อัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวในงาน ‘สรุปภาพรวมภาวะตลาดหลักทรัพย์เดือนมกราคม 2568’ ระบุว่า ยอมรับว่าภาวะตลาดหุ้นไทยขณะนี้มีความผันผวน โดยทางตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างพิจารณาหลายแนวทาง และมีแผนเข้าหารือร่วมกับหลายฝ่ายที่เกี่ยว ซึ่งรวมถึงกระทรวงการคลัง เพื่อหาแนวทางการกระตุ้นตลาดทุนไทยในระยะสั้น ว่าจะสามารถดำเนินการได้อย่างไรเพิ่มเติมจากแผนยุทธศาสตร์ระยะกลางและระยะยาวที่ประกาศออกไปก่อนหน้านี้
โดยที่ผ่านมากระทรวงการคลังก็ติดต่อสอบถามมายังตลาดหลักทรัพย์ฯ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่ามีแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) อย่างไร ขณะที่สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างหารือทำงานอย่างเต็มเพื่อแนวทางที่เกี่ยวข้องร่วมกัน
3 นโยบาย ‘ทรัมป์’ กดดันหุ้นไทย
ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ ตลท. กล่าวในงาน ‘สรุปภาพรวมภาวะตลาดหลักทรัพย์เดือนมกราคม 2568’ ระบุว่า ภาวะตลาดหุ้นไทยในเดือนมกราคมปีนี้เคลื่อนไหวอย่างผันผวน โดย SET Index ปรับลดลงแรงในระดับ 6.1% เปรียบจากสิ้นปี 2567 รวมทั้งกรณีที่ก่อนหน้านี้ Bloomberg รายงานข้อมูลเปรียบเทียบข้อมูลผลตอบแทนหุ้นทั่วโลก 92 ดัชนี พบว่า จากต้นปี 2568 ถึงปัจจุบัน (1 มกราคม – 5 กุมภาพันธ์ 2568) หุ้นไทย (SET Index) ปรับตัวลงมาแรงสุดในโลก
ปัจจัยกดดันมาจากการประกาศนโยบายด้านเศรษฐกิจของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ประกาศออกมา 3 ประเด็นหลัก ซึ่งกระทบต่อภาพรวมด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) กับการลงทุนไปทั่วโลก มีดังนี้
- นโยบายด้านสงครามการค้า (Trade War) โดยสหรัฐฯ มีการประกาศตั้งกำแพงภาษี (Tariff) กับสินค้านำเข้าจากประเทศคู่ค้าที่สำคัญทั้งเม็กซิโกกับแคนาดาในอัตราทีสูงในอัตรา 25% ก่อนจะมีประกาศเลื่อนเวลากับทั้ง 2 ไปอีก 30 วันเพื่อทำการเจรจา และมีการใช้ Tariff กับสินค้านำเข้าจากจีน
- โนยายด้านแรงงานโดยต้องการผลักดันผู้อพยพเข้ามสหรัฐฯ แบบผิดกฎหมายออกนอกประเทศ รวมทั้งเข้มงวดในการป้องกันแรงงานต่างชาติที่จะอพยพเข้ามาทำงานสหรัฐฯ เพิ่มมา
- นโยบายการเพิ่มการขุดเจาะแหล่งน้ำมันของสหรัฐฯ ออกมาใช้เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ประเมินและกังวลว่าทั้งประเด็น Trade War กับประเด็นโนยายด้านแรงงานจะมีผลกระทบต่ออัตราเงินของสหรัฐฯ ให้มีความเสี่ยงเร่งตัวขึ้นในอนาคต ขณะที่นโยบายการเพิ่มการขุดเจาะแหล่งน้ำมันของสหรัฐฯ ออกมาใช้เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ราคาน้ำมันถูกลง อีกทั้งในนโยบาย 3 ประเด็นดังกล่าวต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
อีกทั้งยอมรับว่าปัจจัยลบส่วนหนึ่งที่ตลาดหุ้นไทย คือ แรงขายจากกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) โดยจากการติดตามข้อมูลจากสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) พบว่ามีแรงขายออกมาไม่มากเพียงหลักหมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ดี ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ LTF ก็จะมีการหารือกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีกำหนดการนัดพบในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ LTF กับกระทรวงการคลัง
ขณะที่ความผันผวนที่เกิดขึ้นจากนโยบายของสหรัฐฯ จะยังคงมีต่อเนื่อง แต่อาจเร็วเกินที่จะประเมินผลกระทบต่อหุ้นที่กำลังจะไอพีโอ โดยปัจจุบันยังไม่เห็นสัญญาณที่มีผลกระทบต่อการไอพีโอ
จับตาปีนี้ Fed อาจไม่ลดดอกเบี้ย
ดร.ศรพล กล่าวต่อว่าจากนโยบายของทรัมป์จะมีผลกระทบไปถึงการพิจารณานโยบายดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ซึ่งเดิมตลาดคาดการณ์ว่าในปี 2568 Fed จะลดดอกเบี้ยลงจำนวน 4-5 ครั้ง แต่หลังจากเริ่มเห็นนโยบายต่างๆ ของทรัมป์ Fed ก็ได้ออกมาส่งสัญญาณว่าในปีนี้อาจจะไม่ลดดอกเบี้ยลง หรืออาจลดดอกเบี้ยลงเพียง 1 ครั้ง ส่งผลให้นักลงทุนเริ่มกลับไปถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย คือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น
“จนกว่าจะเห็นความชัดเจนเรื่องสงครามการค้า หรือจนกว่านโยบายของทรัมป์จะชัด ในภาพใหญ่ก็เปรียบเหมือนอยู่ในทะเลที่มี 2 ยักษ์ใหญ่สาดคลื่นใส่กันไปมาทำให้มีความผันผวนยังมีอยู่” ดร.ศรพล กล่าว
นอกจากนี้ อีกทั้งยังต้องติดตามข้อมูลตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯ ที่จะทยอยออกมาเป็นรายสัปดาห์
อย่างไรก็ดี ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกยังมีจุดแข็ง โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าเศรษฐกิจของโลกจะยังขยายตัวได้ดีที่ระดับ 3.3% โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ GDP จะขยายตัว 2.7% โดยจะยังไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession)
นอกจากนี้ แนวโน้มของภาวะสงครามที่มีการสู้รบระหว่างประเทศคู่ขัดแย้งจะไม่รุนแรงขึ้น เพราะทรัมป์มีนโยบายที่เน้นเรื่องเศรษฐกิจการค้าเป็นหลัก
สำหรับสิ้นเดือนธันวาคม 2567 นักลงทุนต่างชาติมีสัดส่วนการถือครองหุ้นไทยสัดส่วน 33.84% มีมูลค่ารวม 5.83 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.2% จากสิ้นปี 2566
มองหุ้นลงสวนทางปัจจัยพื้นฐาน
อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าภาพราคาหุ้นในตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงมาสวนทางกับปัจจัยพื้นฐานที่บางกลุ่มหรือบางบริษัทที่ผลประกอบการยังเติบโตได้ดี ดังนั้นจึงมองว่ามีความน่าสนใจในหุ้นกลุ่ม High Dividend Yield โดยรวมยังเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยความน่าสนใจจากการที่เป็นตลาดที่มีความผันผวนต่ำ
โดยหากพิจารณาจากค่า End of day volatility ของ SET Index สาเหตุหนึ่งมาจากเป็นตลาดหุ้นที่มีอัตราผลตอบแทน Dividend Yield สูงอย่างต่อเนื่อง โดยค่าเฉลี่ยย้อนหลังตั้งแต่ปี 2543 ถึงปัจจุบันอยู่ที่ 3.14% อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค แสดงถึงอัตราผลตอบแทนจาก Dividend Yield เมื่อนำผลกระทบจากเฟ้อมาหักออกไป จะทำให้ อัตราผลตอบแทนจาก Dividend Yield Yield ที่แท้จริงของไทยอยู่ในระดับที่สูง 2.3% เป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาค
ดังนั้นจึงมองว่าการลงทุนในหุ้นไทยเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ที่มีลักษณะ Defensive Stock แต่อาจไม่เหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในระยะสั้น
อีกทั้งตลาดหุ้นไทยยังมีจุดแข็งคือ Diversification ที่สูง รวมทั้งมี Correlation กับตลาดหุ้นทั่วโลกที่ต่ำ จึงมีโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติจะกระจายความเสี่ยงของเงินลงทุนมาสู่หุ้นไทย