วันนี้ (5 กุมภาพันธ์) ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ ในฐานะรักษาการแทนเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่ตรวจสอบสัญญาณอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์ตลอดแนวชายแดนไทย-เมียนมา ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
ไตรรัตน์เน้นย้ำว่า นับจากวันนี้ไป 15 วัน เสาสัญญาณตลอดแนวชายแดน 24 ต้นจะต้องถูกรื้อถอน เพื่อป้องกันประเทศใกล้เคียงลักลอบใช้สัญญาณ ซึ่งที่ผ่านมา กสทช. มีการปรับเปลี่ยนวิธีกระจายสัญญาณแล้ว โดยหันจานสัญญาณให้เข้าประเทศไทย แต่กลับพบว่ามีสัญญาณเล็ดลอด
ซึ่งฝั่งประเทศเพื่อนบ้านได้ใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Repeater (ภาพที่ 2 ในอัลบั้มภาพ) ขยายสัญญาณไปใช้งานต่อ ซึ่งสัญญาณหลังขยายผ่านเครื่องมือแล้วจะมีความแรงและขอบเขตการกระจายใกล้เคียงกับเสาต้นทาง จึงเป็นที่มาให้ กสทช. ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการป้องกันอีกครั้ง
ส่วนที่ประชาชนสะท้อนว่า การตัดไฟอาจไม่ใช่การแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ควรเป็นการตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตและสัญญาณโทรศัพท์ ไตรรัตน์ระบุว่า การตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือทำไม่ยาก เพียงนำเสาอากาศออกจากเสาและเปลี่ยนเป็นเสาขนาดเล็ก เพื่อยิงสัญญาณเฉพาะระยะใกล้ๆ ให้เพียงพอกับคนในประเทศ
ส่วนสัญญาณอินเทอร์เน็ตขณะนี้ไม่แน่ชัดว่าอีกฝั่งประเทศมีการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อทำความผิดหรือไม่ ทำให้ไม่สามารถปิดสัญญาณได้ทันที ซึ่งนี่คือปัญหาใหญ่ของ กสทช. ทั้งนี้ ปัจจุบันมีบริษัทในฝั่งเมียนมาที่ใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ตจากไทยจดทะเบียนถูกต้องประมาณ 15-20 ราย
ทั้งนี้ แหล่งข่าวจาก กสทช. ให้ข้อมูลทีมข่าว THE STANDARD เพิ่มเติมว่า ปัจจุบันยังมีสายอินเทอร์เน็ตและสายโทรศัพท์ลากผ่านด้วยท่อใต้ดินและใต้แม่น้ำ ซึ่งมีอีกหลายจุดที่ทางหน่วยงานภาครัฐยังสืบไม่พบ และการลากลักษณะนั้นจะสามารถส่งสัญญาณที่มีความแรงสูงได้
ส่วนประเด็นที่ชาวเมียนมาเลือกซื้อซิมโทรศัพท์จากประเทศไทย เนื่องจาก สัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตของประเทศไทยมีความเร็วและแรงกว่าเมื่อเทียบกัน อีกทั้งค่าบริการถูกกว่ามากถึง 3 เท่า เช่น อินเทอร์เน็ต 1MB ที่ประเทศไทยราคา 599 บาท แต่ฝั่งเมียนมาจะอยู่ที่ราคา 1,800 บาท