วันนี้ (7 มีนาคม) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เผยแพร่เอกสารชี้แจงขั้นตอนการดำเนินการทำคำร้อง สำนวน เรื่องคัดค้านการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ว่า เมื่อคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนได้รับสำนวนแล้ว ให้ดำเนินการสืบสวนหรือไต่สวนและจัดทำความเห็น เพื่อเสนอให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดมีความเห็นประกอบสำนวน
เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ ให้จัดส่งสำนวนไปยังสำนักงาน กกต.ส่วนกลางโดยเร็ว เมื่อส่วนกลางได้รับสำนวนจากสำนักงาน กกต.ประจำจังหวัด ให้พนักงานสืบสวนและไต่สวนผู้รับผิดชอบสำนวนดำเนินการวิเคราะห์สำนวนและจัดทำความเห็นเลขา กกต. เพื่อเสนอให้คณะอนุกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งพิจารณา
เมื่อคณะอนุกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งได้รับสำนวน ต้องพิจารณาจัดทำความเห็นและเสนอสำนวนให้ กกต.พิจารณา เมื่อ กกต. ได้รับสำนวน ต้องพิจารณาชี้ขาดหรือสั่งการโดยเร็ว
ทั้งนี้ ในการพิจารณาของทุกลำดับชั้น หากเห็นว่าสำนวนยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์สามารถสั่งให้ดำเนินการสืบสวนหรือไต่สวนเพิ่มเติมก่อนมีความเห็นได้
กกต. ได้มีประกาศเรื่อง กำหนดระยะเวลาในกระบวนการยุติธรรมของสำนักงาน กกต. พ.ศ. 2566 ข้อ 4 ว่า ‘การกำหนดระยะเวลามีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า แต่ต้องไม่ให้เกิดผลกระทบต่อความเป็นอิสระในการอำนวยความยุติธรรมหรือการดำเนินงานโดยสุจริตของบุคคลใดไม่ว่าทางใด’
ทั้งนี้ในการเลือกตั้ง สว. มีคำร้อง/ความปรากฏ จำนวนทั้งสิ้น 577 เรื่อง ดังนี้
- เรื่องที่ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 299 เรื่อง
พิจารณาคำร้องแล้ว 224 เรื่อง แบ่งเป็น
-
- สั่งไม่รับ/รวบรวมเป็นข้อมูล 100 เรื่อง
- สั่งยกคำร้อง/สั่งยุติเรื่อง 122 เรื่อง
- สั่งนับคะแนนใหม่ 2 เรื่อง
วินิจฉัยชี้ขาดสำนวนแล้ว 75 สำนวน แบ่งเป็น
-
- ยกคำร้อง 62 สำนวน
- ระงับสิทธิ์ 2 สำนวน
- ดำเนินคดีอาญา 6 สำนวน
- ยื่นคำร้องต่อศาล 5 สำนวน
- เรื่องที่อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 278 เรื่อง
-
- ตรวจคำร้อง ตรวจสอบ ตรวจมูล 1 เรื่อง
- เสนอสั่งไม่รับรายงานตรวจสอบ รายงานตรวจมูล 17 เรื่อง
- สืบสวนไต่สวน 5 สำนวน
- สำนักงาน กกต. สรุปสำนวน จัดทำความเห็น เลขาธิการ กกต. 106 สำนวน
- สำนักงาน กกต. เสนอสำนวนต่ออนุกรรมการวินิจฉัยฯ 100 สำนวน
- สำนักงาน กกต. อยู่ระหว่างเสนอสำนวนเข้าสู่วาระการประชุม กกต. 49 สำนวน