นโยบายการ ‘ตั้งกำแพงภาษี’ ของ โดนัลด์ ทรัมป์ กำลังจะสร้างความปั่นป่วนต่อการค้าทั่วโลก รวมทั้งไทยที่อาจโดนผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม มีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
- เศรษฐกิจไทยส่อชะลอตัวจากพิษ ‘กำแพงภาษี’
- จับตาประชุม กนง. นัดแรกปีนี้คงดอกเบี้ย
- ปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงกำลังจะฉุดการบริโภค
ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Morning Wealth ว่าประเมินว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2568 กำลังจะต้องเผชิญกับความยากลำบากในหลายประเด็น โดยอาจนิยามความเสี่ยงได้แบ่งออกเป็น 3 ย คือ ‘ยุ่ง ยาก แย่’
โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยอาจถูกกระทบทั้งปัจจัยการผลิตและส่งออก จากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ที่มีแนวโน้มจะเห็นความยุ่งยากเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
หลังจาก โดนัลด์ ทรัมป์ เข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ออกมาจัดการหลากหลายมาตรการ แต่ประเด็นที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าของโลกคือการประกาศตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้ากับประเทศคู่ค้าต่างๆ โดยเริ่มจากการประกาศสินค้านำเข้าจากจีน 10% เป็นประเทศแรก
อย่างไรก็ดี ประเมินว่า ในหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของสหรัฐฯ ยังมีความไม่แน่นอนสูง ขณะที่ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่อยู่ในเรดาร์ของสหรัฐฯ ที่จะถูกตั้งกำแพงภาษี เพราะไทยติดอยู่ในกลุ่มประเทศท็อปที่สหรัฐฯ มีการนำเข้าสินค้าไปยังสหรัฐ
ขณะที่ภาคธุรกิจภายในประเทศมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับการแข่งขันที่ยากขึ้น รวมถึงประเด็นปัจจัยทางเศรษฐกิจไทยที่ยังคงย่ำแย่อยู่เดิม โดยเฉพาะจากปัญหาความเปราะบางของทั้งภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน
อย่างไรก็ดี ประเมินว่ามุมมองเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกของ ปี 2568 จะยังขยายตัวได้ในอัตรา 2.9% จากปัจจัยสนับสนุนจากภาคการส่งออก เพราะหลายประเทศจะมีการรีบนำเข้าสินค้าเพื่อกักตุนไว้เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของนโยบายทางการค้าของสหรัฐฯ ที่จะมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงกลางปีนี้เป็นต้นไป
ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวของไทยจะทยอยฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปัจจัยบวกจากมาตรการของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากนโยบายการแจกเงิน 10,000 บาทที่ออกมาแล้ว รวมทั้งการลงทุนภาคเอกชนที่ทยอยฟื้นตัวกลับมาได้บ้าง
เศรษฐกิจไทยส่อชะลอตัว จากพิษ ‘กำแพงภาษี’
สำหรับภาพรวมของเศรษฐกิจในปี 2568 คาดว่าจะเห็นการชะลอตัวอย่างชัดเจนขึ้นโดยเฉพาะช่วงครึ่งหลังของปี สาเหตุหลักมาจากการถูกกีดกันทางการค้า รวมถึงปัจจัยลบจากนโยบายการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่จะมีความชัดเจนมากขึ้นในประเทศ จึงคาดว่า GDP ของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 จะขยายตัวชะลอตัวลงเหลือประมาณ 2%
“นโยบายกำแพงภาษีของสหรัฐฯ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่เข้ามากดดันเศรษฐกิจของไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ทำให้ภาคการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 มีความเสี่ยงที่จะมีการเติบโตที่ติดลบค่อนข้างสูง” ดร.ปุณยวัจน์ กล่าว
เนื่องจากทั้งปัจจัยจากฐานส่งออกของไทยปี 2567 สูง รวมทั้งประเด็นการกีดกันทางการค้าน่าจะเข้ามีบทบาทมากขึ้น รวมทั้งประเด็นการตั้งกำแพงภาษีของสหรัฐฯ กดดันให้การส่งออกไทยมีความเสียชะลอตัวในช่วงไตรมาส 3-4/2568 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยกดดันจากภาคการผลิตของไทยที่ยังไม่ฟื้น หลังมีอัตราการเติบโตติดลบมา 2 ปีติดต่อกันในช่วงก่อนหน้านี้ โดยเป็นปัจจัยกดดันเพิ่มเติมเข้ามา ทั้งจากประเด็นการทะลักเข้ามาของสินค้าจีนที่เข้ามาในประเทศไทยจากผลกระทบที่ถูกกีดกันทางการค้าจากสหรัฐฯ
“มุมมองต่อภาพรวมธุรกิจของไทยในปีนี้เหมาะช่วงครึ่งปีแรกมองว่ายังพอไปได้แต่ช่วงครึ่งปีหลังค่อนข้างน่าเป็นห่วง”
ดร.ปุณยวัจน์ กล่าวต่อว่า เศรษฐกิจไทยยังมีประเด็นที่น่ากังวลเพิ่ม เนื่องจากไทยมีการพึ่งพิงตลาดส่งออกจากสหรัฐฯ ที่สูงมีสัดส่วนถึง 18-19% ของตลาดส่งออกทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากในอดีตที่เคยอยู่ในระดับ 11% ขณะที่อีกด้านไทยยังพึ่งพิงการนำเข้าจากจีนในส่วนที่สูงปัจจุบันมีสัดส่วน 1 ใน 4 ของสินค้านำเข้าทั้งหมดจากต่างประเทศ
“จะเห็นได้ว่าทั้งสหรัฐและจีนมีความสำคัญต่อการค้าของไทย ซึ่งหากสหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากไทย ในขณะเดียวกันก็ตั้งกำแพงสินค้านำเข้าจากจีน ก็จะมีผลกระทบต่อไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยไทยมีความเสี่ยงที่จะส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ได้น้อยลง”
ขณะที่ผลกระทบทางอ้อมก็ต้องให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน หลังจากที่สหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีสินค้าจากจีนก็มีความเสี่ยงสูงที่สินค้าจากจีนจะทะลักเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น
ประเด็นดังกล่าวเป็นปัจจัยกดดันต่อภาคการผลิตของไทยซึ่งเดิมยังคงไม่ฟื้นตัว จะเห็นปัจจัยที่มีผลกระทบที่ชัดเจนต่อเศรษฐกิจของไทยที่มากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้อย่างแน่นอน
ปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง ฉุดรั้งการบริโภค
สำหรับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนในประเทศไทยที่มีแนวโน้มลดลงต่ำกว่า 90% ของ GDP มาอยู่ที่ประมาณ 89% ในช่วงสิ้นปี 2567 แต่เมื่อเจาะเข้าไปดูรายละเอียดจะพบว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่ลดลงเนื่องจากการปล่อยสินเชื่อในกลุ่มรายย่อยที่ชะลอตัวลง ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์สินเชื่อมีความตึงตัว และธนาคารพาณิชย์เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น
และหากดูข้อมูลในอดีตในช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของไทยสามารถเติบโตได้ ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยสนับสนุนจากการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งในอดีตอัตราการเติบโตของการปล่อยสินเชื่อของภาคครัวเรือนจะมีตัวเลขเติบโตที่สูงกว่าอัตราการขยายตัวของ GDP ในแต่ละปี
แต่ข้อมูลล่าสุดในช่วงไตรมาส 3/2567 ที่ออกมาพบว่า สินเชื่อของภาคครัวเรือนมีการเติบโตเพียง 0.7% ขณะที่ GDP เติบโตได้เป็นตัวเลขที่สูงกว่าการเติบโตของหนี้ครัวเรือนถือเป็นครั้งแรกที่ GDP ของไทยสามารถเติบโตในอัตราที่สูงกว่าการขยายตัวของสินเชื่อครัวเรือน โดยข้อมูลดังกล่าวสะท้อนว่าเศรษฐกิจของไทยในช่วงที่ผ่านมามีการพึ่งพาการกู้ยืมเพื่อนำไปใช้ในการบริโภค
ส่วนในอนาคตการพึ่งพาในการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อนำมาใช้เพื่อการบริโภคจะทำได้ยากขึ้น สะท้อนว่าในอนาคตการขยายตัวของการบริโภคก็มีโอกาสที่จะชะลอตัวลงซึ่ง กลุ่มที่รับผลกระทบ เช่น กลุ่มสินค้าคงทนคือ รถยนต์ก็มีแนวโน้มที่จะหดตัวหรือชะลอตัวลงกลับมากดดันต่อเศรษฐกิจของไทยได้
จับตาประชุม กนง. นัดแรกปีนี้คงดอกเบี้ย
ดร.ปุณยวัจน์ กล่าวต่อว่า ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการประชุมนัดแรกของปี 2568 ซึ่งก่อนที่มีการประชุมดังกล่าวสภาพัฒน์จะมีการรายงาน GDP ไตรมาส 4/2567 ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวออกในระดับที่ดี สอดคล้องกับประมาณการ
อย่างไรก็ดี จากการสื่อสารล่าสุดของ กนง. ซึ่งระบุว่าสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่มีความไม่แน่นอนที่สูงนโยบายดอกเบี้ยจะมีส่วนช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ค่อนข้างจำกัดมาก บวกกับมุมมองที่เชื่อว่าความไม่แน่นอนต่างๆ จะยังคงกระจุกตัวอยู่ในช่วงไตรมาส 1 และ 2 ของปีนี้ จากนโยบายของ ทรัมป์ ที่ยังไม่ชัดเจน
ดังนั้น SCB EIC ประเมินว่า การประชุมนัดแรกของ กนง. ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะคงดอกเบี้ยที่ระดับเดิมที่ 2.25% และคาดว่าจะยังคงดอกเบี้ยต่อไปช่วงไตรมาส 1-2 ปีนี้
แต่หากนโยบายของ ทรัมป์ เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น และเริ่มมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทย ก็เชื่อว่ากนง.ก็มีโอกาสที่จะเริ่มลดดอกเบี้ยลงในช่วงกลางปีนี้ หลังจากผลกระทบจากความไม่แน่นอนต่างๆ เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น เพื่อใช้รับมือความผันผวนทางเศรษฐกิจที่มีเพิ่มขึ้นและชัดเจนขึ้น