×

รัฐบาลยืนยัน ไม่พบการแพร่ระบาดโรคพิษสุนัขบ้าจากโคสู่โคร่วมฝูงหรือผู้เลี้ยงสัตว์ แนะนำปรุงสุกก่อนบริโภคเพื่อความมั่นใจ

โดย THE STANDARD TEAM
08.02.2025
  • LOADING...
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงสถานการณ์ โรคพิษสุนัขบ้า ใน โค

วันนี้ (8 กุมภาพันธ์) อนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ปัจจุบันพบการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในบางพื้นที่และพบมากในกลุ่มสุนัขจรจัด จากข้อมูลการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าย้อนหลัง 5 ปี พบการติดเชื้อในโคและกระบือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 26 ตัวต่อปี คิดเป็น 10-15% ของจำนวนสัตว์ที่พบการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าทั้งหมดในประเทศไทย และมีสาเหตุการติดเชื้อมาจากการถูกสุนัขกัด ซึ่งพบมากในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ของประเทศไทย

 

ทั้งนี้ ยังไม่พบการรายงานการแพร่ระบาดจากโคสู่โคร่วมฝูงหรือผู้เลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกประกาศเตือนว่า การรับประทานเนื้อโคที่ติดเชื้อโดยไม่ผ่านการปรุงสุกอาจมีความเสี่ยงต่อการติดโรคพิษสุนัขบ้า ดังนั้นหากมีการบริโภคเนื้อสัตว์ที่ติดเชื้อควรเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโดยด่วน อย่างไรก็ตาม โอกาสติดเชื้อจากการสัมผัสหรือบริโภคเนื้อดิบถือว่าค่อนข้างน้อย

 

อนุกูลกล่าวต่อว่า กรมปศุสัตว์ดำเนินมาตรการเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าอย่างเข้มงวด ดังนี้

 

  1. ลงพื้นที่สอบสวนโรคทันทีเมื่อพบการระบาด 
  2. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้สุนัขและแมวทุกตัวรอบจุดเกิดโรค
  3. ติดตามหาคนหรือสัตว์ที่ถูกกัดภายในรัศมี 5 กิโลเมตรจากจุดเกิดโรค
  4. กักสัตว์ที่ถูกกัดหรือสัมผัสเชื้อ รวมถึงโคและกระบือในฝูงที่พบโรค เพื่อดูอาการ 15 วัน พร้อมฉีดวัคซีน
  5. จับกุมสุนัขจรจัดในพื้นที่ต้องสงสัย เพื่อนำมากักดูอาการ ทำหมัน และฉีดวัคซีน
  6. ประกาศเขตโรคระบาดสัตว์ชั่วคราวเป็นเวลา 30 วัน และเฝ้าระวังโรคต่อเนื่องนาน 6 เดือน
  7. ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนเรื่องการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า 

 

สำหรับกรณีที่จำเป็นต้องทำลายปศุสัตว์ที่สงสัยติดเชื้อ กรมปศุสัตว์จะจ่ายเงินชดเชย 3 ใน 4 ของราคาสัตว์ ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์

 

นอกจากนั้น กรมปศุสัตว์ยังบูรณาการแก้ปัญหาสุนัขและแมวจรจัด เพื่อแก้ปัญหาต้นตอของโรค โดยร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินมาตรการควบคุมจำนวนประชากรสุนัขและแมวด้วยการผ่าตัดทำหมัน ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ครอบคลุมมากกว่า 80% ทุกปี ศึกษาวิจัยและบริหารจัดการปัญหาสุนัขจรจัดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และให้ความรู้ประชาชนเรื่องการเลี้ยงสัตว์อย่างรับผิดชอบ

 

ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นสุนัข แมว หรือปศุสัตว์ แสดงอาการต้องสงสัยโรคพิษสุนัขบ้า สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่อาสาปศุสัตว์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ โทร. 06 3225 6888 หรือแอปพลิเคชัน DLD4.0 เพื่อให้เข้าตรวจสอบและเก็บตัวอย่างส่งตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการและเข้าดำเนินการควบคุมโรคได้ทันที

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising