×

เปิดคำสั่งเด้ง ‘พล.ต.ต. สัมฤทธิ์’ ผู้การจังหวัดตาก เข้าช่วยราชการที่ ศปก.ตร. หลังเกิดเหตุ ‘ซิงซิง’ ถูกหลอกไปทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ฝั่งเมียนมา

โดย THE STANDARD TEAM
11.02.2025
  • LOADING...
police-chief-assists-investigation

วันนี้ (11 กุมภาพันธ์) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มีหนังสือคำสั่ง ตร.ที่ 64/2568 เรื่อง ให้ข้าราชการตำรวจช่วยราชการและรักษาราชการแทน ใจความว่า ด้วย สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับรายงานกรณีที่ปรากฏข่าวสารในสื่อมวลชนต่างๆ เผยแพร่ข่าวนักท่องเที่ยวถูกมิจฉาชีพหลอกลวงมาที่ประเทศไทยแล้วหายตัวไปบริเวณชายแดนประเทศเมียนมา อีกทั้งมีการลักลอบข้ามชายแดนทางช่องทางธรรมชาติในเขตพื้นที่อำเภอแม่สอด และอำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก

 

กรณีดังกล่าวอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์(กรณีของนักแสดงจีน หวังซิง หรือ ซิงซิง) โดยบริเวณที่เกิดเหตุอยู่ในพื้นที่ของสถานีตำรวจภูธรแม่สอด สถานีตำรวจภูธรแม่ระมาด และสถานีตำรวจภูธรพบพระ จังหวัดตาก ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ พล.ต.ต. สัมฤทธิ์ เอมกมล ผู้บังคับการ ตำรวจภูธรจังหวัดตาก

 

ซึ่งตำรวจภูธรภาค 6 ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว และมีคำสั่งให้ข้าราชการตำรวจระดับผู้กำกับการของ 3 สถานีตำรวจดังกล่าว ช่วยราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธรภาค 6 โดยขาดจากการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเดิมแล้ว

 

ต่อมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง พล.ต.ต. สัมฤทธิ์ เอมกมล เพื่อให้ให้ได้รายละเอียดข้อเท็จจริงที่ชัดเจนเพียงพอสำหรับการพิจารณาพฤติการณ์ และหลักฐานในเบื้องต้นว่ากรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่าข้าราชการตำรวจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดวินัยหรือไม่ประการใด

 

เนื่องจากเป็นกรณีที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อีกทั้งมีกรณีเป็นที่สงสัยว่าข้าราชการตำรวจได้ประพฤติบกพร่องต่อหน้าที่ หรือมีกรณีเป็นที่สงสัยว่ากระทำความผิดทางวินัยหรืออาญา หากให้ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานเดิมอาจก่อให้เกิดความเสียหายได้

 

ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในส่วนที่เกี่ยวข้องเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ และมีให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 63 และมาตรา 105 แห่งพระราชบัญญัติ ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ประกอบระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการตำรวจ ไปช่วยราชการภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2566

 

จึงสั่งการให้ พล.ต.ต. สัมฤทธิ์ เอมกมล ผู้บังคับการ ตำรวจภูธรจังหวัดตาก ช่วยราชการที่ ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อาคาร 1 ชั้น 20 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยขาดจากการปฏิบัติหน้าที่ทางตำแหน่งเดิม เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติมอบหมาย เป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย

 

ทั้งนี้ ให้ยกเว้นหลักเกณฑ์กรณีการไปช่วยราชการสิ้นสุดลง ตามข้อ 11 ของระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการตำรวจไปช่วยราชการภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2566 และให้ พล.ต.ต. ระวีพรรษ อมรมุนีพงศ์ รองผู้บัญชาการ ตำรวจภูธรภาค 6 รักษาราชการแทน ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดตาก อีกหน้าที่หนึ่ง

 

อนึ่ง บรรดาคำสั่งหรือการมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่อื่นใดที่ขัดหรือแย้งกับคำสั่งนี้ ให้ยกเลิกในส่วนที่ขัดหรือแย้งและใช้คำสั่งนี้แทน ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

 

ขณะเดียวกัน พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ ลงนามคำสั่ง ตร.ที่ 62/2568 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ใจความว่า ด้วยเมื่อประมาณต้นเดือนมกราคม 2568 ได้ปรากฏข่าวสารในสื่อมวลชนต่างๆ เผยแพร่ข่าวนักท่องเที่ยวถูกมิจฉาชีพหลอกลวงมาประเทศไทย แล้วหายตัวไปบริเวณชายแดนเมียนมา และมีการลักลอบข้ามชายแดน ทางช่องทางธรรมชาติในเขตอำเภอแม่สอด อำเภอแม่ระมาด และ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก 

 

กรณีดังกล่าวอาจเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ซึ่งส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

 

โดยบริเวณที่เกิดเหตุอยู่ในเขตพื้นที่ 3 สถานีตำรวจ ในความรับผิดชอบของ พล.ต.ต. สัมฤทธิ์ เอมกมล ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดตาก ประกอบกับ ตำรวจภูธรภาค 6 ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวและมีคำสั่งให้ข้าราชการตำรวจ 3 ราย พ.ต.อ. พิทยากร เพชรรัตน์ ผกก.สภ.แม่สอด จ.ตาก พ.ต.อ. ฐมณ์พงศ์ เพ็ชร์พิรุณ ผกก.สภ.แม่ระมาด จ.ตาก และ พ.ต.อ. ฉัตรชัย คำยิ่ง ผกก.สภ.พบพระ จังหวัดตาก ช่วยราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธรภาค 6 โดยขาดจากการปฏิบัติหน้าที่ทางตำแหน่งเดิม

 

ดังนั้น เพื่อให้ได้รายละเอียดขัดเท็จจริงที่ชัดเจนเพียงพอสำหรับการพิจารณาและหลักฐานในเบื้องต้นว่ากรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่าข้าราชการตำรวจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกระทำผิดวินัยหรือไม่ประการใด อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 มาตรา 63 และมาตรา 105

 

จึงแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว ประกอบด้วยบุคคลดังต่อไปนี้

 

  1. พล.ต.ท. มนเทียร พันธ์อิ่ม จเรตำรวจ เป็นประธานกรรมการ
  2. พล.ต.ต. พุฒิพงศ์ มุสิกูล รองจเรตำรวจ สำนักงานจเรตำรวจ เป็นกรรมการ
  3. พ.ต.อ. สรัลพัฒน์ ยศสมบัติ รองผู้บังคับการ กองตรวจราชการ 7 รักษาราชการแทนผู้บังคับการ กองตรวจราชการ 2 สำนักงานจเรตำรวจ เป็นกรรมการ
  4. พ.ต.อ. ชัชวาลย์ ทิพย์พิชัย รองผู้บังคับการ กองตรวจราชการ 1 สำนักงานจเรตำรวจเป็นกรรมการ
  5. พ.ต.อ. กฤษฎีชวินทร์ วีระจิตต์ ผู้กำกับการ ฝ่ายสืบสวนและตรวจราชการ 1 กองตรวจราชการ 2 สำนักงานจเรตำรวจ เป็นกรรมการและเลขานุการ
  6. พ.ต.ท. ศิริพล บุญหนุน รองผู้กำกับการ ฝ่ายสืบสวนและตรวจราชการ 2 กองตรวจราชการ 2 สำนักงานจเรตำรวจ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

 

ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ประธานกรรมการรับทราบคำสั่ง แล้วเสนอรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อพิจารณาสั่งการต่อไป

 

อนึ่ง ถ้าคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เห็นว่ากรณีมีมูลว่าข้าราชการตำรวจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกระทำผิดวินัยในเรื่องอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในคำสั่งนี้ หรือกรณีที่การสืบสวนพาดพิงไปถึงข้าราชการตำรวจผู้อื่นและคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงพิจารณาในเบื้องต้นแล้วเห็นว่า ข้าราชการตำรวจผู้นั้นมีส่วนร่วมหรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำในเรื่องที่ตรวจสอบนั้นอยู่ด้วย ให้ประธานกรรมการรายงานมาโดยเร็ว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising