Standard Chartered คาดแบงก์ชาติตรึงดอกเบี้ยไว้ที่ 2.25% ถึงกลางปี ก่อนหั่นครั้งแรกและครั้งเดียวในมิถุนายนเป็นต้นไป เหลือ 2.00% ต่อปี ท่ามกลางความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าระหว่างประเทศที่คาดว่า จะเกิดขึ้นในไตรมาส 2 พร้อมคาดว่า เศรษฐกิจไทยจะค่อยๆ ฟื้นตัวในปี 2568 โดยขยายตัว 2.8% ในปีนี้ ก่อนจะเติบโตในอัตราเร่งขึ้นถึง 4.5% ในปี 2569
ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (Standard Chartered) คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.25% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 ที่จะถึงนี้ โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แม้เงินเฟ้อจะยังอยู่ในระดับไม่สูงนัก ในขณะที่กำลังประเมินความเสี่ยงจากสงครามการค้าและภาวะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในประเทศ
ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายเศรษฐศาสตร์ ประจำประเทศไทยและเวียดนาม ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) “กนง. อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียงครั้งเดียวในปีนี้ ซึ่งอาจเป็นการประชุมในเดือนมิถุนายน หรือหลังจากนั้น Fed มีท่าทีไม่รีบลดดอกเบี้ย และ ธปท. ไม่ได้ส่งสัญญาณต้องการลดอัตราดอกเบี้ย ประกอบกับต้องการรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space) ล้วนเป็นปัจจัยที่จะชะลอการลดอัตราดอกเบี้ย”
อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังคงไม่วางใจต่อการเติบโตและภาพรวมภายนอกประเทศ โดยคาดว่าปีนี้จะเป็นอีกปีหนึ่งที่เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่า 3%
เปิดแนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจไทยปีนี้และปีหน้า
ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (Standard Chartered) ยังคาดว่า เศรษฐกิจไทยจะค่อยๆ ฟื้นตัวในปี 2568 โดยขยายตัว 2.8% ในปีนี้ ก่อนจะเติบโตในอัตราเร่งขึ้นถึง 4.5% ในปี 2569 นับเป็นการเติบโตอย่างต่อเนื่อง หลังจากเศรษฐกิจไทยในปี 2567 เติบโต 2.5% ขยายตัวดีขึ้นกว่าปี 2566 ซึ่งเติบโต 2%
อย่างไรก็ตาม ดร.ทิม กล่าวเสริมว่า แม้ว่า ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ดี ตัวเลขนักท่องเที่ยวจากต้นปีจนถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 3.97 ล้านคน ซึ่งเป็นระดับเดียวกับปี 2562 และคาดว่าตัวเลขจะดีขึ้นอีกในครึ่งปีหลังของปีนี้ กระนั้นในครึ่งปีหลังอาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากนโยบายการค้าของสหรัฐ อีกทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจยังขาดปัจจัยหนุนอื่น นอกเหนือไปจากการบริโภคและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว”
พร้อมทั้งระบุอีกว่า “ในหลายปีที่ผ่านมา การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศได้รับแรงหนุนจากการบริโภคภาคเอกชนมากกว่าภาคการส่งออก อย่างไรก็ตาม การบริโภคในประเทศเริ่มชะลอตัวลง และโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เฟสต่อไปมูลค่าประมาณ 1.4 แสนล้านบาท (หรือ 0.8% ของ GDP) ซึ่งมีกำหนดเริ่มโครงการในเดือนเมษายนนี้ ยังเป็นที่จับตามอง” ดร.ทิม กล่าว