×

บทสรุปเลือกตั้งนายก อบจ. ‘การเมืองท้องถิ่นในการเมืองระดับชาติ’ สีน้ำเงินชนะ แดงเสื่อมมนตร์ขลัง ส้มยังไม่ลึกซึ้งพอ

03.02.2025
  • LOADING...

ศึกการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั้ง 47 จังหวัด และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ทั่วประเทศทั้ง 76 จังหวัด เมื่อวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ของ 3 ก๊ก 3 สี (แดง-ส้ม-น้ำเงิน) 3 ขั้วพลังการเมืองไทย ได้ผลสรุปท้ายที่สุด เลือกตั้งท้องถิ่นหนนี้ ‘ไม่มี’ ใครชนะ หรือแพ้ขาด

 


 

ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงพรรคเพื่อไทย
ภาพ: พงศ์มนัส ทาศิริ

 


 

ประเดิมจากพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่มี ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ช่วยหาเสียง สามารถคว้าชัยจากศึกนี้ทั้งสิ้น 11 ที่นั่ง รวมเครือข่าย จาก 16 ที่นั่ง ดังนี้ 

 

  1. จังหวัดเชียงใหม่ ส่ง พิชัย เลิศพงศ์อดิศร ได้ 379,341 คะแนน เฉือนกับ พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ พรรคประชาชนที่ได้ 358,386 คะแนน 
  2. จังหวัดลำปาง ตวงรัตน์ โล่ห์สุนทร ได้ 189,863 คะแนน ชนะ ดาชัย เอกปฐพี กลุ่มพัฒนาลำปาง ที่ได้ 99,846 คะแนน
  3. จังหวัดน่าน นพรัตน์ ถาวงศ์ ได้ 124,151 คะแนน ชนะ สันติภาพ อินทรพัฒน์ ผู้สมัครอิสระ ที่ได้ 38,506 คะแนน
  4. จังหวัดแพร่ อนุวัธ วงศ์วรรณ ได้ 124,750 คะแนน ส่วนคู่แข่ง ประสงค์ ชุ่มเชย กลุ่มแพร่พัฒนา ได้ 74,934 คะแนน
  5. จังหวัดนครราชสีมา ยลดา หวังศุภกิจโกศล ได้ 621,882 คะแนน ส่วนคู่แข่ง มารุต ชุ่มขุนทด กลุ่มพัฒนาเมืองโคราช ได้ 181,856 คะแนน
  6. จังหวัดสกลนคร นฤมล สัพโส ได้ 238,887 คะแนน เอาชนะคู่แข่ง ชูพงศ์ คำจวง กลุ่มพลังสกลนคร อดีตนายก อบจ. ได้ 99,712 คะแนน และ อนุรักษ์ บุญศล สังกัดอิสระ ได้ 86,148 คะแนน
  7. จังหวัดหนองคาย วุฒิไกร ช่างเหล็ก ได้ 106,228 คะแนน แข่งกับ ยุทธนา ศรีตะบุตร จากกลุ่มรักหนองคาย ได้ 99,636 คะแนน
  8. จังหวัดมหาสารคาม พลพัฒน์ จรัสเสถียร ได้ 283,401 คะแนน เอาชนะ คมคาย อุดรพิมพ์ อดีตนายก อบจ. 2 สมัย กลุ่มอิสระเครือข่ายสีน้ำเงิน ที่ได้ 99,696 คะแนน
  9. จังหวัดนครพนม อนุชิต หงษาดี ได้ 172,226 คะแนน เอาชนะ ศุภพานี โพธิ์สุ บุตรสาวศุภชัย โพธิ์สุ กลุ่มภูมิใจไทอำนาจ อดีตแชมป์เก่า เครือข่ายสีน้ำเงิน ได้ 142,317 คะแนน
  10. จังหวัดปราจีนบุรี ณภาภัช อัญชสาณิชมน ภรรยา ‘สจ.โต้ง’ ผู้ล่วงลับ ได้ 128,156 คะแนน ชนะคู่แข่ง จำรูญ สวยดี พรรคประชาชน ที่ได้ 59,529 คะแนน และอำไพ กองมณี ที่ได้ 31,749 คะแนน
  11. จังหวัดฉะเชิงเทรา กลยุทธ ฉายแสง น้องชาย จาตุรนต์ ฉายแสง จากกลุ่มรวมใจพัฒนา เอาชนะทิ้งห่างคู่ต่อสู้แบบไม่เห็นฝุ่นด้วยคะแนน 173,008 คะแนน

 


 

อนุทิน ชาญวีรกูล พร้อมเครือข่ายสีน้ำเงินในพื้นที่ภาคอีสาน

อนุทิน ชาญวีรกูล พร้อมเครือข่ายสีน้ำเงินในพื้นที่ภาคอีสาน
ยกมือไหว้ขอบคุณหลังชนะการเลือกตั้งท้องถิ่น

 


 

ส่วนชัยชนะคนในเครือข่ายสีน้ำเงิน แม้จะไม่มีการส่งผู้สมัครในนามพรรคอย่างเป็นทางการ แต่หลังม่านการเมือง อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ก็ยังยอมรับว่าพรรคภูมิใจไทยไม่ได้ส่งชิงสนามท้องถิ่น แต่มีคนในเครือข่ายซึ่งที่มีความสัมพันธ์อันดีสนับสนุนอยู่ ในศึกครั้งนี้เครือข่ายสีน้ำเงินคว้าชัยนายก อบจ. ไปทั้งสิ้น 10 ที่นั่ง

 

  1. จังหวัดศรีสะเกษ ดินแดนแห่งการไล่หนูตีงูเห่า วิชิต ไตรสรณกุล ในนามกลุ่มฅนท้องถิ่น อดีตแชมป์เก่า 6 สมัย ได้ 345,467 คะแนน เอาชนะ วิวัฒน์ชัย โหตระไวศยะ พรรคเพื่อไทย ที่ได้ 219,443 คะแนน
  2. จังหวัดเชียงราย อทิตาธร วันไชยธนวงศ์ ผู้สมัครอิสระ เครือญาติกับ รังสรรค์ วันไชยธนวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง (ประจำ อนุทิน ชาญวีรกูล) ได้ 261,301 คะแนนเอาชนะ สลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช จากพรรคเพื่อไทย ได้ 243,434 คะแนนแบบฉิวเฉียด
  3. จังหวัดบึงกาฬ แว่นฟ้า ทองศรี ภรรยา ทรงศักดิ์ ทองศรี รมช. มหาดไทย กลุ่มนครนาคา อดีตแชมป์เก่า ได้ 92,396 คะแนน เอาชนะ ว่าที่ ร.ต. ภูมิพันธ์ บุญมาตุ่น จากพรรคเพื่อไทย ได้ 66,216 คะแนน
  4. จังหวัดอำนาจเจริญ พนัส พันธุ์วรรณ จากกลุ่มภูมิใจไทอำนาจ ได้ 80,066 คะแนน เอาชนะ ดะนัย มะหิพันธ์ พรรคเพื่อไทย ได้ 43,438 คะแนน 
  5. จังหวัดลพบุรี อรพิน จิระพันธุ์วาณิช แชมป์มาหลายสมัย เอาชนะคู่แข่ง ทั้ง พล.อ. สุนัย ประภูชะเนย์ อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก, ศิริลักษณ์ ปัญญาคำ อดีตเคยเป็นเลขานุการนายก อบจ.ลพบุรีไปด้วยคะแนน 207,377 คะแนน
  6. จังหวัดพิจิตร ศึกสายเลือด กฤษฏ์ เพ็ญสุภา หลานของ ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ อดีต สส. พิจิตร และรัฐมนตรีหลายกระทรวง ได้ 119,940 คะแนน ชนะ พ.ต.อ. กฤษฎา ภัทรประสิทธิ์ อดีตแชมป์เก่า ที่ได้ 56,981 คะแนน 
  7. จังหวัดแม่ฮ่องสอน อัครเดช วันไชยธนวงศ์ เครือญาติกับ รังสรรค์ วันไชยธนวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง (ประจำ อนุทิน ชาญวีรกูล) อีกเช่นกัน คว้าชัยด้วย 71,652 คะแนน ทิ้งห่าง ดนุภัทร์ เชียงชุม ที่ได้ 26,481 คะแนน
  8. จังหวัดกระบี่ สมศักดิ์ กิตติธรกุล อดีตนายก อบจ.กระบี่ 7 สมัย เอาชนะคู่แข่งด้วยคะแนนขาดลอยที่ 85,149 คะแนน
  9. จังหวัดสตูล สัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ อดีตแชมป์เก่าหลายสมัย เอาชนะคู่แข่งอย่างขาดลอยด้วยคะแนน 56,955 คะแนน
  10. จังหวัดบุรีรัมย์ ภูษิต เล็กอุดากร หลานชาย เนวิน ชิดชอบ ครูใหญ่พรรคภูมิใจไทย และประธานบริหารสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด กลุ่มฅนบุรีรัมย์ ชนะขาดคู่แข่ง 417,161 คะแนน และได้ ส.อบจ. ยกทีมทั้ง 42 เขต 

 

ขณะเดียวกัน ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าบรรดาบ้านใหญ่ต่างๆ ที่เลือกเส้นทางอิสระไม่สังกัดพรรคการเมืองใด ต่างก็คว้าชัยได้ถึง 12 จังหวัด

 

  1. จังหวัดชลบุรี วิทยา คุณปลื้ม อดีตแชมป์เก่า กลุ่มเรารักชลบุรี ได้ 314,944 คะแนน เอาชนะ ชุดาภัค วสุเนตรกุล พรรคประชาชน ที่ได้ 157,243 คะแนน
  2. จังหวัดระยอง ปิยะ ปิตุเตชะ อดีตแชมป์เก่า ได้ 159,649 คะแนน เอาชนะ ทรงธรรม สุขสว่าง พรรคประชาชน ที่ได้ 98,029 คะแนน และ สุวิท เหล่าฤทธิไกร อดีตนักการเมืองท้องถิ่น ที่ได้ 29,341 คะแนน
  3. จังหวัดจันทบุรี ธนภณ กิจกาญจน์ อดีตแชมป์เก่า ได้ 116,567 คะแนน เอาชนะ มานะ ชนะสิทธิ์ พรรคประชาชน ที่ได้ 66,214 คะแนน
  4. จังหวัดสมุทรปราการ สุนทร ปานแสงทอง กลุ่มสมุทรปราการก้าวหน้า จากบ้านใหญ่อัศวเหม ได้ 225,686 คะแนน เอาชนะ นพดล สมยานนทนากุล จากพรรคประชาชน ได้ 187,191 คะแนน
  5. จังหวัดสมุทรสาคร อุดม ไกรวัตนุสสรณ์ สังกัดอิสระ ได้ 125,277 คะแนน เอาชนะ เชาวริน ชาญสายชล พรรคประชาชน ที่ได้ 64,076 คะแนน 
  6. จังหวัดตราด วิเชียร ทรัพย์เจริญ อดีตแชมป์เก่า 5 สมัย กลุ่มลูกเมืองตราด ได้ 41,445 คะแนน เอาชนะ ชลธี นุ่มหนู อดีตผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรี พรรคประชาชน ที่ได้ 35,588 คะแนน
  7. จังหวัดนนทบุรี พ.ต.อ. ธงชัย เย็นประเสริฐ อดีตแชมป์เก่า 4 สมัย จากกลุ่มผึ้งหลวง ได้ 216,214 คะแนน โดยเอาชนะ เลิศมงคล วราเวณุชย์ พรรคประชาชน ที่ได้ 152,401 คะแนน 
  8. จังหวัดสระบุรี สัญญา บุญ-หลง อดีตแชมป์เก่า ได้ 133,553 คะแนน เอาชนะคู่แข่ง ทั้ง ประสิทธิ์ อนะมาน และ สุฑฒิชัย วงษ์ไพร ได้อย่างขาดลอย
  9. จังหวัดนครนายก นิดา ขนายงาม สังกัดอิสระ ได้ 51,360 คะแนน เอาชนะ จักรพันธ์ จินตนาพากานนท์ อดีตแชมป์เก่าพรรคประชาชน ที่ได้ 48,087 คะแนน
  10. จังหวัดพังงา บำรุง ปิยนามวาณิช กลุ่มรักษ์พังงาพัฒนาพังงา อดีตนายก อบจ. หลายสมัย ได้ 52,248 คะแนน เอาชนะคู่แข่งโดยเฉพาะ สุทธิโชค ทองชุมนุม พรรคประชาชน อย่างขาดลอย ที่ได้ 17,174 คะแนน
  11. จังหวัดภูเก็ต เรวัต อารีรอบ กลุ่มภูเก็ตหยัดได้ คว้าชัยด้วยคะแนน 86,616 คะแนน เอาชนะ นพ.เลอศักดิ์ ลีนะนิธิกุล พรรคประชาชน ที่ได้ 44,602 คะแนน 
  12. จังหวัดปัตตานี เศรษฐ์ อัลยุฟรี สังกัดอิสระ ได้ 194,649 คะแนน เอาชนะคู่แข่งได้อย่างขาดลอยเช่นกัน

 

ขณะที่เครือข่ายพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้เก้าอี้นายก อบจ. 3 จังหวัด ดังนี้

 

  1. จังหวัดสุราษฎ์ธานี โสภา กาญจนะ อดีต สส. หลายสมัย จากกลุ่มพลังสุราษฎร์ ได้คะแนน 205,479 คะแนน เอาชนะคู่แข่งทั้ง พงษ์ศักดิ์ จ่าแก้ว (กำนันศักดิ์) อดีตแชมป์เก่า ที่ได้ 159,488 คะแนน และ จิรชาติ เรืองวัชรินทร์ (หมอมุดสัง) พรรคประชาชน ที่ได้ 118,143 คะแนน
  2. จังหวัดพัทลุง วิสุทธิ์ ธรรมเพชร ชนะการเลือกตั้งและได้คะแนนเสียง 134,128 คะแนน
  3. จังหวัดสมุทรสงคราม เจษฎา ญาณประภาศิริ อดีตประธานสภา อบจ.สมุทรสงคราม ได้ 30,407 คะแนน เอาชนะ นันทิยา ลิขิตอำนวยชัย พรรคประชาชนที่ได้ 23,791 คะแนน และ กาญจน์สุดา ปานะสุทธะ อดีตแชมป์เก่า ได้ 14,086 คะแนน 

 

ส่วนเครือข่ายพรรคประชาธิปัตย์นั้น ได้ 3 จังหวัด 

 

  1. จังหวัดสงขลา สุพิศ พิทักษ์ธรรม อดีตอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ทีมสงขลาพลังใหม่ ได้ 290,040 คะแนน เอาชนะ ประสงค์ บริรักษ์ จากเครือข่ายสีน้ำเงิน ที่ได้ 133,656 คะแนน และ นิรันดร์ จินดานาค พรรคประชาชน ที่ได้ 94,700 คะแนน
  2. จังหวัดตรัง บุ่นเล้ง โล่สถาพรพิพิธ อดีตแชมป์เก่า เอาชนะคู่แข่ง ยรรยง ตันติตรีญาณ กลุ่มปวงชนศรัทธา อย่างขาดลอยด้วยคะแนน 171,694 คะแนน ต่อ 30,467 คะแนน 
  3. จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สราวุธ ลิ้มอรุณรักษ์ กลุ่มประจวบโมเดล อดีตแชมป์เก่าประธานสโมสรฟุตบอลพีที ประจวบ เอฟซี ได้ 118,136 คะแนน เอาชนะ นิติ ปลั่งศรีสกุล ได้ 81,706 คะแนน

 

ส่วนเครือข่ายพรรคประชาชาติ ได้ 2 จังหวัด

 

  1. จังหวัดนราธิวาส กูเซ็ง ยาวอหะซัน อดีตนายก อบจ. หลายสมัย ยังรักษาแชมป์ได้ 187,141 เฉือนเอาชนะ อับดุลลักษณ์ สะอิ ที่ได้ 177,831 คะแนน 
  2. จังหวัดยะลา มุขตาร์ มะทา อดีตแชมป์เก่า น้องชาย วันมูหะหมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เอาชนะ อับดุลลาเตะ ยากัด คู่แข่งเพียงคนเดียว ด้วยคะแนน 144,130 คะแนน เป็นเก้าอี้นายก อบจ.ยะลา ไปอีก 1 สมัย

 

เครือข่ายพรรคชาติไทยพัฒนา ได้ 2 จังหวัด

 

  1. จังหวัดสุพรรณบุรี อุดม โปร่งฟ้า อดีตที่ปรึกษากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (วราวุธ ศิลปอาชา) เอาชนะ บุญชู จันทร์สุวรรณ อดีตแชมป์เก่า 5 สมัย พรรคเพื่อไทยอย่างขาดลอย ด้วยแต้ม 204,108 ต่อ 88,575 คะแนน
  2. จังหวัดนครปฐม จิรวัฒน์ สะสมทรัพย์ จากบ้านใหญ่สะสมทรัพย์ เอาชนะคู่แข่ง สมพร ภพักตร์จันทร์ ลงสมัครอดีตนายก อบต.วังน้ำเขียว อำเภอกำแพงแสน ไปด้วยคะแนน 186,072 ต่อ 103,297 คะแนน 

 

เครือข่ายพลังประชารัฐ ได้ 2 จังหวัด

 

  1. จังหวัดสิงห์บุรี ศุภวัฒน์ เทียนถาวร อดีตนายก อบจ.สิงห์บุรี ที่มีแนวร่วมบ้านใหญ่ร้านทองแม่กิมลี้ ตระกูลธนาคมานุสรณ์ ลงสนามแบบไร้คู่แข่ง และเข้าป้ายในที่สุดด้วยคะแนน 76,031 คะแนน
  2. จังหวัดมุกดาหาร วีระพงษ์ ทองผา พี่ชาย วิริยะ ทองผา สส. มุกดาหาร เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ ได้ 83,703 คะแนน เอาชนะ บุญฐิน ประทุมลี พรรคเพื่อไทย ได้ที่ 46,547 คะแนน ซึ่งห่างเกือบครึ่งต่อครึ่ง

 

เครือข่ายพรรคกล้าธรรม ได้ 1 จังหวัด

 

  1. จังหวัดหนองบัวลำภู ศรัณยา สุวรรณพรหม จากพรรคกล้าธรรม ได้ 119,743 คะแนน เอาชนะ วุฒิพงษ์ ศิริสถิตย์ แชมป์เก่า ได้ 66,603 คะแนน

 

พรรคประชาชนปักธงส้ม 1 จังหวัด

 

  1. จังหวัดลำพูน วีระเดช ภู่พิสิฐ ทายาท ประเสริฐ ภู่พิสิฐ อดีตนายก อบจ.ลำพูน และอดีตประธานหอการค้าจังหวัดลำพูน ผู้สมัครจากพรรคประชาชนที่สามารถคว้าชัยเหนือพรรคเพื่อไทย อย่าง อนุสรณ์ วงศ์วรรณ อดีตนายก อบจ.ลำพูน ไปด้วยคะแนน 109,372 ต่อ 103,405 คะแนน

 


 

รศ. ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว

รศ. ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

 


 

สีน้ำเงินชนะ ทักษิณเสื่อมมนตร์ขลัง

 

รศ. ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา วิเคราะห์ภาพรวมผลการเลือกตั้งนายก อบจ. ทั้ง 47 จังหวัดกับ THE STANDARD ว่า การสู้ศึกของสามก๊ก (ส้ม-แดง-น้ำเงิน) ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ก๊กที่ได้รับชัยชนะมากที่สุดคือ ‘สีน้ำเงิน’

 

หลายพื้นที่ที่เครือข่ายสีน้ำเงินมีการฟาดฟันกับพรรคสีแดงยังคงสามารถรักษาพื้นที่ไว้ได้ ขณะเดียวกันก็ยังมีพื้นที่ที่เป็นเครือข่ายพันธมิตรที่อาจไม่ได้เป็นสีน้ำเงิน 100% เป็นบ้านใหญ่อิสระ หรือพรรคการเมืองที่อยู่ตรงข้ามกับพรรคแดง ไม่ว่าจะเป็นพรรครวมไทยสร้างชาติ หรือพรรคพลังประชารัฐ พรรคเหล่านี้เหมือนจะเป็นอิสระ 

 

แต่ในความสัมพันธ์ทางการเมืองระยะยาว พรรคเหล่านี้จะเป็นพันธมิตรกับพรรคน้ำเงินได้มากกว่าพรรคสีแดง ถ้ามองในภาพรวมและความสัมพันธ์กับการเมืองในอนาคต พรรคสีน้ำเงินสามารถยึดครองพื้นที่ อบจ. ได้เกินครึ่งหนึ่งของจังหวัดทั้งหมด

 

ในขณะที่พรรคสีแดงนั้น ถึงแม้ว่าจะชนะและรักษาพื้นที่ที่ลงสมัครได้ 10 จังหวัด แต่ตัวเลขที่ได้มานั้นสะท้อนให้เห็นได้ว่า ทักษิณไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะเป็น ‘ศูนย์กลาง’ ในการครองใจประชาชนได้อีกแล้ว

 

รศ. ดร.โอฬาร อธิบายเพิ่มว่า หลายพื้นที่ เช่น เชียงราย เป็นจังหวัดที่ถือเป็นอีกเมืองหลวงเขตอิทธิพลสำคัญของพรรคเพื่อไทย ทักษิณลงพื้นที่ 2 รอบ ประกาศชัดเจนว่า ยงยุทธ ติยะไพรัช เป็นน้องรักที่ไม่เคยทรยศ และไม่เคยหักหลัง แต่ปรากฏว่าก็ยังไม่สามารถสู้ ‘ตระกูลวันไชยธนวงศ์’ ซึ่งเป็นตระกูลที่ได้แรงหนุนมาจากพรรคภูมิใจไทยได้ เมื่อคะแนนการเลือกตั้งออกมาเป็นเช่นนี้ แสดงว่าทักษิณและพรรคเพื่อไทยนั้น ‘เสื่อมมนตร์ขลัง’ แล้ว

 


 

ทักษิณ ชินวัตร ลงพื้นที่ตลาดวโรรส (กาดหลวง) จังหวัดเชียงใหม่

ทักษิณ ชินวัตร ลงพื้นที่ตลาดวโรรส (กาดหลวง) จังหวัดเชียงใหม่
ช่วย พิชัย เลิศพงศ์อดิศร ผู้สมัครนายก อบจ. พรรคเพื่อไทยหาเสียง
ภาพ: พงศ์มนัส ทาศิริ

 


 

สำหรับผลการเลือกตั้งที่จังหวัดเชียงใหม่ นักคณิตศาสตร์และนักกลยุทธ์ทางการเมืองอย่างทักษิณทราบดีว่า แม้ผลจะชนะในเกม แต่แพ้ในทางการเมือง เพราะคะแนนที่ได้มามีส่วนต่างที่น้อยเกินไป ซึ่งสะท้อนว่าบารมีคุณทักษิณนั้นไม่มีอยู่จริง และเป็นเรื่องยาก หากทักษิณจะเคลมต่อว่าพื้นที่ที่ได้รับชัยชนะมานั้นเป็นผลมาจากบารมีของตนเอง ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในตัวของทักษิณกับบรรดากลุ่มชนชั้นนำที่ให้อำนาจพิเศษมาเป็นแกนนำหลักในการต่อสู้กับสมรภูมิเลือกตั้งในปี 2570 อย่างแน่นอน

 

แต่การเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ก็ไม่อาจที่วัดผลสู่การเลือกตั้งในระดับชาติได้ เนื่องจากการเลือกตั้งใหญ่มีอยู่หลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่การรักษาการเป็นพันธมิตรกับพวกบรรดาชนชั้นนำหรือตระกูลการเมืองท้องถิ่นได้จะเป็นหลักประกันเบื้องต้น แม้จะไม่ได้เป็นตัวแปรหลักหรือตัวชี้ขาด แต่หากมีการวางแผนตั้งแต่ตอนนี้ จะสามารถควบคุมความได้เปรียบหลายอย่าง ก่อนที่จะก้าวไปสู่การเลือกตั้งปี 2570 ได้

 

ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า กระแสสีส้มมาแรงจากพิธา และอีกหลายปัจจัย ขณะเดียวกันความขัดแย้งจากบรรดาบ้านใหญ่ที่แตกตัวอยู่ในขั้วการเมืองต่างๆ หลังจากนี้จะมีการถอดบทเรียน หากยังอยู่แบบเดิมกลุ่มคนเหล่านี้จะแพ้พรรคส้มเหมือนเดิม ต้องเป็นพันธมิตรกันในทางใดทางหนึ่ง

 

บทเรียนราคาแพง ‘ส้ม-แดง-น้ำเงิน’

 

รศ. ดร.โอฬาร มองว่าบทเรียนราคาแพงของผู้นำขั้วสีแดงคือ ทักษิณประเมินสังคมไทยต่ำมากเกินไป ในรอบ 17 ปี ทักษิณยังคิดว่ากระแสนิยมในผลงาน ความรู้ความในอดีตของตนเองจะยังสามารถจะครองใจประชาชนได้ พูดอยู่เสมอว่า 17 ปีแห่งโอกาสที่เสียหายไปเขาจะกลับมาฟื้นฟูให้เหมือนกับเดิม ราวกับว่าจะเนรมิตได้เพียงชั่วข้ามคืน แต่เขาลืมไปว่าตลอด 17 ปีที่ผ่านมา ผู้คนเรียนรู้ทางการเมืองมากขึ้น ไม่คล้อยตาม รวมถึงไม่เชื่อและไม่ศรัทธาในตัวเขาแล้ว

 

ขณะเดียวกัน ทักษิณต้องถอดบทเรียนความพ่ายแพ้ในวันนี้ด้วยว่า ศักยภาพของพรรคเพื่อไทย แม้จะมีคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถ แต่คนเหล่านั้นกลับไม่ได้แสดงบทบาทใดๆ เลย โดยที่ตัวเองเป็นเดอะแบกอยู่คนเดียว ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้พรรคตกต่ำลงไปด้วย

 

ส่วนบทเรียนของ ‘พรรคสีน้ำเงิน’ เนื่องจากการเลือกตั้งรอบนี้มีพื้นที่สีน้ำเงินหลักๆ หลายแห่งที่พ่ายให้กับทักษิณ ก็ต้องมีการวางแผนใหม่ ต้องยอมรับว่าความเป็นบ้านใหญ่ ความเป็นตระกูลทางการเมือง หรือความเป็นสีน้ำเงินนั้นยังไม่เพียงพอ ต้องทำงานในเชิงนโยบายที่ทำให้ครองใจคนได้มากกว่านี้ ซึ่งที่ผ่านมาล้วนแพ้เพราะใช้แต่นามสกุลหรือใช้แต่เครือข่าย

 

พรรคสีน้ำเงินต้องพัฒนาการเมืองในพื้นที่ โดยใช้อำนาจของ อบจ. ที่มีอยู่ เข้าครองใจคนให้ได้มากกว่าความเป็นตระกูลการเมืองหรือชื่อเสียงของพรรค เช่น ตระกูลคุณปลื้ม ได้เปลี่ยนการเมืองจากนามสกุล เป็นการเมืองเชิงนโยบาย ปรับตัวให้ครองใจประชาชนผ่านผลงาน มากกว่าครองใจประชาชนผ่านการเป็นลูกหลานหรือนามสกุลดัง

 


 

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
ผู้ช่วยหาเสียงพรรคประชาชน
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 


 

ส่วนขั้วสีส้ม เป็นต้องถอดบทเรียนอย่างหนัก เพราะพ่ายแพ้ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ทั้งหมด เพราะวิธีการทำงานการเมืองจากส่วนกลางมากจนเกินไป ขณะเดียวกันผู้สมัครในท้องถิ่นไม่เรียนรู้วิถีธรรมชาติทางการเมือง (ภูมิทัศน์ทางการเมือง) ของแต่ละจังหวัดให้ลึกซึ้งดีพอ จึงทำได้แต่คะแนนนิยมเฉพาะในกลุ่มชนชั้นกลาง หรือเฉพาะในส่วนของคนเมืองที่มีความเจริญ แต่ในอำเภอรอบนอก ประชาชนส่วนใหญ่ยังอยู่ในความสัมพันธ์กับเครือข่ายนักการเมืองที่เป็นบ้านใหญ่ที่สามารถดูแลเขาได้ 

 

รศ. ดร.โอฬาร กล่าวว่า แท้ที่จริงตนเองเชียร์ให้พรรคส้มเริ่มงานการเมือง ส.อบจ. มาโดยตลอด กล่าวคือไม่ต้องรีบกับตำแหน่งนายก อบจ. เข้าไปเรียนรู้ในสภาท้องถิ่น เป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้คนที่มีความคิด มีอุดมการณ์ มีความฝันแบบก้าวไกล โดยเชื่อว่าในระยะยาวคนเหล่านี้ก็จะสามารถยกระดับตัวเองมาเป็นมาลงสมัครนายก อบจ. ได้ การเมืองคือการสะสมชัยชนะ ไม่จำเป็นจะต้องชนะเพียงชั่วข้ามคืน

 

นอกจากนี้ พรรคส้มก็มีวิธีการทำงานทางการเมืองที่ไม่ตรงไปตรงมา เช่น บอกมาโดยตลอดว่าจะไม่ส่งบ้านใหญ่ลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่หลายจังหวัดพรรคส้มเองก็ส่งบ้านใหญ่ เช่น จังหวัดนครนายก และที่แพ้ก็เพราะไม่จริงใจกับประชาชน ซึ่งทุกคนก็รู้ว่าคนที่ลงสมัครเลือกตั้งนั้นไม่ใช่ส้มแท้ เป็นแค่เปลือกส้ม

 

หรือกรณีที่จังหวัดชลบุรี ธนาธรให้ สจ. จำนวน 9 คนของคณะก้าวหน้าลาออกเปิดทางให้มีการเลือกใหม่ โดยเอื้อให้กับเพื่อนตนเองที่ไม่ได้จบปริญญาตรี หวังว่าจะใช้เงื่อนไขนี้ไปลงสมัคร ส.อบจ. ทั้งที่ตัวเองก็โจมตีพรรคอื่นมาโดยตลอดว่า การลาออกก่อนครบวาระนั้นจะทำให้ประชาชนต้องสูญเสียภาษีในการเลือกตั้งใหม่ แม้จะไม่ผิดกฎหมายแต่สิ่งเหล่านี้ผิดสัจจะที่ให้ไว้กับประชาชน

 

ก่อนจบบทสนทนา THE STANDARD ขอให้ รศ. ดร.โอฬาร ในฐานะนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเมืองท้องถิ่น ‘นิยาม’ ศึกเลือกตั้ง อบจ. ครั้งนี้ ตลอด 45 วันที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไร

 

รศ. ดร.โอฬารให้คำนิยามว่า “การเมืองท้องถิ่นในการเมืองระดับชาติ การเมืองชาติในการเมืองท้องถิ่น” 

 


 

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย
ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 


 

อนุทินตอกย้ำ บ้านใหญ่ ‘เครือข่ายสีน้ำเงิน’

 

ขณะที่ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ทันทีที่ทราบผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ก็ติดปีกบินด่วนพื้นที่อีสานสีน้ำเงินทันที

 

อนุทินให้สัมภาษณ์พิเศษกับ THE STANDARD ผ่านรายการ END GAME ว่า ตนเองตระเวนไปร่วมแสดงความยินดีและให้กำลังใจ ทั้งผู้สมัครที่ได้รับชัยชนะ และผู้สมัครที่แพ้ เพราะตอนที่หาเสียงเราไม่สามารถช่วยเขาได้ เพื่อป้องกันความวุ่นวาย เนื่องจากกำลังสวมหัวโขนของการเป็น มท.1 อยู่

 

อนุทินมองการต่อสู้ระหว่างพรรคภูมิใจไทยและพรรคเพื่อไทยในจังหวัดศรีสะเกษว่า เป็นเพียงการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ ซึ่งไม่ใช่การต่อสู้กับพรรคภูมิใจไทย เพราะพรรคภูมิใจไทยไม่ได้ส่งผู้สมัคร โดยที่ ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย บุตรสาว วิชิต ไตรสรรัตนกุล เป็นคนในเครือข่าย เราต้องวางตัวให้ดี แม้อยากจะช่วยก็ไม่สามารถช่วยได้ แม้ว่าจะอยากไปแค่ไหนก็ไม่สามารถไปได้

 

“เราช่วยกันในความเป็นพรรคพวกและสมาชิกพรรค โดยในนามส่วนตัวไม่ได้เอาพรรคมาช่วย ก็ต้องขอบคุณพี่น้องชาวศรีสะเกษที่ยังให้ความเชื่อมั่นกับเครือข่ายของพรรคภูมิใจไทย และความเชื่อมั่นต่อวิชิตอยู่”

 

THE STANDARD ถามต่อถึงชัยชนะของจังหวัดเชียงรายที่ อทิตาธร วันไชยธนวงศ์ สามารถเอาชนะเหนือ สลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช พรรคเพื่อไทยนั้น ถือว่าเป็นเครือข่ายของพรรคภูมิใจไทยด้วยหรือไม่ อนุทินตอบว่า อทิตาธร วันไชยธนวงศ์ เป็นเครือญาติกับ รังสรรค์ วันไชยธนวงศ์ ซึ่งเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง (อนุทิน ชาญวีรกูล) ทั้งที่ศรีสะเกษและเชียงรายก็ต่างเป็นเลขาฯ ของตนเองทั้งสิ้น

 

THE STANDARD ถามต่ออีกว่า ทั้งสองจังหวัดที่เครือข่ายพรรคภูมิใจไทยได้รับชัยชนะนั้น ล้วนเป็นจังหวัดที่ทักษิณลงพื้นที่ และหมายมั่นปั้นมือว่าอยากครองพื้นที่นี้ อนุทินตอบว่า ขออย่าเอาพรรคการเมืองไปชนกัน เรื่องนี้เป็นเรื่องของท้องถิ่น ประชาชนในแต่ละจังหวัดต้องเลือกคนที่ดีที่สุดสำหรับเขา ซึ่งเครือข่ายของพรรคการเมืองทุกคนทำงานอย่างเต็มที่

 

อย่างรังสรรค์ก็เป็น สส. เก่าของคนเชียงราย ลงพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ และดึงตัวมาช่วยงานในฐานะรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง (อนุทิน ชาญวีรกูล) เชื่อว่าจะสามารถทำประโยชน์และประสานงานต่างๆ ให้ชาวเชียงรายได้เห็นความทุ่มเทถึงความตั้งใจ ซึ่งตระกูลวันไชยธนวงศ์ก็รับใช้ประชาชนมานาน ไม่ใช่แค่เชียงราย แต่รวมถึงจังหวัดแม่ฮ่องสอนด้วย

 

“ในฐานะที่เป็นหัวหน้าของคนเหล่านี้ เป็นเพื่อนร่วมงาน เป็นลูกพี่ลูกน้อง ก็ต้องแสดงความยินดี และปลื้มใจ ภูมิใจที่ประชาชนให้ความเชื่อมั่นเชื่อถือ ซึ่งก็ทราบดีว่ามีความเกี่ยวข้องกับพรรคภูมิใจไทย”

 


 

อนุทินโอบกอดยินดีกับ ไตรศุลี ไตรสรณกุล

อนุทินโอบกอดยินดีกับ ไตรศุลี ไตรสรณกุล
เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
หลัง วิชิต ไตรสรณกุล (คนซ้าย) บิดา
ชนะการเลือกตั้งนายก อบจ.ศรีสะเกษ สมัยที่ 7

 


 

ส่วนในพื้นที่ภาคใต้ อนุทินกล่าวว่า ทุกอย่างเกิดมาจากการทำงานทุ่มเทอย่างหนัก ซึ่งต้องทำให้ประชาชนไม่ใช่แค่ภาคเหนือ ภาคใต้ หรือภาคอีสาน วันนี้พรรคภูมิใจไทยก็ถือว่ามี สส. ครบทุกภาค ใครที่เป็น สส. อยู่แล้วก็ต้องรักษาแชมป์ให้ได้ ต้องทุ่มเทอย่างหนักเพื่อทำงานให้กับประชาชน ใครที่พลาดไปสำหรับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ต้องยิ่งทุ่มเทให้หนัก 2 เท่า เพื่อที่จะเรียกความเชื่อมั่นและความนิยมกลับคืนมา

 

“ผมปลูกฝังมาโดยตลอดทุกวันว่า ไม่มีอะไรที่จะประสบความสำเร็จทางการเมืองได้เท่ากับความทุ่มเทและซื่อสัตย์ต่อประชาชน เราจะต้องรับใช้และตอบแทนในทุกๆ คะแนนที่ให้กับพรรคภูมิใจไทยมา” อนุทินทิ้งท้ายกับ THE STANDARD

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising