วานนี้ (25 มกราคม) ที่ศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ พรรคประชาชนเปิดเวทีปราศรัยหาเสียงช่วย นพดล สมยานนทนากุล ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายก อบจ.สมุทรปราการ หมายเลข 3 และผู้สมัคร ส.อบจ. ทั้ง 35 คนของพรรคประชาชน โดยมีแกนนำ สส. และผู้ช่วยหาเสียงพรรคประชาชน ร่วมปราศรัยและพบปะประชาชนที่มารับฟังการปราศรัยอย่างคับคั่ง นำโดย ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน, วาโย อัศวรุ่งเรือง รองหัวหน้าพรรค, ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส. กทม. เขต 27, เซีย จำปาทอง สส. แบบบัญชีรายชื่อ และ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ช่วยหาเสียง
ณัฐพงษ์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เรื่องฝุ่นมีคนบอกว่าผู้นำฝ่ายค้านค้านอย่างเดียว ไม่ทำอะไร วันนี้จะพิสูจน์ให้เห็นว่าพรรคประชาชนเราทำมากกว่าที่เขาพูด โดยการแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นสรุปได้เป็น 3 ระดับ คือ ระดับระหว่างประเทศ ในประเทศ และท้องถิ่น
ระดับระหว่างประเทศคือฝุ่นข้ามพรมแดน ถามทีไรรัฐบาลก็บอกว่ารอ พ.ร.บ.อากาศสะอาด แต่ก่อนหน้านี้ สส. พรรคประชาชนพูดแล้วพูดอีกว่ามีมาตรการอะไรที่สามารถทำได้เลย 2 วันที่แล้วนายกรัฐมนตรีเพิ่งออกข้อสั่งการจากต่างประเทศ ไม่แน่ใจว่าสั่งถูกหรือผิด บอกว่าต้องห้ามนำเข้าอ้อยเผา
ความจริงคือการนำเข้าอ้อยเผานั้นมี แต่ไม่ใช่ปริมาณเยอะ ที่เป็นปัญหาฝุ่นข้ามพรมแดนจริงๆ คือการนำเข้าข้าวโพด เราสื่อสารมาตลอดว่ามีช่องทางอื่น เช่น พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร สามารถกำหนดมาตรฐานลงไปให้ชัดๆ ให้รู้ว่านำเข้าข้าวโพดมาจากพิกัดไหน Geolocation อยู่ที่ไหน จะได้รู้ว่าไร่เหล่านั้นเผาหรือไม่เผา แต่เรื่องนี้รัฐบาลทำช้าเกินไป
ระดับในประเทศคือฝุ่นในไร่กับฝุ่นในนา สำหรับฝุ่นในไร่คือไร่อ้อย เราเห็นข่าวพี่น้องเกษตรกรจอดรถบรรทุกอ้อยเผาคาไว้หลายร้อยคัน เพราะแทนที่รัฐบาลจะเร่งออกมาตรการตั้งแต่ปีที่แล้วและสื่อสารให้ชัดเจนก่อนอ้อยเปิดหีบ กำหนดเพดานการรับซื้ออ้อยเผาไม่ควรเกินเท่าไร ราคาในการรับซื้ออ้อยสดเพื่ออุดหนุนเกษตรกรที่มีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการไม่เผาควรจะเป็นเท่าไร แต่กลายเป็นว่าพอเกษตรกรไม่ได้รับเงินอุดหนุน เขาสู้ต้นทุนไม่ได้เลยต้องเผา พอเผาก็เกิดปัญหาฝุ่น
วันดีคืนดีรัฐบาลก็บอกว่าขอความร่วมมือให้โรงงานไม่รับซื้ออ้อยเผา เกษตรกรก็ขายอ้อยไม่ได้ ปัญหาฝุ่นก็เกิดขึ้นไปแล้ว นี่คือรัฐบาลดำเนินการสายเกินไป ส่วนฝุ่นในนา แทนที่รัฐบาลจะอุดหนุนเงินให้เปล่าแก่เกษตรกรเพียงอย่างเดียวในโครงการไร่ละพัน ทำไมจึงไม่สนับสนุนเครื่องจักรให้เกษตรกรใช้การไถกลบแทนการเผาตอซังข้าว แล้วให้เงินอุดหนุนอย่างมียุทธศาสตร์แก่ชาวนาที่ไม่ได้เผาประกอบกัน เรื่องนี้รัฐบาลให้การสนับสนุนชาวนาน้อยเกินไป
ส่วนระดับท้องถิ่นคือฝุ่นในป่าและฝุ่นในเมือง ฝุ่นในป่าคือการจัดการไฟป่า การจัดสรรงบประมาณปีล่าสุด ท้องถิ่นของบประมาณเพื่อจัดการไฟป่า 1,800 แห่ง แต่ได้รับจัดสรรเพียง 90 แห่ง งบจึงไม่เพียงพอ พรรคประชาชนพูดเรื่องนี้มาตลอด แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข
สุดท้ายคือฝุ่นในเมือง ตนเชื่อว่าวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ ประชาชนสามารถลงคะแนนให้นพดล พิสูจน์ให้ประชาชนทั่วประเทศเห็นว่าคะแนนเสียงของเราในระดับ อบจ. ช่วยแก้ปัญหาฝุ่นได้ โดยการเร่งรัดการศึกษาข้อบัญญัติอากาศสะอาดที่สามารถออกได้ทันทีในระดับ อบจ. ยืนยันว่าเรื่องนี้ทำได้จริง
เพราะก่อนหน้านี้ ส.ก. ตั้งแต่อดีตพรรคก้าวไกล เคยผ่านข้อบัญญัติรถเมล์อนาคต แต่บังคับใช้ไม่ได้ เพราะกฤษฎีกาให้ความเห็นว่า กทม. ไม่มีอำนาจ ถ้าวันนี้ผู้บริหารคือนพดล ตนเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่านพดลพร้อมลงนามให้ข้อบัญญัติอากาศสะอาด เพื่อให้ฝุ่น PM2.5 ในสมุทรปราการดีขึ้น
“เรื่องนี้อยู่ที่ความกล้าหาญของผู้บริหาร ในเมื่อข้อบัญญัติผ่านสภาท้องถิ่นมาแล้ว เหลือแค่ลายเซ็นของผู้บริหาร ถ้าเซ็นไปแล้วมีคนร้องศาลปกครองว่าข้อบัญญัตินี้ อบจ. ไม่มีอำนาจ ก็แค่ยกเลิกข้อบัญญัติ เราไม่ได้มีความผิด แล้วทำไมเราเป็นตัวแทนมาจากประชาชน ผู้บริหารกลับไม่ลงนามเพราะฟังความเห็นของกฤษฎีกา กฤษฎีกาให้ความเห็นได้ แต่จะเชื่อหรือไม่เชื่อ ผ่านหรือไม่ผ่าน อยู่ที่เจตจำนงทางการเมืองของผู้บริหาร”
ณัฐพงษ์กล่าวต่อว่า ส่วนที่บอกว่าผู้นำฝ่ายค้านค้านอย่างเดียว ตนมีหลักฐานชัดเจนว่าเราไม่ได้ค้านอย่างเดียว แต่เรามุ่งมั่นทำงานสร้างการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด เราเสนอกฎหมายเปลี่ยนประเทศกว่า 90 ฉบับ ประชาชนดูได้ในเว็บไซต์ ฉบับที่เกี่ยวข้องกับ อบจ.สมุทรปราการ เช่น ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางบก เพื่อกระจายอำนาจให้นายก อบจ. สามารถจัดการสายรถเมล์ในจังหวัดได้ แต่สุดท้ายถูกปัดตก
เราเคยเสนอร่าง พ.ร.บ.ถนน เพื่อให้ถนนทุกเส้นในจังหวัดสมุทรปราการให้ท้องถิ่นเป็นคนดูแล ให้นายกที่มาจากการเลือกตั้งเป็นคนดูแล แต่เสียดายที่สภาปัดตก เราเคยเสนอกฎหมายให้อำนาจในการจัดการที่ดินแก่ท้องถิ่น เพื่อแก้ปัญหาหน้าบ้านประชาชน เช่น ปัญหาลักลอบทิ้งขยะบนที่ดินเอกชน ที่ผ่านมาถ้าไปติดต่อท้องถิ่น เขาจะตอบว่าไม่ใช่ที่ดินหลวง เข้าไปยุ่งไม่ได้ ดังนั้นหลักใหญ่ใจความของกฎหมายนี้คือการกระจายอำนาจโดยไม่ละเมิดกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดิน แต่สภาปัดตกอีกแล้ว
เรื่องการจัดการพื้นที่สีเขียว การจัดการผังเมือง ประเทศไหนก็ตามที่เจริญแล้ว ผู้บริหารสูงสุดในจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งต้องมีอำนาจในการจัดรูปที่ดิน เวนคืนที่ดิน อย่างเป็นธรรมให้กับประชาชนในจังหวัด แต่ทุกวันนี้กฎหมายประเทศไทยรวมศูนย์ ถ้านพดลมีโครงการดีๆ อยากพัฒนาที่ดินในจังหวัดสมุทรปราการ ต้องไปถึงคณะรัฐมนตรี เพราะการเวนคืนที่ดินต้องให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติ ผู้บริหารที่มาจากการเลือกตั้งไม่มีอำนาจ พรรคประชาชนจึงเสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อกระจายอำนาจให้ผู้บริหารสูงสุดในจังหวัดสามารถจัดการที่ดินในจังหวัดได้เองอย่างเป็นธรรม แต่ถูกสภาปัดตกอีกแล้ว
“ตกลงใครเป็นฝ่ายค้านกันแน่ ค้านคุณภาพชีวิตดีๆ ค้านการกระจายอำนาจ ค้านการพัฒนาจังหวัด กฎหมายแบบนี้ทำไมปัดตกทุกฉบับ ไม่เข้าใจ”
ณัฐพงษ์กล่าวว่า นอกจากผลงานการเสนอกฎหมายในสภา ตนมีความเชื่อว่านพดลและ อบจ. พรรคประชาชน จะจัดสรรงบประมาณ อบจ.สมุทรปราการ ได้ดีกว่า ที่ผ่านมามีปัญหาที่ชาวสมุทรปราการต้องเจอจนเป็นเรื่องปกติ ทั้งที่เป็นเรื่องผิดปกติ เช่น ปัญหามลพิษของสมุทรปราการติด 5 อันดับแรกของประเทศเกือบทุกปี, ค่าโง่คลองด่าน 3 หมื่นล้านบาท, เสาไฟกินรี ตลาดท้ายบ้าน 800 ล้านบาท เราเห็นเรื่องเหล่านี้จนชิน ทำให้รู้สึกว่าออกไปเลือกตั้งก็เหมือนเดิม สมุทรปราการดีกว่านี้ไม่ได้หรอก
ณัฐพงษ์กล่าวว่า พรรคประชาชนในทุกจังหวัดมีความมุ่งมั่นตั้งใจเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประเทศที่รับประกันความสุขสมบูรณ์ของพ่อแม่พี่น้องทุกคน และจะทำอย่างนั้นได้ต้องเริ่มต้นที่ท้องถิ่น ที่สมุทรปราการ 1 กุมภาพันธ์นี้ ปลายปากกาของทุกท่านที่กากบาทในช่องเบอร์ 3 ให้นพดล จะไม่ใช่เวลาเพียง 5 วินาที แต่เป็นเวลาต่อจากนี้อีกเป็นสิบๆ ปีที่จะเป็นอนาคตที่ดีกว่าของลูกหลานชาวสมุทรปราการ ดังนั้นอีก 7 วันต่อจากนี้ ช่วยกันบอกต่อให้ทุกคนออกไปเลือก อบจ. พรรคประชาชน ทำให้ อบจ.สมุทรปราการ ดูแลทุกคนทั่วถึงเท่าเทียม
การเลือกตั้งวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ไม่ได้หมายถึงแค่อนาคตของชาวสมุทรปราการเท่านั้น แต่หมายถึงอนาคตของลูกหลานคนไทยทุกคน เราต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่างบประมาณ อบจ. ทั้งประเทศ 4 ปีข้างหน้ารวมเป็น 3 แสนล้านบาท อบจ. พรรคประชาชน จะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้ดีกว่านี้ได้