วันนี้ (11 กุมภาพันธ์) บรรยากาศที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ทำเนียบรัฐบาล ตลอดช่วงเช้าที่ผ่านมา มีสื่อมวลชนทยอยเดินทางมารอดักทำข่าว เนื่องจากมีรายงานว่า วรณัฐ คงเมือง รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามสถานการณ์ภายหลังดำเนินมาตรการ ตามมติสภาความมั่นคงแห่งชาติ ครั้งที่ 2 / 2568 กรณีการงดจ่ายกระแสไฟฟ้า ระงับการส่งน้ำมันเชื้อเพลิง และตัดสัญญาณโทรคมนาคม ไปฝั่งเมียนมา
ขณะที่ ฉัตรชัย บางชวด เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เปิดเผยว่า การประชุมในวันนี้ เป็นเพียงการประชุมเพื่อติดตามสถานการณ์ ส่วนกรณีที่มีการเผยแพร่ข่าวว่าจะมีการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องการห้ามส่งออกโซลาร์เซลล์นั้น ไม่ใช่การประชุมจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นเพียงการประชุมวงเล็กของส่วนงานราชการที่เกี่ยวข้อง
โดยในเบื้องต้น เลขาฯ สมช. เปิดเผยว่า ได้มีการรายงานกลุ่มกะเหรี่ยงที่ประกาศกดดันกลุ่มทุนจีนสีเทาให้ออกจากเมียนมาภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ รวมไปถึงรายงานเรื่องการงดจ่ายไฟฟ้าไปยังพื้นที่ที่กระทำผิดกฎหมายตามมติ สมช. รวมไปถึงมีการรายงานผลกระทบต่อประชาชนตามแนวชายแดน ซึ่งได้รายงานเรื่องทั้งหมดไปยังภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานสภาสมช.แล้ว
ฉัตรชัยกล่าวว่า แนวคิดการห้ามส่งออกโซลาร์เซลล์ เป็นหนึ่งแนวความคิดเนื่องจากจะไปเสริมสร้างให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์จึงจำเป็นต้องนำมาพิจารณาด้วย โดยที่ประชุมวันนี้จะมีการพิจารณาตรวจสอบกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง หากมีการออกมาตรการเพิ่มเติมมาแล้วจะทำอย่างไร แต่การประกาศห้ามส่งออกแผงโซลาร์เซลล์เป็นเรื่องของกระทรวงพาณิชย์เข้าใจได้ว่า ในทางทหารมีการควบคุมระดับหนึ่ง แต่หากจะทำให้เกิดความชัดเจนเช่นเดียวกับมาตรการที่ออกมาก่อนหน้านี้จะต้องมีประกาศที่ชัดเจน
เมื่อถามต่อว่า วานนี้กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทโทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ NT ออกมาให้สัมภาษณ์ ว่าหากจะต้องการตัดสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตเพิ่มเติมจะต้องรอคำสั่งจาก คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และหน่วยงานด้านความมั่นคง จะมีแนวทางอย่างไร ฉัตรชัยระบุว่า ขอให้รอนโยบายของภูมิธรรมซึ่งต้องยอมรับว่าในการตัดสัญญาณมีปัญหา แต่ในชั้นต้นจะต้องเน้นจุดตรงนี้ก่อน เนื่องจากเป็นพื้นที่ละเอียดอ่อน และมีกลุ่มต่อต้านอยู่จำนวนมาก ดังนั้นขอให้รอการแถลงความชัดเจนจากภูมิธรรม
ทั้งนี้หากกลุ่มกะเหรี่ยงสามารถกดดันให้กลุ่มทุนจีนสีเทาออกจากเมียนมาได้สำเร็จภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ต้องรอประเมินดูให้รอบด้านว่ามีการออกจากพื้นที่จริงหรือไม่ จากนั้นจึงค่อยมาประเมินอีกครั้งว่าจะทบทวนมาตรการหรือต่อขยายออกไป
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หน่วยงานที่ร่วมประชุมในครั้งนี้ ประกอบด้วย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และ ผู้แทนเหล่าทัพ เป็นต้น