×

เปิดมุมมอง 4 นักเศรษฐศาสตร์ต่อเศรษฐกิจไทยปี 2568 และผลกระทบจากภาษี ‘ทรัมป์ 2.0’

04.02.2025
  • LOADING...

4 นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2568 โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ไม่เกิน 3% ในปีนี้ พร้อมวิเคราะห์ผลกระทบจากนโยบาย ‘ทรัมป์ 2.0’ เตือนผลกระทบภาษีอาจไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในภาคส่งออกไทย

 

ในงาน TEA Annual Forum 2025 สัมมนาเศรษฐกิจประจำปี 2568 ในหัวข้อ ‘ทางรอดไทย ในยุคโลกป่วน: Surviving the Year of Geopolitical Uncertainties’ ซึ่งจัดโดยสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

 

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า ผลกระทบจากนโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต่อประเทศไทย อาจไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงภาคส่งออกเท่านั้น เห็นได้จากการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าโคลอมเบีย แคนาดา และเม็กซิโก ก็มีจุดประสงค์ชัดเจนคือการจัดการกับปัญหาคนเข้าเมือง

 

ดร.พิพัฒน์ ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า ในวันแรกที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งได้ออก Presidential Memorandum เกี่ยวกับนโยบายทางการค้า ที่ให้ไปตรวจสอบการค้าที่ไม่เป็นธรรม (Unfair Trade Practice) ของประเทศอื่นๆ ที่มีต่อสหรัฐฯ ซึ่งประเทศไทยก็เข้าข่ายทำการค้าที่ไม่เป็นธรรมกับสหรัฐฯ ด้วย ตัวอย่างเช่น มีสินค้าหลายประเภทที่สหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าจากไทย ‘น้อยกว่า’ ที่ไทยเก็บจากสหรัฐฯ เช่น ภาคเกษตรและภาคอาหาร

 

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ไทยยังแบนการนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐฯ ขณะเข้าร่วม CPTPP โดยอ้างว่าสหรัฐฯ ใช้สารเร่งเนื้อแดง ซึ่งอาจนับได้ว่าเป็นการใช้อุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers: NTBs) จึงอาจทำให้ไทยถูกกล่าวหาว่าใช้ Unfair Trade Practice ต่อสหรัฐฯ ได้ ดังนั้นภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบอาจไม่ใช่แค่ภาคส่งออก แต่เป็นภาคส่วนอื่นๆ ในประเทศด้วย (Domestic Sectors)

 

ด้าน ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้บริหารสำนักวิจัยธนาคาร CIMB Thai กล่าวเตือนด้วยว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนต้องเกิดขึ้นต่อเนื่องอยู่แล้ว ดังนั้นจีนต้องหาทางออกว่าจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจโตได้ตามเป้า 5% และเพื่อจะให้โตได้ตามนี้ จีนจำเป็นต้องเร่งการผลิตสินค้า เพื่อให้คนในประเทศจีนมีรายได้และมีงานทำ ดังนั้นเมื่อจีนมีผลผลิตเหลือก็ย่อมต้องเร่งระบายสินค้าออกไปประเทศคู่ค้าอย่างประเทศไทย เป็นต้น

 

ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จึงกล่าวเสริมว่า เหรียญมีสองด้านเสมอ เนื่องจากสินค้าที่ไทยนำเข้าจากจีนมากที่สุดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมากลับไม่ใช่สินค้าอุปโภคบริโภค แต่เป็นชิ้นส่วนอุปกรณ์และเครื่องจักรที่ใช้ในโรงงาน เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าเหรียญมีสองด้าน ได้แก่ ด้านหนึ่งคือสินค้าราคาถูกจากจีน ก็จะมาแข่งกับสินค้าที่ผลิตในไทย ส่วนอีกด้านหนึ่งก็จะมีคนอีกกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการนำเข้าเครื่องจักรและชิ้นส่วนที่ราคาไม่แพง รวมถึงคุณภาพโอเค ทำให้เป็นการลดต้นทุนไปในตัว

 

ทรัมป์ 2.0 อาจเร่งเงินเฟ้ออีกครั้ง เปลี่ยนทิศทางลดดอกเบี้ย Fed?

 

นอกจากนี้ ดร.กิริฎา ยังเตือนอีกว่า นโยบายหลายประการของทรัมป์ รวมถึงนโยบายนำผู้อพยพผิดกฎหมายออกจากประเทศ (Deportation) ของทรัมป์อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ เร่งตัวขึ้นได้

 

“ปัจจุบันมีการประเมินว่าแรงงานอพยพผิดกฎหมายในสหรัฐฯ อยู่ที่ราว 8 ล้านคน โดยในยุคทรัมป์ 1.0 มีการส่งแรงงานอพยพผิดกฎหมายไปแล้วกว่า 1.5 ล้านคน สำหรับสมัยปัจจุบันทรัมป์ตั้งเป้าว่าจะนำแรงงานอพยพผิดกฎหมายออกจากประเทศให้หมด หมายความว่าอาจทำให้สหรัฐฯ เผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งมีโอกาสที่จะทำให้ค่าแรงในสหรัฐฯ สูงขึ้น เมื่อค่าแรงขึ้นก็ย่อมส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย และอัตราแลกเปลี่ยน” ดร.กิริฎา กล่าว

 

ดร.พิพัฒน์ เห็นด้วยว่านโยบายต่างๆ ในยุคทรัมป์ 2.0 มีโอกาสทำให้อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ สูงขึ้น จึงเป็นคำถามต่อไปว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจจำเป็นต้องพยายามคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับราว 2% ซึ่งอาจทำให้ Fed ไม่สามารถลดเงินเฟ้อได้ตามที่คาดไว้ในตอนแรก

 

Fed อาจลดดอกเบี้ยน้อยลง แต่ กนง. มีโอกาสลดมากกว่า 1 ครั้ง

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดร.พิพัฒน์ มองว่า สถานการณ์มีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก โดยอาจเห็นคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ยอย่างน้อย 1 ครั้ง หรือมากกว่า 1 ครั้ง เนื่องจาก ดร.พิพัฒน์ มองว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest Rate) ของไทย หรืออัตราดอกเบี้ยที่หักลบกับผลของเงินเฟ้อแล้ว อยู่ในระดับค่อนข้างสูง นอกจากนี้จากการสื่อสารของ ธปท. ก็ระบุชัดเจนว่าปัจจุบันคงอัตราดอกเบี้ยไว้เพื่อเก็บกระสุน รับมือกับความไม่แน่นอนต่างๆ รวมถึงความไม่แน่นอนจากประธานาธิบดีทรัมป์

 

สอดคล้องกับ ดร.อมรเทพ ที่เห็นด้วยว่าอาจเห็น ธปท. ลดดอกเบี้ยมากกว่า 1 ครั้ง เนื่องจากเศรษฐกิจมีข่าวร้ายค่อนข้างเยอะ ทั้งจากปัจจัยในประเทศและนอกประเทศ

 

ดร.อมรเทพ ยังมองด้วยว่านโยบายต่างๆ ของทรัมป์เตรียมจะกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษีเงินได้ต่างๆ หรือการขึ้นภาษีนำเข้า เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่กดดันบาทให้อ่อนค่าไปถึง 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐภายในปีนี้ก็เป็นไปได้

 

เปิดมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยปี 2568

 

ภายในงาน 4 นักเศรษฐศาสตร์ก็ยังเห็นตรงกันด้วยว่าเศรษฐกิจไทยปี 2568 น่าจะขยายตัวได้ไม่เกิน 3% ในปีนี้ โดยมีปัจจัยบวกและความเสี่ยง ดังนี้

 

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) มองว่า แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปีนี้คือภาคการท่องเที่ยว ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าน้อย โดย ดร.พชรพจน์ คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวเยือนไทยปีนี้มีโอกาสแตะ 39 ล้านคนจากระดับ 35.54 ล้านคนในปี 2567 โดยการเพิ่มขึ้นดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากแหล่งท่องเที่ยวที่ถูกสร้างขึ้นโดยมนุษย์ (Man-Made Destination) ตัวอย่างเช่น งานเทศกาล อีเวนต์ ศูนย์การประชุม และโรงแรม ฯลฯ

 

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้บริหารสำนักวิจัยธนาคาร CIMB Thai มองว่า อีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้มาจากการลงทุน เนื่องจากหนึ่งในข้อดีของสงครามการค้าคือการคาดการณ์ว่าจะมีการย้ายฐาน (Relocation) โดยจะเห็นได้จากในปีที่ผ่านมาเม็ดเงินการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ของไทยที่เพิ่มขึ้น แม้จะยังต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนก็ตาม

 

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร มองว่า อีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้คือการขยายตัวของการใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า รัฐบาลยังใช้นโยบายขาดดุลทางการคลัง โดยการเบิกจ่ายเริ่มเข้าสู่ระดับปกติ หลังจากในปี 2567 เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณ นอกจากนี้ในปี 2568 รัฐบาลอาจใช้มาตรการแจกเงินถึง 2 รอบ 

 

ดร.พิพัฒน์ กล่าวอีกว่า การส่งออกเป็นเครื่องจักรสำคัญของเศรษฐกิจไทย โดยในปี 2567 ส่งออกไทยขยายตัวถึง 4-5% โดยในปี 2568 ส่งออกไทยก็น่าจะขยายตัว 2-3% แต่สิ่งที่ไทยควรกังวลคือภาวะที่การนำเข้าโตเร็วกว่าการส่งออก โดยจะเห็นว่าในบางอุตสาหกรรม ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมส่งออกรถยนต์ของไทย ก็เริ่มเปลี่ยนผ่านจากการเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกไปเป็นการนำเข้ามาใช้แทน ภาวะดังกล่าวทำให้การขยายตัวของภาคการส่งออกไทยไม่ส่งผลไปถึงการขยายตัวของ GDP มากเท่าอดีตแล้ว 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising