×

ถอดกลยุทธ์ รมว.พาณิชย์ ทำอย่างไรถึงปิดดีล FTA ไทย – EFTA ฉบับแรกกับยุโรปได้สำเร็จ

24.01.2025
  • LOADING...
thailand-efta-fta-success

พิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ THE STANDARD ณ เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ โดยเปิดเผยถึงกลยุทธ์ที่ทำให้ไทยสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association: EFTA) กลายมาเป็นความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) ฉบับแรกกับยุโรปได้สำเร็จ ได้แก่ ผู้บริหารต้องมีการตัดสินใจที่เด็ดขาด ต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีและเครือข่ายที่แข็งแกร่ง

 

“ต้องเรียนตรงๆ ว่าการเจรจา FTA เป็นเรื่องที่ยากมาก เนื่องจากในการเจรจาของเจ้าหน้าที่ทุกระดับตั้งแต่ระดับบน กลาง ถึงล่าง ต้องปกป้องผลประโยชน์ของประเทศตนเอง แต่การปกป้องที่เกินไปก็จะไม่สามารถทำให้ข้อตกลงจบลงได้ ดังนั้นในฐานะผู้บริหารจึงตัดสินใจว่าสิ่งใดถอยได้ สิ่งใดถอยไม่ได้”

 

ทั้งนี้ EFTA ประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ ไอซ์แลนด์ และนอร์เวย์ โดยเป็นตลาดที่มีศักยภาพและกำลังซื้อสูง พร้อมทั้งมีความโดดเด่นด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม กระทรวงพาณิชย์จึงคาดว่าความตกลงดังกล่าวจะทำให้ GDP ของไทยขยายตัวเพิ่มอีก 0.179% ต่อปี

 

พิชัยเล่าอีกว่า “อีกส่วนที่ทำให้การเจรจาสำเร็จได้ส่วนหนึ่งมาจาก ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยในช่วงเริ่มต้นของการเจรจา สถานทูตสวิตเซอร์แลนด์ส่งหนังสือชวนทักษิณไปรับประทานอาหารร่วมกัน พร้อมเชิญผมไปด้วย จึงได้เริ่มพูดคุยและประสานกัน นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้น

 

“การทำการค้า (Trading) ต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ยกหูหากันได้ เข้าใจกัน ใจถึงใจ ความผูกพันต้องมี ยกตัวอย่างเวลาผมเจรจา ผมจะพยายามค่อยๆ ละลายน้ำแข็ง (Break the Ice) ต้องอารมณ์ดี ไม่ใช่เข้าไปก็บึ้งตึงต่อกัน”

 

การลงนาม FTA ที่งาน World Economic Forum สำคัญอย่างไร?

 

พิชัยระบุว่า “เป้าหมายการเยือนดาวอสครั้งนี้เป็นการประกาศว่าไทยพร้อมแล้ว เนื่องจากต้องยอมรับว่าช่วงใน 10 ปีที่ผ่านมา การลงทุนการต่างประเทศและการค้าต่างประเทศของไทยหายไป ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เศรษฐกิจไทยโตต่ำ เพราะฉะนั้นการจะกลับมาฟื้นเศรษฐกิจได้ ที่สำคัญที่สุดคือการสร้างความไว้วางใจ (Trust) และความมั่นใจ (Confidence) ว่าไทยกำลังกลับมาแล้ว

 

“ดังนั้นการลงนามครั้งนี้ ณ เวที World Economic Forum ที่ดาวอส ถือเป็นการสร้างกระแสครั้งใหญ่ เป็นการโฆษณาให้ทั่วโลกรู้ทันทีว่าประเทศไทยกลับมาแล้ว”

 

FTA ไทย – EFTA ฉบับแรกกับยุโรปสำคัญอย่างไร?

 

พิชัยกล่าวว่า FTA ไทย – EFTA ครั้งนี้ถือเป็น FTA ที่สำคัญอย่างมาก เนื่องจากจะเป็นบันไดไปสู่การเจรจาทำ FTA กับประเทศอื่นๆ ของสหภาพยุโรปต่อไป

 

“การทำ FTA ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากก่อนที่บริษัทต่างๆ จะตัดสินใจมาลงทุนก็ย่อมต้องดู FTA ด้วย โดยหากไทยไม่มี FTA อาจเสียเปรียบประเทศคู่แข่ง ดังนั้นการที่ประเทศไหนได้ลงนาม FTA เรื่อยๆ นับว่าเป็นแต้มต่อ ยกตัวอย่างเช่น หนึ่งในเหตุผลที่การส่งออกและการลงทุนของเวียดนามขยายตัวดีกว่าไทย ก็เป็นผลมาจากเวียดนามมี FTA กับ 56 ประเทศ ขณะที่ไทยมี FTA กับเพียง 19 ประเทศเท่านั้น ไทยจึงต้องไล่กวดให้ทัน”

 

รู้จัก EFTA เพิ่มเติม

 

EFTA ประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ ไอซ์แลนด์ และนอร์เวย์ เป็นกลุ่มประเทศที่มีกำลังซื้อสูงและมีความโดดเด่นด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม

 

EFTA เป็นคู่ค้าอันดับที่ 2 ของไทยในยุโรป โดยในปี 2024 การค้าของไทยกับ EFTA มีมูลค่า 11,788.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นนักลงทุนอันดับที่ 14 จากนักลงทุนชาวต่างชาติทั้งหมด มูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 1,422 ล้านบาท (สวิตเซอร์แลนด์เป็นนักลงทุนอันดับ 1 ตามด้วยลิกเตนสไตน์และนอร์เวย์)

 

ไทยและ EFTA ประกาศเปิดการเจรจา FTA ระหว่างกันเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2022 มีการประชุม 10 รอบ ใช้เวลา 2 ปี และสามารถสรุปผลการเจรจาร่วมกันได้เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2024

 

FTA ไทย – EFTA ถือเป็น FTA ฉบับที่ 16 ของไทย ทำให้ไทยมี FTA ที่ครอบคลุมคู่ค้าเพิ่มขึ้นเป็น 23 ประเทศ ครอบคลุมการค้าประมาณ 62% ของการค้าไทยกับโลก

 

FTA ฉบับนี้ถือเป็นฉบับแรกที่ไทยทำกับกลุ่มประเทศในยุโรป และเป็น FTA ที่มีความทันสมัย มาตรฐานสูง

 

ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจาก FTA ไทย – EFTA

 

ในภาพรวมไทยจะได้รับประโยชน์รอบด้าน ทั้งการเพิ่มมูลค่าส่งออก ลดต้นทุนการนำเข้า ดึงดูดการลงทุนในสาขาที่สนับสนุนการพัฒนาประเทศของไทย ตลอดจนความร่วมมือทางเศรษฐกิจในหลายสาขา ที่จะส่งเสริมการพัฒนาระดับมาตรฐานและเพิ่มขีดความสามารถให้ไทยแข่งขันได้บนเวทีโลก

 

โดย EFTA จะยกเว้นภาษีนำเข้า (ภาษี 0%) ให้กับไทยในสินค้าประมาณ 90% ของรายการสินค้าทั้งหมด พร้อมยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมทุกรายการ รวมถึงสินค้าเกษตรบางรายการให้กับไทยทันทีในวันแรกที่ FTA มีผลบังคับใช้

 

ส่วนสินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่จะได้รับประโยชน์ เช่น ข้าว, ข้าวโพดหวาน, ผักและผลไม้สดและแปรรูป, ซอสปรุงรส, เครื่องดื่ม, อาหารทะเลสดและแปรรูป, อัญมณีและเครื่องประดับ, นาฬิกาและส่วนประกอบ, เครื่องใช้ไฟฟ้า, ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์, เครื่องนุ่งห่ม, เคมีภัณฑ์, ยาง, ผลิตภัณฑ์พลาสติก และยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์

 

นอกจากนี้ การเปิดตลาดของไทยให้กับ EFTA จะช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการในการนำเข้าวัตถุดิบมาผลิตสินค้าเพื่อใช้ในประเทศหรือเพื่อส่งออก ซึ่งสินค้าวัตถุดิบที่ไทยนำเข้าจาก EFTA เช่น ทองคำ ชิ้นส่วนนาฬิกา

 

โดย EFTA ยังเปิดให้นักลงทุนไทยเข้าไปประกอบธุรกิจ โดยถือหุ้นในกิจการได้ถึง 100% ในหลายสาขาที่ไทยมีศักยภาพ เช่น ก่อสร้าง, โรงพยาบาล, บริการทางการแพทย์, ค้าปลีก, ท่องเที่ยว, โรงแรม, ร้านอาหาร, ธุรกิจความงามและเสริมสุขภาพ และการดูแลสัตว์เลี้ยง

 

นอกจากนี้ การเปิดตลาดบริการของไทยจะดึงดูดการลงทุนจาก EFTA โดยเฉพาะในสาขาที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่ง EFTA มีความเชี่ยวชาญ และไทยต้องการได้รับการพัฒนา Know-How เพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นในประเทศ เช่น การวิจัยและพัฒนา, การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม, ICT และการซ่อมบำรุงรักษาชิ้นส่วนอากาศยาน

 

เปิดประเด็นข้อกังวลของภาคประชาสังคมไทย และมาตรการรับมือของภาครัฐ

 

ในภาพรวมข้อผูกพันการเปิดเสรีของไทยภายใต้ FTA ฉบับนี้ไม่เกินไปกว่ากรอบของกฎหมายไทยในปัจจุบัน จึงไม่ต้องมีการปรับแก้กฎหมายใดๆ

 

กระนั้นไทยอาจเผชิญการแข่งขันในสินค้าประมง แต่คาดว่าจะไม่เป็นการแข่งขันโดยตรงกับสินค้าที่ผลิตในประเทศ เนื่องจากปลาส่วนใหญ่ที่นำเข้าจาก EFTA เช่น แซลมอน และเทราต์ ซึ่งเป็นสินค้าเมืองหนาว มีราคาสูง และไทยมีการยกเว้นภาษีนำเข้าอยู่แล้วบางส่วน หรือในอัตราต่ำที่ไม่เกิน 5% รวมทั้งให้มีระยะเวลาปรับตัว (7-15 ปี)

 

โดยภายใต้ FTA ฉบับนี้ยังมีความร่วมมือด้านประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ถ่ายทอดความรู้และทักษะในด้านการทำประมงระหว่างกัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพให้ผู้ประกอบการไทย

 

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างจัดตั้งกองทุน FTA ซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการแล้วเมื่อเดือนมิถุนายน 2022 โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมการเสนอร่าง พ.ร.บ.กองทุน ต่อ ครม. ตามกระบวนการทางกฎหมาย และเตรียมยกร่างกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการดำเนินงานตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้

 

สำหรับประเด็นด้านทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ยืนยันว่า ไม่กระทบต่อการใช้มาตรการของรัฐที่จำเป็นในด้านสาธารณสุข เช่น การบังคับใช้สิทธิบัตรยาตามหลักการสากล (Compulsory Licensing: CL) และไม่มีเรื่องที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียส่วนหนึ่งแจ้งข้อกังวล โดยเฉพาะที่จะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยา เช่น การขยายระยะเวลาการคุ้มครองสิทธิบัตร (Patent Term Extension) และการผูกขาดข้อมูลทางยา (Data Exclusivity)

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising