ในร็อดเลเวอร์อารีนา ดานีล เมดเวเดฟ กำลังหัวร้อนจัดๆ หลังจากที่เสียท่าให้กับ บูม-กษิดิศ สำเร็จ จนถึงขั้นเอาไม้แร็กเก็ตฟาดกับกล้องที่หน้าเน็ตรัวๆ จนไม้บิ่น
ภาพนี้เอาจริงเป็นภาพความรุนแรงที่ไม่น่าดูเท่าไรนัก (และเมดเวเดฟเองก็เสียใจที่รู้ในภายหลังว่าอาจจะโดนปรับถึง 1 แสนดอลลาร์สหรัฐตามกฎของ ATP)
แต่เหตุการณ์เดียวกันนี้กลับกลายเป็นฉากที่ตลกขบขันในโลกโซเชียลมีเดีย เมื่อเมดเวเดฟในคราบตัวการ์ตูนหัวโต แขนลีบ ขยับแขนไปๆ มาๆ ที่หน้าเน็ต ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่ทำให้คนทั่วโลกได้เห็นสิ่งแปลกใหม่ในการแข่งขันออสเตรเลียนโอเพนที่กำลังกลายเป็นปรากฏการณ์ในเวลานี้
อยากรู้ไหมเจ้านักเทนนิสตัวการ์ตูนหัวโตพวกนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และมันสำคัญแค่ไหนต่ออนาคตของวงการเทนนิส?
พูดถึงการแข่งขันเทนนิสระดับแกรนด์สแลมแล้ว นอกเหนือจากการขับเคี่ยวที่เข้มข้นเหมือนซุปราเมนกระดูกหมู ที่ใช้เวลาเนิ่นนานของบรรดาสุดยอดนักเทนนิสระดับโลกที่ไม่มีวันยอมกันง่ายๆ แล้ว เรื่องของสีสันจากการแข่งขันก็เป็นหนึ่งในเรื่องสนุกๆ ที่หลายคนชื่นชอบ
เรามักจะได้เห็นอะไรดีๆ น่ารักๆ ที่ซ่อนอยู่ในที่ไหนสักที่ของการแข่งขันแกรนด์สแลมเสมอ
แต่สำหรับการแข่งขันออสเตรเลียนโอเพน 2025 นั้น สีสันที่กลายเป็นที่พูดถึงและโดดเด่นที่สุดคงจะหนีไม่พ้นบรรดาตัวการ์ตูนนักเทนนิสหัวโตทั้งหลายที่ลงไปแข่งขันกันในสนามที่ชวนให้คิดถึงวิดีโอเกมที่เคยเล่นขึ้นมา ไม่ว่าจะบนเครื่อง Wii หรือ Nintendo Switch หรือบนสมาร์ทโฟน
ความสนุกก็คือนักเทนนิสหัวโตเหล่านี้ก็คือนักเทนนิสตัวจริงๆ ที่ลงแข่งขันกันอยู่ในสนามนี่แหละ และสิ่งที่เราได้เห็นก็คือการแข่งขันจริงๆ ที่เกิดขึ้น เหมือนที่ผู้ชมในร็อดเลเวอร์อารีนาหรือผู้ชมทั่วโลกได้เห็นกันสดๆ
เพียงแต่ถูกนำมาบอกเล่าด้วยรูปแบบที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นไอเดียที่ชาญฉลาดอย่างมาก
เราเรียกมันว่า AO Animated
แต่ก่อนอื่นหลายคนอาจสงสัยว่าเขาทำอย่างไรกันนะไอ้เจ้า AO Animated เนี่ย ทำไมถึงสามารถเปลี่ยนนักเทนนิสคนเป็นๆ ให้กลายเป็นตัวการ์ตูนหัวโตได้
เบื้องหลังนั้นมาจากการใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่เดิมอยู่แล้วอย่าง Hawk-Eye System ซึ่งปกติจะใช้ในการช่วยตัดสินในลูกที่มีปัญหา โดยกล้อง 12 ตัวที่อยู่รอบสนามจะติดตามลูกบอลและนักเทนนิสก่อนจะประมวลผลออกมาเป็นภาพ 3 มิติให้เห็นชัดเจนว่าลูกนั้นได้หรือเสีย จะได้ไม่ต้องถกเถียงกัน
ในการจะทำภาพ 3 มิติขึ้นมาจะต้องใช้ระบบที่เรียกว่า Electronic Line Calling (ELC) ที่เป็นการวาดเส้นตามการเคลื่อนไหวของนักกีฬาและลูกเทนนิสอยู่แล้ว ซึ่ง AO Animated ก็ต่อยอดด้วยการนำ ELC ที่เกิดขึ้นมาใช้วาดตัวการ์ตูนขึ้นมาโดยเติมศีรษะ (โตๆ), ชุดแข่งขัน (ตามสีที่นักกีฬาใส่ในวันนั้น) และแร็กเก็ต
เกิดเป็นนักเทนนิสหัวโตที่เราได้เห็นกันนั่นเอง
ความจริงแล้ว AO Animated เริ่มมีการทดลองกันตั้งแต่ปี 2023 เพียงแต่ในเวลานั้นยังไม่มีการวาดตัวการ์ตูนของนักเทนนิส มีแต่ลูกบอล (ที่ก็ Oversized เหมือนกัน) ก่อนที่จะต่อยอดในปีถัดมาที่มีการวาดตัวการ์ตูนนักเทนนิสขึ้นมาและก็เป็นที่พูดถึงอยู่บ้าง
จนกระทั่งในปีนี้ที่ AO Animated กลายเป็นที่พูดถึงอย่างมาก เพราะนอกจากจะมีในคอร์ตหลักอย่างร็อดเลเวอร์แล้ว ยังมีที่คอร์ตรองอย่างมาร์กาเร็ตคอร์ตอารีนาและจอห์นเคนอารีนา รวมเป็น 3 คอร์ต
ทั้ง 3 คอร์ตมีการถ่ายทอดสดบนช่อง YouTube ของ Austalian Open แบบฟรีๆ โดยที่ไม่ได้มีแค่ตัวการ์ตูนเคลื่อนไหวไปมา แต่มีเสียงของแชร์อัมไพร์ มีบรรยากาศในสนามของจริง แม้ว่าจะดีเลย์จากการแข่งขันจริง (เพราะต้องมีการประมวลผล) เล็กน้อย ก็ไม่ใช่เรื่องที่รับไม่ได้
ยอดผู้ชมนับเฉพาะ 6 วันแรกของการแข่งขัน เพิ่มจาก 246,542 เมื่อปี 2024 สู่ 1,796,338 ในปี 2025 ซึ่งถือว่าเป็นความสำเร็จที่เกินคาด
โดยที่นอกจากผู้ชมจะชื่นชอบกับตัวการ์ตูนเหล่านี้และมีการตัดคลิปไฮไลต์หรือช็อตขำขันจากการแข่งขัน หรือที่เกิดจาก ‘ความไม่สมบูรณ์แบบ’ ของเทคโนโลยี เช่น บางทีตัวละครก็หายไป (เพราะกล้องจับไม่ทัน) หรือบอลหาย หรือแร็กเก็ตหาย
นักเทนนิสเองก็ชื่นชอบกับพวกเขาหรือเพื่อนนักเทนนิสในเวอร์ชันนี้เหมือนกัน
คนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังโปรเจกต์นี้ที่เราควรรู้จักไว้คือ มาร์ก ไรดี
ไรดีเป็นผู้ออกแบบกราฟิกทั้งหมดของ AO Animated ซึ่งเปิดเผยกับ The Athletic สื่อกีฬาระดับโลกที่ตามไปเกาะติดทำสกู๊ปเรื่องนี้ว่า ไอเดียของเรื่องนี้เกิดจากการที่เขาคิดขึ้นมาได้ว่าถ้าเปลี่ยนเทนนิสให้เป็นเวอร์ชันเกมได้ก็น่าจะดึงดูดแฟนๆ ให้เข้ามาดูได้แบบฟรีๆ โดยที่ไม่ขัดต่อเรื่องของลิขสิทธิ์การแข่งขัน
เพราะปกติแล้วต่อให้เป็นผู้จัดการแข่งขันอย่างออสเตรเลียนโอเพน รายการก็มีสิทธิ์แค่การถ่ายทอดในช่วงก่อนและหลังการแข่งขันเท่านั้น ไม่สามารถจะนำเสนอสิ่งที่เกิดขึ้นในการแข่งขันได้ตั้งแต่การเสิร์ฟแรกจนถึงการตีลูกสุดท้ายของเกม
โดยในความหมายของคำว่าไม่ ก็คือไม่จริงๆ นิดหน่อยก็ไม่ได้
แต่ถ้าลองเปลี่ยนนักเทนนิสให้เป็นตัวการ์ตูน ก็จะไม่ถือว่าเป็นการผิดกฎแต่อย่างใด และสามารถนำเสนอคอนเทนต์ได้ทั้งในรูปแบบของการถ่ายทอดสดและคลิปไฮไลต์ ซึ่งเคยเป็นความเจ็บปวดที่รายการไม่สามารถนำเสนอได้ในโลกโซเชียลมีเดีย ทั้งๆ ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างกระแสและการสร้างการรับรู้
และตัวการ์ตูนที่ดูขำขันเหล่านี้ก็กลายเป็นทีเด็ดไป ซึ่งตรงตามความตั้งใจที่อยากจะให้มันออกมาเป็นมิตรกับทุกคน รวมถึงเด็กๆ ที่จะได้นั่งดูการแข่งขันด้วยได้โดยไม่รู้ตัวเลยว่าเบื่อ
เพียงแต่ในอนาคตไรดี (ซึ่งมักจะเข้าไปตอบคอมเมนต์ของคนที่มาดูด้วยตัวเอง) ก็มีแผนที่จะทำให้มันสมจริงยิ่งขึ้น อย่างน้อยในปีหน้าก็คิดว่าจะพยายามทำให้มีแอนิเมชันของมือนักเทนนิสได้ด้วย รวมถึงการแสดงสีหน้าอารมณ์
(แม้ว่าในความรู้สึกของผู้เขียนคิดว่าเอาไว้แบบนี้ก็ได้ น่ารักดีแล้ว อย่าเปลี่ยนเลย)
แต่เห็นเป็นการ์ตูนแบบนี้ เจตนารมณ์ที่อยู่เบื้องหลังนั้นยิ่งใหญ่และน้ำหนักความคาดหวังที่แบกไว้ช่างใหญ่ยิ่ง
เพราะนี่คือความพยายามของเทนนิสออสเตรเลีย ผู้จัดการแข่งขันระดับแกรนด์สแลมอย่างออสเตรเลียนโอเพนเอง ที่จะหาทางทำให้การแข่งขันนั้นไปสู่สายตาของผู้ชมให้ได้มากที่สุด
ในระบบเศรษฐกิจเทนนิสโลก ลิขสิทธิ์ของการแข่งขันเทนนิสแกรนด์สแลม 4 รายการ ตั้งแต่ออสเตรเลียนโอเพน, เฟรนช์โอเพน, วิมเบิลดัน และยูเอสโอเพน มีมูลค่ามหาศาล ซึ่งจะถูกซื้อไปโดยผู้ให้บริการสถานีกีฬาต่างๆ เช่น ESPN จ่ายลิขสิทธิ์สำหรับการแข่งขันยูเอสโอเพนจนถึงปี 2037 เป็นมูลค่า 2.04 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่สถานี ABC และ ESPN จ่ายเงินซื้อลิขสิทธิ์วิมเบิลดันปีละ 52.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ Warner Bros. Discovery เซ็นสัญญาซื้อลิขสิทธิ์เฟรนช์โอเพนในราคา 650 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับระยะเวลา 10 ปี
ในมุมของผู้ซื้อลิขสิทธิ์เหล่านี้ พวกเขามีสิทธิ์ทุกประการที่จะรักษาสิทธิ์ในเนื้อหาที่จ่ายเงินไป ดังนั้นต่อให้เป็นบัญชีทางการของออสเตรเลียนโอเพน ก็ไม่มีสิทธิ์จะนำภาพและเสียงจากการแข่งขันไปใช้บนช่องทางไหนเลยไม่ว่าจะเป็น YouTube, TikTok, X หรือ Instagram
ตามหลักของการโฆษณา การถูกพูดถึงในทางที่ไม่ดียังดีเสียกว่าการไม่ถูกพูดถึงเลย ซึ่งการที่ไม่มี Conversation ของเทนนิสแกรนด์สแลมบนโซเชียลมีเดียถือเป็นการเสียโอกาสไม่น้อย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยที่เคเบิลทีวีเริ่มเสื่อมความนิยม ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียมูลค่าลิขสิทธิ์การแข่งขัน ไปจนถึงมูลค่าของแบรนด์ที่มีความเสี่ยงจะเสื่อมตามไปด้วยหากไม่ทำอะไรเลยในอนาคต ซึ่งแต่ละแกรนด์สแลม (ซึ่งมีผู้จัดแตกต่างกันไป ไม่ใช่ผู้จัดเดียวกัน) ก็พยายามหาทางในการจะสร้าง Engagement กับแฟนๆ ให้ได้ เช่น ในเฟรนช์โอเพนที่เริ่มมีการติดกล้องแอ็กชันไว้บนหัวของอัมไพร์
ไอเดีย AO Animated แก้ปัญหาเรื่องเหล่านี้ได้เป็นอย่างดีสำหรับออสเตรเลียนโอเพน และเป็นปรากฏการณ์รวมถึงกรณีศึกษาที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
กับการที่ทำให้ตัวการ์ตูนเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงที่สนใจเท่านั้น
แต่ยังเป็น ‘ที่รัก’ ของทุกคนด้วย
อ่านถึงตรงนี้ ใครที่ยังไม่เคยดู AO Animated แนะนำให้ดูนะครับ เป็นเทนนิสที่สนุกและน่ารักกว่าที่เคยดูแน่นอน 🙂
อ้างอิง:
- https://www.nytimes.com/athletic/6072324/2025/01/22/australian-open-ao-animated-youtube-sports-media-streaming/?source=user_shared_article
- https://www.nytimes.com/athletic/5983161/2024/12/10/simpsons-nfl-alt-cast-highlights/
- https://www.nytimes.com/athletic/5083753/2023/11/24/lando-norris-quadrant-f1/