณ์และสถานที่สำคัญ (ร้านอาหาร, ฮาวาย, วาฟเฟิล, สับปะรด, กำแพงสีขาว, สถานพยาบาล, วันเกิดเหตุ, จำนวนครั้งที่จูบ ฯลฯ) ลำดับมุกที่ใช้ในการจีบ บทสนทนา ตัวละครรายล้อมหลายตัวที่เหมือนกันทั้งชื่อ ลักษณะนิสัย และการแต่งตัว (อูล่า, นิก, ซู, ทอม ฯลฯ) รวมทั้งมุมกล้องที่เหมือนกันเป๊ะในหลายๆ ฉาก
และเขาก็ถ่ายทอดทุกอย่างออกมาได้อย่างน่าชื่นชมโดยเฉพาะซีนตลก (ยูอิจิเป็นผู้กำกับที่ถนัดหนังสายตลก ผลงานเด่นคือ Gintama เวอร์ชันคนแสดง) ที่ตลกมาก อย่างมุกพ่วงแบตและแกล้งโดนปล้นที่ทำให้ทำเผลอหัวเราะออกมาเสียงดังมาก ทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง รวมทั้งการใส่มุกตลกแบบเอเชียเข้าไปในหนังที่มีสไตล์อเมริกันจัด อย่างมุกบทสนทนาตามน้ำเหมือนที่เราเห็นจากซิตคอมของไทยหลายๆ เรื่องก็เรียกเสียงหัวเราะจากคนดูได้ดีเหมือนกัน
ถ้าไม่นับเรื่องขยี้ประเด็น ‘เกย์’ ของตัวละครน้องชายนางเอกที่ใน 50 First Dates เลือกนำเสนอมุมมองนี้อย่างเป็นธรรมชาติ ทั้งๆ ที่เรื่องนี้สร้างขึ้นเมื่อ 14 ปีที่แล้ว ในวันที่เรื่องความหลากหลายทางเพศยังไม่ใช่ประเด็นหลักที่คนพูดถึง แต่ใน 50 First Kisses ที่เกิดมาในยุคที่ทุกคนออกมาพูดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ แต่เรื่องนี้กลับทำให้การเป็นเกย์ของน้องชายนางเอกเป็นเรื่องตลก และจะโดนพ่อดุอยู่เสมอเมื่อแสดงพฤติกรรมบางอย่างออกมา ซึ่งถือว่าเป็นทัศนคติที่ล้าหลัง ขำขื่น และเป็นจุดที่เราไม่ชอบที่สุดในหนังเรื่องนี้
ที่เหลือเป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่เราเสียดายอย่างการหายไปของ จ็อกโก้ วอลรัสจอมเจ้าชู้ และวิลลี่ เพนกวินผู้น่าสงสาร ในเวอร์ชันต้นฉบับที่โผล่มาขโมยซีนอยู่บ่อยๆ รวมทั้งเพลงประกอบหนัง Forgetful Lucy ของวง The Beach Boys ที่พระเอกร้องให้นางเอกฟัง จนทำให้ ‘เพลง’ กลายเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญของเรื่องที่เรารู้สึกว่าขาดหายไปพอสมควรใน 50 First Kisses
เพลง Forgetful Lucy จากฉากสำคัญในหนังเรื่อง 50 First Dates
ส่วนเรื่องตัวละครหลัก ถึงแม้เราจะเทใจให้การที่พระเอกเป็นสัตวแพทย์ดูแลสัตว์น้ำที่มีความฝันที่จะล่องเรือไกลออกไปสำรวจพฤติกรรมใต้น้ำของตัววอลรัสมากกว่า แต่การเปลี่ยนให้พระเอกเป็นไกด์ประจำฮาวายที่มีความฝันอยากเป็นนักวิจัยที่ค้นพบความลับใหม่ๆ ของจักรวาลก็ดูเหมาะสมกับบริบทในปัจจุบันที่คนส่วนใหญ่มีอีลอน มัสก์ เป็นไอดอล
แต่ในเรื่องฝีมือการแสดงและเคมีที่เข้ากันของพระเอก-นางเอก เราถือว่าสอบผ่านทั้งสองเวอร์ชัน ไม่ว่าจะเป็นคู่ของอดัมและดรูว์ หรือคู่ของทากายูกิและมาซามิ ก็มีความน่ารักในแบบของตัวเองที่พรีเซนต์ความเป็นอเมริกันและญี่ปุ่นได้อย่างน่ารัก ไหลลื่น ไม่มีจุดติดขัด
แต่อย่างที่บอกไว้ตั้งแต่ต้นว่าใจความหลักของการดูหนังเรื่องนี้อยู่ที่ครั้งแรก ต่อให้ทากายูกิและมาซามิจะทำได้ดีแค่ไหนก็ไม่สามารถลบรอย ‘จูบแรก’ ที่อดัมและดรูว์ประทับเอาไว้ได้อยู่ดี ขณะเดียวกันสำหรับคนที่เพิ่งดู 50 First Kisses เป็นครั้งแรกก็คงประทับใจกับทากายูกิและมาซามิจนไม่สนใจว่า 50 First Dates เวอร์ชันต้นฉบับจะซาบซึ้งและน่าประทับใจเพียงใดก็ตาม
ตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง 50 First Kisses
- 50 First Dates เข้าฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2004 โดยทำรายได้ทั่วโลกไป 196.3 ล้านเหรียญสหรัฐ จากทุนสร้าง 75 ล้านเหรียญสหรัฐ
- โรคที่นางเอกในเรื่องป่วยเรียกว่า Goldfish Syndrome คืออาการที่สมองส่วนความทรงจำระยะสั้นเสียหาย โดยผู้ป่วยจะมีความทรงจำระยะยาวก่อนเกิดเหตุครบทั้งหมด เพียงแต่ทุกข้อมูลที่ได้รับหลังจากนั้นจะถูกรีเซตใหม่เมื่อนอนหลับและตื่นขึ้นมา
- นอกจาก 50 First Kisses ยังมีเรื่อง 50 Primeras Citas ที่นำ 50 First Dates มารีเมกในเวอร์ชันเม็กซิโกที่กำลังอยู่ในช่วงโพสต์โปรดักชัน คาดว่าน่าจะเข้าฉายภายในปีนี้