×

เลขาฯ กกต. แจงบัตรเสีย 5.69% เหตุประชาชนสับสนหมายเลข เผย ‘ลำพูน’ ใช้สิทธิอันดับ 1 เตรียมสั่งจัดเลือกตั้งใหม่ 4 เขต

โดย THE STANDARD TEAM
03.02.2025
  • LOADING...

วันนี้ (3 กุมภาพันธ์) แสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงสรุปภาพรวมการเลือกตั้ง อบจ. และจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ในวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 โดยแบ่งจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 2 ประเภท คือ นายก อบจ. 47 จังหวัด และ ส.อบจ. 76 จังหวัด ดังนี้

 

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนายก อบจ. (จำนวน 47 จังหวัด)

 

  • จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 27,991,587 คน
  • จำนวนผู้มาใช้สิทธิ 16,362,185 คน คิดเป็น 58.45%
  • บัตรดี 14,272,694 ใบ คิดเป็น 87.23%
  • บัตรเสีย 931,290 ใบ คิดเป็น 5.69%
  • บัตรไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด 1,158,201 ใบ คิดเป็น 7.08%

 

“ส่วนบัตรเสียมีจำนวนเท่ากัน ปี 2563 มีบัตรเสีย 5.63% และการเลือกตั้งปีนี้มีบัตรเสีย 5.69% ตัวเลขต่างกันเป็นจุดทศนิยมตัวสุดท้าย“ แสวงกล่าว

 

ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ส.อบจ. (76 จังหวัด)

 

  • จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 47,124,842 คน
  • จำนวนผู้มาใช้สิทธิ 26,418,754 คน คิดเป็น 56.06%
  • บัตรดี 23,131,324 ใบ คิดเป็น 87.56%
  • บัตรเสีย 1,488,086 ใบ คิดเป็น 5.63%
  • บัตรไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด 1,799,344 ใบ คิดเป็น 6.81%

 

จังหวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภา อบจ. และนายก อบจ. (47 จังหวัด) มากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่

 

  1. ลำพูน คิดเป็น 73.43%
  2. นครนายก คิดเป็น 73.00%
  3. พัทลุง คิดเป็น 72.56%
  4. นราธิวาส คิดเป็น 68.42%
  5. มุกดาหาร คิดเป็น 68.03%

 

จังหวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภา อบจ. (29 จังหวัด) มากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่

 

  1. พะเยา คิดเป็น 61.68%
  2. เลย คิดเป็น 58.04%
  3. เพชรบุรี คิดเป็น 57.44%
  4. ยโสธร คิดเป็น 56.72%
  5. ชัยนาท คิดเป็น 56.63%

 

จังหวัดที่ต้องประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภา อบจ. ใหม่ จำนวน 4 เขตเลือกตั้ง ดังนี้

 

  • กรณีที่ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง (เนื่องจากผู้สมัครมีลักษณะต้องห้าม อยู่ระหว่างการถูกจำกัดสิทธิ เนื่องจากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 50 (20) แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 จำนวน 1 เขตเลือกตั้ง ได้แก่ จังหวัดชัยนาท อำเภอวัดสิงห์ เขตเลือกตั้งที่ 1 


 

  • กรณีได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งไม่มากกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใด จำนวน 3 เขตเลือกตั้ง ดังนี้ จังหวัดสุพรรณบุรี อำเภอเมืองสุพรรณบุรี เขตเลือกตั้งที่ 1, จังหวัดตรัง อำเภอเมืองตรัง เขตเลือกตั้งที่ 2 และจังหวัดชุมพร อำเภอสวี เขตเลือกตั้งที่ 4

 

โดยจะต้องประกาศให้จัดการเลือกตั้งใหม่ภายใน 7 วัน และกำหนดวันเลือกตั้งไม่เกิน 45 วัน นับแต่วันที่ประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ 

 

เลขาฯ กกต. ยังชี้แจงเรื่องปัญหาการใช้สิทธิของประชาชนในการเลือกตั้งวันเสาร์ว่า ได้คำนึงถึงความเที่ยงธรรมในการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งใช้กติกาเดียวกัน บัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้งเดียวกัน และหาเสียงในเวลาเดียวกัน

 

แม้ว่าจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งจะน้อยกว่าปี 2563 ถึง 4% แต่ก็ยังสูงกว่าเมื่อเทียบกับการเลือกตั้งนายก อบจ. ในวันอาทิตย์ช่วงเดือนธันวาคม 2567 จำนวน 29 จังหวัด ตัวเลขผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งประมาณ 53% ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 1 กุมภาพันธ์น้อยลงกว่าคราวที่แล้ว เพราะครั้งนี้มีการจัดการเลือกตั้ง อบจ. ไปก่อนแล้ว 29 จังหวัด

 

นอกจากนี้ตามข้อกฎหมายต้องดำเนินการจัดการเลือกตั้งภายใน 45 วัน ซึ่งพบว่ามี 6 จังหวัดส่งข้อมูลเลือกตั้งเกินในเวลา 00.00 น. เนื่องจากมีปัจจัยเรื่องเส้นทางเดินทางที่ทุรกันดารและเป็นเกาะ พร้อมย้ำว่าการเลือกดังกล่าวเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องแล้ว

 

“ปัญหาเชิงข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงที่กล่าวไปแล้วคือ การดูแลรักษาความปลอดภัยของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) การรายงานและดูแลเรื่องความปลอดภัยทุกครั้งด้วยเส้นทางที่ทุรกันดาร ระยะทางไกล มีอุบัติเหตุทุกครั้ง และครั้งนี้มี กปน. เสียชีวิตระหว่างการส่งบัตร เราให้ความสำคัญกับชีวิตของ กปน. ที่เสียสละมาทำงานให้เรา และต้องมากำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ไม่ต้องไปกดดัน กปน. ที่ต้องรีบส่งหีบบัตรหลังจากนับคะแนนภายใน 3-4 ชั่วโมงที่ทุรกันดาร เราขอแสดงความเสียใจและพร้อมที่จะดูแล กปน. ตามสิทธิและกฎหมาย” แสวงกล่าว

 

ส่วนจำนวนบัตรเสียที่มากถึง 5.6% มาจากตัวผู้เลือกเอง ที่สับสนระหว่างหมายเลขของนายก อบจ. และหมายเลขของ ส.อบจ. ซึ่งมีจำนวนผู้สมัครไม่เท่ากัน ทำให้ประชาชนลงคะแนนในช่องที่ไม่มีผู้สมัคร จึงกลายเป็นบัตรเสีย ไม่ใช่การตั้งใจทำให้บัตรเสีย และบางเขตมีการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ก็อาจจะทำให้เกิดความสับสน ส่วนการทำเครื่องหมายผิด และการตั้งใจทำให้บัตรเสียก็มี

 

ส่วนกรณีการนับคะแนนที่มีรายงานว่า บางหน่วยมีจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งกับจำนวนบัตรเลือกตั้งไม่เท่ากัน ประมาณ 4-5 จังหวัด จะต้องมีการดำเนินการตามระเบียบ ซึ่งจังหวัดจะเป็นผู้เสนอขึ้นมาให้ กกต. พิจารณาว่าจะมีการลงคะแนนใหม่หรือนับคะแนนใหม่หรือไม่

 

สำหรับกรณีที่จังหวัดสมุทรปราการและเชียงใหม่พบบัตรเสียเป็นจำนวนมาก และฝ่ายค้านจะขอให้มีการนับคะแนนใหม่นั้น ต้องดูว่าในระหว่างการนับคะแนนมีการทักท้วงหรือไม่ ทั้งนี้ จนถึงเมื่อวานมีเรื่องร้องเรียนส่งมายังสำนักงาน กกต. จำนวน 180 เรื่อง ทั้งประเด็นการจัดการเลือกตั้ง และประเด็นการทุจริตในการเลือกตั้ง ซึ่งอยู่ในระหว่างการตรวจสอบของสำนักงาน

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising