×

สามโลกทัศน์ของทีมทรัมป์ ทำความเข้าใจมุมมองต่อนโยบายต่างประเทศและความมั่นคง

24.01.2025
  • LOADING...
trump-team-foreign-policy

มีคนบอกว่าเกณฑ์สำคัญของการเลือกคนของ โดนัลด์ ทรัมป์ คือ ความจงรักภักดี (Loyalty) หมายถึง ทรัมป์สั่งหรือตัดสินใจอย่างไร พร้อมรับไปปฏิบัติตาม

 

ทรัมป์ไม่ได้สนใจมากนักว่าทีมงานมีความเห็นทางนโยบายไปในแนวทางไหน ดังนั้นเมื่อเราเจาะลึกเข้าไปในทีมต่างประเทศและความมั่นคงของทรัมป์ จะเห็นว่าประกอบด้วยทีมงานที่มีความคิดเห็นหลากหลาย ไม่ได้มีความเห็นเป็นเนื้อเดียวกัน มองไปทางเดียวกันทั้งหมดเสียทีเดียว

 

เราอาจแบ่งทีมงานของทรัมป์ออกเป็น 3 กลุ่ม ตามโลกทัศน์การมองนโยบายต่างประเทศและความมั่นคง

 

กลุ่มแรกคือ Transactional Faction ซึ่งมองการต่างประเทศเป็นเรื่องการต่อรองผลประโยชน์ (โดยเฉพาะทางการค้าและธุรกิจ) ทุกอย่างเป็นเรื่องการแลกหมูแลกแมว เริ่มจากขู่ว่าจะขึ้นกำแพงภาษี จากนั้นดูว่าอีกฝ่ายจะเอาประโยชน์อะไรมาประเคนให้บ้าง

 

จุดพิเศษของคนกลุ่มนี้คือมองเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นหลัก และอาจสนใจเรื่องตักตวงประโยชน์ระยะสั้นมากกว่าความมั่นคงหรือการแข่งขันทางเศรษฐกิจระยะยาว พร้อมที่จะรับข้อตกลง หากจีนยอมซื้อสินค้าสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น ยอมมาลงทุนสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ยอมปราบสารตั้งต้นที่เอามาทำยาเสพติดในสหรัฐฯ และพร้อมจะตีฆ้องประกาศผลงานเหล่านี้เป็นดีลความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่

 

อีกความพิเศษหนึ่งคือคนกลุ่มนี้ไม่สนใจเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง ค่านิยมเสรีหรือประชาธิปไตย และไม่สนใจเรื่องสงครามร้อนหรือประเด็นความมั่นคงอ่อนไหวอย่างไต้หวันหรือทะเลจีนใต้ สมรภูมิสำคัญของการกดดันจีนจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจการค้าการลงทุนเป็นหลัก

 

ตัวอย่างทีมทรัมป์ที่คาดว่ามีโลกทัศน์ไปในทิศทางนี้ เช่น อีลอน มัสก์ หรืออย่าง สก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง (ที่ให้สัมภาษณ์บ่อยๆ ว่า การขู่ขึ้นกำแพงภาษีเป็นเพียงกลยุทธ์ในการเจรจากดดันแลกประโยชน์) หรืออย่าง เดวิด เพอร์ดิว ที่เป็นทูตสหรัฐฯ ประจำจีนคนใหม่ ซึ่งเคยคร่ำหวอดในวงการธุรกิจมาก่อน

 

กลุ่มที่สองคือ America First ในความหมายว่าสหรัฐฯ ควรสนใจเรื่องต่างประเทศให้น้อยลง และควรหันกลับมาสนใจเรื่องภายในประเทศเป็นหลัก ควรกลับมาลงทุนสร้างความแข็งแกร่งภายในสหรัฐฯ และจัดการสงครามวัฒนธรรม (Culture War) ในประเทศให้เรียบร้อย อย่าเที่ยวไปยุ่งเอาเงินหว่านไปกับสงครามภายนอกทั่วโลก บางคนจึงมองว่ากลุ่มนี้มีลักษณะไม่สนใจพันธมิตรเดิมของสหรัฐฯ และมีลักษณะโดดเดี่ยวสหรัฐฯ ออกจากโลก (Isolationist Tendency)

 

ความเห็นของกลุ่มนี้ย่อมไม่เห็นด้วยกับสงครามยูเครนและสงครามตะวันออกกลาง โดยไม่เห็นด้วยกับการที่สหรัฐฯ ต้องสนับสนุนเงินมหาศาลให้ยูเครนและอิสราเอล สหรัฐฯ ควรกลับมาทำตัวเองให้แข็งแกร่งเป็นลำดับแรกก่อน มีสโลแกนว่า ‘Peace Through Strength’ คือสันติภาพที่มาจากความเคารพยำเกรง คือไม่ต้องออกไปทำสงครามและไม่มีใครกล้าหาเรื่อง เพราะทุกคนจะกลัวพลังอำนาจของสหรัฐฯ ที่ทรงแสนยานุภาพ หากสหรัฐฯ ลงทุนให้ตัวเองแข็งแกร่ง

 

ตัวอย่างของคนที่เห็นแนวนี้ เช่น เจ.ดี. แวนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ หรืออย่าง ทูลซี แกบบาร์ด ผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรอง ซึ่งเคยมีความเห็นต่อต้านการที่สหรัฐฯ เข้าไปยุ่งในสงครามยูเครน

 

กลุ่มสุดท้ายคือ American Hegemony ที่ยังคงให้ความสำคัญกับอำนาจนำของสหรัฐฯ บนเวทีโลก และพร้อมที่จะใช้กำลังในการขยายอิทธิพลของสหรัฐฯ มีลักษณะสอดคล้องกับแนวคิดกระแสหลักดั้งเดิมของวงการต่างประเทศและความมั่นคงของสหรัฐฯ

 

ความเห็นของคนกลุ่มนี้จะสนใจปัญหาระยะยาวและปัญหาความมั่นคง กังวลการขยายพลังอำนาจทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของจีนในระยะยาว รวมทั้งประเด็นละเอียดอ่อนอย่างทะเลจีนใต้ ฮ่องกง และไต้หวัน ส่วนสงครามทั้งในสมรภูมิยูเครนและตะวันออกกลาง หากจะเลิก ก็ต้องเลิกด้วยชัยชนะของสหรัฐฯ ไม่ใช่ไปยอมให้ วลาดิเมียร์ ปูติน เขมือบทั้งยูเครน หรือยอมให้ฮามาสหรืออิหร่านกลับมาถล่มอิสราเอลได้

 

ในเรื่องเศรษฐกิจการค้าและเทคโนโลยี คนกลุ่มนี้จะสนับสนุนแนวทางการหย่าขาดทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ และจีน (Decoupling) เพราะเมื่อมองเรื่องความมั่นคงมาก่อนเศรษฐกิจแล้ว ก็พร้อมที่จะใช้ยาแรงเพื่อรักษาสถานภาพการนำของสหรัฐฯ ในเรื่องเศรษฐกิจและเทคโนโลยีในระยะยาว เข้าทำนองพร้อมทำให้ทุกคนเจ็บถ้วนหน้ากันหมด แต่หวังว่าจีนจะเจ็บสาหัส และสหรัฐฯ จะเจ็บน้อยที่สุดในบรรดาทุกคนที่เจ็บ

 

ตัวอย่างของคนที่เห็นในแนวทางนี้ เช่น มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, ไมค์ วอลซ์ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคง หรือ ปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ปรึกษาเรื่องการค้าของทรัมป์ จริงๆ แล้วนโยบายเดิมของ โจ ไบเดน ก็เป็นไปในแนวทางนี้ แต่ยังไม่แรงเท่าทีมใหม่บางส่วนของทรัมป์ เพราะไบเดนยังพยายามแยกเป็นเรื่องๆ มองว่ามีเรื่องที่ต้องหย่าขาดจากจีน เช่น อุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์และความมั่นคง แต่ก็ยังมีเรื่องที่พร้อมค้าขายร่วมมือเป็นมิตรกับจีนต่อไป แต่ทีมใหม่ของทรัมป์ที่เห็นในแนวทางนี้อยากเดินหน้าหย่าขาดให้มากเรื่องที่สุด

 

ทิศทางการต่างประเทศและความมั่นคงในยุคของทรัมป์จึงจะเป็นการต่อสู้กันภายในระหว่างสามกลุ่มนี้ ความน่าจะเป็นคือจะไม่มีกลุ่มใดชนะหรือครอบงำแนวทางได้ทั้งหมด แต่จะเป็นการผสมผสานระหว่างสามแนวทางร่วมกัน

 

ดังนั้นจึงจะไม่ใช่การแลกหมูแลกแมว ขู่เพื่อเอาประโยชน์อย่างเดียวตามกลุ่ม Transactional Faction แต่จะมีมิติของการทำแรงทำจริงเพื่อรักษาประโยชน์ระยะยาวของสหรัฐฯ ตามกลุ่ม American Hegemony ด้วย ขณะเดียวกันก็จะไม่สนใจความมั่นคงและการนำของสหรัฐฯ จนยุ่งวุ่นวายไปทุกสมรภูมิแบบในอดีต แต่จะพยายามลดจุดร้อนความขัดแย้งเท่าที่เป็นไปได้ตามกลุ่ม America First

 

และอาจแตกต่างกันตามแต่ละเรื่อง บางเรื่อง เช่น การค้าอาจมีลักษณะไปทางการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์มากหน่อย เรื่องยูเครนอาจเป็นไปในแนวทางของการไม่ยุ่งเรื่องภายนอก เรื่องไต้หวันอาจเป็นไปในแนวทางของการรักษาอำนาจนำของสหรัฐฯ ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกต่อไป

 

ทั้งหมดนี้จึงอยู่ที่ในแต่ละเรื่อง แต่ละเวลา ทรัมป์จะสั่งการอย่างไร และใครและกลุ่มไหนจะกล่อมหรือโน้มน้าวทรัมป์ได้มากกว่ากัน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising