“หากเราอยากเห็นพัฒนาการที่แท้จริง เราจำเป็นต้องยอมรับความจริงกับสิ่งที่เป็นอยู่ ไม่ว่ามันยากจะเชื่อหรือขัดใจแค่ไหนก็ตาม และสิ่งที่ชัดเจนตอนนี้คือ เรา ‘ล้มเหลว’ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโต” ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กล่าวไว้ในงานเปิดตัวรายงาน ‘การตามติดเศรษฐกิจไทย (Thailand Economic Monitor) เดือนกุมภาพันธ์ 2568: ปลดล็อกการเติบโต – นวัตกรรม SMEs และสตาร์ทอัพข้อค้นพบที่สำคัญ’ ของธนาคารโลก (World Bank)
ดร.กอบศักดิ์ ชวนตั้งคำถามเกี่ยวกับประสิทธิภาพของทฤษฎี ‘Trickle-Down Economics’ ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างกับเติบโตแบบบนลงล่าง หรืออธิบายอีกแบบก็คือความเชื่อที่ว่า “ถ้ากลุ่มคนที่อยู่ส่วนบน (คนรวย) ของระบบเศรษฐกิจมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น คนกลุ่มถัดมาที่อยู่ส่วนล่างลงไปก็จะมีชีวิตที่ดีขึ้นตามไปด้วย”
ความเข้าใจผิดของ ‘Trickle-Down Economics’
ทฤษฎีนี้ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายเป็นมาตรฐานสากลเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ ทว่าการเติบโตที่เห็นอาจเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของการพัฒนาที่เกิดขึ้น และมิได้สะท้อนความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจในภาพรวม
แม้ทฤษฎีดังกล่าวจะนำมาซึ่งนวัตกรรมมากมายตลอดหลายปีที่ผ่านมา เช่น การขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์ การค้นพบยาใหม่ๆ และการสร้างปัญญาประดิษฐ์ที่ล้ำหน้า แต่ ดร.กอบศักดิ์ ชี้ว่าการเติบโตที่เราเห็นนั้นกระจุกตัวอยู่ในไม่กี่อุตสาหกรรม ขณะที่มีคนอีกนับพันล้านชีวิตที่ยังคงอยู่อย่างยากลำบาก อีกทั้งยังเจอกับความท้าทายในช่องว่างทางรายได้ระหว่างคนรวย-คนจน ที่ห่างและถ่างมากขึ้น
ดร.กอบศักดิ์ ฉายภาพความล้มเหลวที่โมเดลเศรษฐกิจดังกล่าวแสดงให้เห็นผ่านกรณีศึกษาในประเทศสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ผลิตนวัตกรรมระดับโลกมากมาย แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นประเทศที่เผชิญกับปัญหาคนไร้บ้านและความยากจนสูงขึ้นเรื่อยๆ
นั่นจึงเป็นที่มาของคำถามที่ ดร.กอบศักดิ์ ชวนคิดว่า “นี่คือการเติบโตที่เราอยากเห็นจริงหรือ?”
การพัฒนาทางเศรษฐกิจในปัจจุบันถูกวัดประสิทธิภาพด้วยมาตรวัดที่อาจดูสวยหรูเมื่อมองแค่ผิวเผิน แต่กลับซ่อนความอ่อนแอและรอยตำหนิหลายอย่างหากเข้าไปดูในรายละเอียด ซึ่ง ดร.กอบศักดิ์ เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ‘ภาพลวงตา’ ของการเติบโต โดยหนึ่งในตัวอย่างที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดบนเวทีคือสถิติการลดลงของความยากจน แต่สาเหตุหลักของความยากจนที่ลดลงนั้นส่วนใหญ่มาจากการสนับสนุนด้วย ‘สวัสดิการรัฐ’ และไม่ใช่การทำให้คนที่อยู่ในระดับล่างสามารถสร้างตนเองได้จริงๆ
“เหมือนว่าถ้าเรามีลูก แล้วเราให้เงินลูก 20,000 บาท และสรุปว่าลูกเรารวย แต่ความจริงไม่ใช่เพราะลูกต้องพึ่งเงินจากผู้ปกครอง และหากผู้ปกครองไม่อยู่ลูกก็จะลำบากเหมือนเดิม” ดร.กอบศักดิ์ เปรียบเปรยให้เห็นถึงการแก้ปัญหาความยากจนจากภาครัฐเพื่อประชาชนในปัจจุบัน
แม้วิธีดังกล่าวจะบรรเทาความสาหัสได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้ทำให้ปัญหาหมดไปในระยะยาว ในทางกลับกัน ทำให้เกิดวังวนของการที่คนจนต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากรัฐไปเรื่อยๆ
รื้อระบบ สร้างการเติบโตจากล่างขึ้นบน
ดังนั้นแนวทางแก้ไขปัญหาที่ ดร.กอบศักดิ์ เสนอให้พิจารณาใช้คือการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจจากล่างขึ้นบน (bottom-up approach) ที่ทำให้คนระดับล่างแข็งแรงและสร้างตัวได้ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่การการันตีว่าทุกคนจะมีชีวิตสุขสบาย แต่เป็นเปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถยืนหยัดได้ด้วย ‘ตนเอง’
อย่างไรก็ตาม ดร.กอบศักดิ์ ชี้ว่าการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยวิธี bottom-up จำเป็นต้องรื้อถอนอุปสรรคเชิงระบบ ที่ฝังรากลึกอยู่ในระบบกฎหมาย การศึกษา และการเข้าถึงทุนที่ไม่เท่าเทียม โดยมีแนวทาง 3 เรื่องหลักดังนี้
- ระบบกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ชนชั้นผู้นำ:
ดร.กอบศักดิ์ ชี้ว่ากฎหมายจำนวนมากถูกออกแบบโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของกลุ่มชนชั้นผู้นำเป็นหลัก แต่ละเลยความต้องการของประชาชนทั่วไป ตัวอย่างเช่น กฎหมายป่าไม้ ที่ไม่ยอมรับบทบาทของชุมชนท้องถิ่นในการอนุรักษ์ป่า ทำให้ที่ดินถูกจัดสรรให้กับนายทุนหรือบริษัทขนาดใหญ่
ในขณะเดียวกัน กฎหมายนี้ก็มิได้คำนึงถึงสิทธิและภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชน และกลับกลายเป็นการส่งเสริมให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าตามมา หากปรับแนวคิดที่ให้ชุมชนมีสิทธิ์ดูแลและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าไม้ได้อย่างยั่งยืนเป็นสำคัญ ก็จะทำให้เกิดสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการพัฒนาเศรษฐกิจ
- ความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษา
แม้ว่าในทางทฤษฎี ระบบการศึกษาจะเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงได้ แต่ในความเป็นจริง คุณภาพของการศึกษาแตกต่างกันอย่างมาก ทำให้เด็กที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำกว่ามักเสียเปรียบและไม่ได้รับโอกาสที่เท่าเทียม การขาดการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพส่งผลให้พวกเขาไม่สามารถพัฒนาทักษะได้อย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งทำให้วงจรความยากจนดำเนินต่อไป
- การเข้าถึงแหล่งทุนที่ไม่เท่าเทียม: ในหลายประเทศทำให้การเข้าถึงเงินทุนถูกจำกัดอยู่ในกลุ่มคนที่มีเส้นสายหรือเครือข่ายทางธุรกิจ ซึ่งนำไปสู่ ความเหลื่อมล้ำ เพราะผู้ที่มีทรัพยากรอยู่แล้วก็สามารถขยายความมั่งคั่งได้อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ผู้ประกอบการรายย่อยหรือคนทั่วไปกลับเผชิญกับข้อจำกัดในการเข้าถึงเงินทุน ทำให้พวกเขาไม่สามารถเริ่มต้นธุรกิจ สร้างงาน หรือพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างที่ควรจะเป็น
แม้อุปสรรคจะมีอยู่มาก แต่ตัวพิสูจน์ความสำเร็จของแนวทาง bottom-up approach ที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ก็คือ เรื่องราวของ ‘คลองลัดมะยม’ ที่มีการริเริ่มจากคนของชุมชนในการทำความสะอาดคลองจากน้ำเน่าเสีย และเปลี่ยนพื้นที่ดังกล่าวให้กลายเป็นตลาดน้ำ จนสร้างรายได้ให้กับชุมชนที่เขาอาศัย แสดงให้เห็นว่า เมื่อชุมชนได้รับโอกาสและอำนาจในการเปลี่ยนแปลงด้วยตนเอง พวกเขาสามารถเป็นแรงผลักดันสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้
การพัฒนาเศรษฐกิจที่แท้จริง ไม่ได้วัดจากตัวเลข GDP หรือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเพียงมิติเดียว แต่วัดจากการที่ทุกคนมีโอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิตและสามารถสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้กับครอบครัวและชุมชนของตนได้
ในช่วงท้าย ดร.กอบศักดิ์ ฝากข้อคิดไว้ว่า “ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนและชุมชนขึ้นมาเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนความก้าวหน้า และสร้างอนาคตที่พวกเขากำหนดเอง” หรือพูดอีกแบบก็คือให้ผู้คนสามารถสร้างโอกาสจากรากฐานของตัวเองเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน