วันนี้ (11 กุมภาพันธ์) มีการเผยแพร่คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 63/2568 เรื่อง ให้ข้าราชการตำรวจช่วยราชการภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ระบุว่า ด้วยสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับรายงานกรณีที่ปรากฏข้อมูลประเด็นทางสื่อสังคมออนไลน์ว่ามีข้าราชการตำรวจยศ พลตำรวจตรี มีความเชื่อมโยงกับธุรกิจเมียวดีคอมเพล็กซ์ ซึ่งเป็นสถานบันเทิงและบ่อนคาสิโน รวมทั้งเป็นแหล่งฟอกเงินและธุรกิจผิดกฎหมายขนาดใหญ่ริมชายแดนประเทศไทยและประเทศเมียนมา ซึ่งภายหลังมีการเปิดเผยชื่อคือ พล.ต.ต. เอกราษฎร์ อินทร์ต๊ะสืบ ผู้บังคับการ กองตรวจราชการ 5
สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว เพื่อให้ได้รายละเอียดข้อเท็จจริงที่ชัดเจนเพียงพอสำหรับการพิจารณาพฤติการณ์และหลักฐานในเบื้องต้นว่า กรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่าข้าราชการตำรวจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดวินัยหรือไม่ประการใด
เนื่องจากเป็นประเด็นสำคัญที่อยู่ในความสนใจของประชาชนและสังคมในวงกว้าง ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อีกทั้งมีกรณีเป็นที่สงสัยว่าข้าราชการตำรวจได้ประพฤติบกพร่องต่อหน้าที่ หรือมีกรณีเป็นที่สงสัยว่ากระทำความผิดทางวินัยหรืออาญา หากให้ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานเดิมอาจก่อให้เกิดความเสียหายได้
ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในส่วนที่เกี่ยวข้องเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ และมิให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 63 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ประกอบระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการตำรวจไปช่วยราชการภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2566
จึงให้ พล.ต.ต. เอกราษฎร์ อินทร์ต๊ะสืบ ผู้บังคับการ กองตรวจราชการ 5 รักษาราชการแทน ผู้บังคับการ กองตรวจราชการ 6 ช่วยราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อาคาร 1 ชั้น 20 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยขาดจากการปฏิบัติหน้าที่ทางตำแหน่งเดิม เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มอบหมายเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย ทั้งนี้ ให้ยกเว้นหลักเกณฑ์กรณีการไปช่วยราชการสิ้นสุดลงตามข้อ 11 และข้อ 13 (2) ของระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการตำรวจไปช่วยราชการภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2566
บรรดาคำสั่งหรือการมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่อื่นใดที่ขัดหรือแย้งกับคำสั่งนี้ ให้ยกเลิกในส่วนที่ขัดหรือแย้งและใช้คำสั่งนี้แทน ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
ขณะเดียวกันมีคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 64/2568 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง
ด้วยปรากฏจากการรายงานการตรวจสอบข้อมูลประเด็นทางสื่อสังคมออนไลน์ กรณีเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (โซเชียลมีเดีย) ตรวจพบการนำเสนอข่าวบนสื่อสังคมออนไลน์ ในประเด็นเกี่ยวกับนายตำรวจยศ พลตำรวจตรี มีความเชื่อมโยงกับธุรกิจเมียวดีคอมเพล็กซ์ ซึ่งภายหลังได้เปิดเผยชื่อคือ พล.ต.ต. เอกราษฎร์ อินทร์ต๊ะสืบ ผู้บังคับการ กองตรวจราชการ 5 รักษาราชการแทน ผู้บังคับการ กองตรวจราชการ 5 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- รายการ คลุกวงในอินไซด์ข่าว ซึ่งได้เผยแพร่วิดีโอบนแพลตฟอร์มยูทูบ ชื่อช่อง Zaabnews เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 มีความยาว 16.23 นาที นำเสนอประเด็น บ่อน แก๊งคอลฯ จะปราบยังไงไหว เมื่อตำรวจไทยคลุกวงในกับโจร จะไม่ให้จีน ‘หยามกันถึงถิ่น’ ได้ไง ซึ่งในเนื้อหามีการกล่าวถึงตำรวจของไทยเข้าไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจการพนันในเมียวดี ตั้งแต่ทางเมียวดีเปิดให้บริการใหม่ๆ เป็นตำรวจที่อยู่ในอำเภอแม่สอด มียศเป็น พลตำรวจตรี เรียกกันว่า นายพล ต. โดยแม่สอดเป็นเส้นทางของส่วยทั้งหลายที่มีอำนาจแถวนั้นรวมถึงที่กรุงเทพมหานครด้วย
- เว็บไซต์ thaipbs นำเสนอข่าวโดยมีประเด็นนำเสนอคือ ‘รังสิมันต์’ แย้มข้อมูลตำรวจยศ ‘พลตำรวจตรี’ เอี่ยวธุรกิจคาสิโนเมียวดี เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2568 รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ระบุถึงปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศไทยว่าปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์นี้กระทบต่อประเทศไทยอย่างมาก สำหรับประเด็นเรื่องนายตำรวจยศ ‘พลตำรวจตรี’ ที่มีข้อมูลเกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์และคาสิโนดังกล่าวนั้น ในส่วนของกรรมาธิการก็มีบทบาทหน้าที่ในเรื่องของการรวบรวมข้อมูล และให้เวลากับรัฐบาลในการจัดการ โดยยืนยันว่าไม่ได้นิ่งนอนใจ และรวบรวมเอกสารพยานหลักฐานทั้งหมดไว้ โดยใช้กลไกของสภาดำเนินการ และอาจจะใช้กลไกอื่นด้วยหรือไม่ให้รอติดตาม แต่ยืนยันว่าไม่นิ่งเฉยอย่างแน่นอน
- เว็บไซต์ nationtv นำเสนอข่าวเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2568 โดยมีประเด็นนำเสนอว่า ใครคือ ‘นายพล ต.’ ตัวละครสำคัญโยงเมียวดีคอมเพล็กซ์ ซึ่งมีการกล่าวหาว่ามีนายตำรวจระดับนายพลเกี่ยวข้อง โดยมีตัวย่อออกมาว่า นายพล ต. เป็นหุ้นส่วนในอัครสถานบันเทิงและบ่อนคาสิโนนาม ‘เมียวดีคอมเพล็กซ์’ 1 ใน 5 เขตเศรษฐกิจชายแดนที่ว่ากันว่าเป็นแหล่งฟอกเงิน และธุรกิจผิดกฎหมายขนาดใหญ่ริมชายแดนไทย-เมียนมา
- เว็บไซต์ pptvhd36 นำเสนอประเด็น เปิดใจ ‘ผู้การต๊ะ’ ชี้แจงทุกปมเมียวดีคอมเพล็กซ์ ทีมข่าวพีพีทีวีติดต่อไปที่ พล.ต.ต. เอกราษฎร์ อินทร์ต๊ะสืบ หรือผู้การต๊ะ อดีตผู้บังคับการ กองตรวจราชการ 5 หรือ จเรตำรวจภาค 5 ซึ่งเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2568 มีคำสั่งโยกย้ายมาเป็นผู้บังคับการ กองตรวจราชการ 5 หรือจเรตำรวจภาค 6 ผู้การต๊ะให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวเรื่องของเมียวดีคอมเพล็กซ์ว่า “พี่ไม่ได้อยากเข้าไปเป็นประเด็น เพราะเรื่องที่ถูกโยงตอนนี้ไม่ได้เกี่ยวกับพี่อยู่แล้ว ธุรกิจเป็นธุรกิจที่ต่างประเทศ ชื่อพี่ก็ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ด้วยซ้ำไป ถ้าพี่ทำอะไรผิดกฎหมายก็มั่นใจให้ตรวจสอบ
ดังนั้นเพื่อให้ได้รายละเอียดข้อเท็จจริงที่ชัดเจนเพียงพอสำหรับการพิจารณาพฤติการณ์ และหลักฐานในเบื้องต้นว่ากรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่าข้าราชการตำรวจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกระทำผิดวินัยหรือไม่ ประการใด อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 มาตรา 63 มาตรา 105 จึงแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว ประกอบด้วย
- พล.ต.ต. จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เป็นประธานกรรมการ
- พล.ต.ต. พฤทธิพงศ์ นุชนารถ ผู้บังคับการตำรวจน้ำ รักษาราชการแทน ผู้บังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เป็นกรรมการ
- พ.ต.อ. ศราวุธ ศรีสุขศิริพันธ์ รองผู้บังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เป็นกรรมการ
- พ.ต.อ. สุมรภูมิ ไทยเขียว รองผู้บังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เป็นกรรมการ
- พ.ต.อ. บุญลือ ผดุงถิ่น รองผู้บังคับการปราบปราม เป็นกรรมการ
- พ.ต.อ. สถาปนา จุณณวัตต์ ผู้กำกับการ 6 กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เป็นกรรมการ
- พ.ต.อ. ชิษณุพงศ์ ไหวดี ผู้กำกับการ 3กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เป็นกรรมการ
- พ.ต.อ. รัชภูมิ กุสุมาลย์ ผู้กำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ เป็นกรรมการ
- พ.ต.อ. เอกสิทธิ์ ปานสีทา ผู้กำกับการ 4 กองบังคับการปราบปราม เป็นกรรมการ
- พ.ต.อ. ศานุวงษ์ คงคาอินทร์ ผู้กำกับการ 4 กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เป็นกรรมการและเลขานุการ
- พ.ต.ท. พงศ์ปณต บัวแก้ว รองผู้กำกับการ (สอบสวน) กองกำกับการ 4 กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
- พ.ต.ท. พิทยา คงเจริญ รองผู้กำกับการ 5 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
- พ.ต.ท. ธนายุทธ ชูเฉลิม รองผู้กำกับการ (สอบสวน) กองกำกับการ 6 กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
- พ.ต.ท. อำนวย วิชิตโสภณ สารวัตรกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
- พ.ต.ท. ไสว จันทร์มา สารวัตรกองกำกับการ 4 กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
- ว่าที่ พ.ต.ท. กิตติพงศ์ ศิลาพันธุ์ สารวัตรกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปราม เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
- พ.ต.ต. อัครพล ปัทมานุสรณ์ สารวัตรกองกำกับการ 4 กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
- พ.ต.ต. กิตติกร วงศ์สุนทรทรัพย์ สารวัตร (สอบสวน) กองกำกับการ 4 กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
- ร.ต.อ. นราวิชญ์ เปี้ยสุ รองสารวัตรกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
- ร.ต.อ. ภิรวัฒน์ พักประไพ รองสารวัตร (สอบสวน) กองกำกับการ 4 กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
ทั้งนี้ให้คณะ กรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ประธานกรรมการรับทราบคำสั่งแล้วเสนอรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อพิจารณาสั่งการต่อไป
ถ้าคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเห็นว่ากรณีมีมูลว่าข้าราชการตำรวจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกระทำผิดวินัยในเรื่องอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในคำสั่งนี้ หรือกรณีที่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงพาดพิงไปถึงข้าราชการตำรวจผู้อื่นและคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงพิจารณาในเบื้องต้นแล้วเห็นว่า ข้าราชการตำรวจผู้นั้นมีส่วนร่วมหรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำในเรื่องที่ตรวจสอบนั้นอยู่ด้วยให้ประธานกรรมการรายงานมาโดยเร็ว
ลงนาม พล.ต.อ. เอกกิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ