×

ไทยพร้อมเป็น Financial Hub? คลังคาด ‘พ.ร.บ.ศูนย์กลางการเงิน’ จ่อประกาศใช้ปีหน้า

22.01.2025
  • LOADING...
Financial Hub

ไทยพร้อมเป็น Financial Hub แค่ไหน? หลังล่าสุดกระทรวงการคลังคาดว่า ‘พ.ร.บ.ศูนย์กลางการเงิน’ จะมีผลบังคับใช้ในปีหน้า โดยสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือการตั้ง One Stop Authority และการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและมิใช่ภาษี เพื่อดึงดูดธุรกิจทางการเงินต่างชาติ 8 ประเภทให้เข้ามาลงทุนในไทย

 

วันนี้ (22 มกราคม) เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คาดว่าจะประกาศใช้ พ.ร.บ.ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน ได้ภายในปีหน้า โดยตั้งเป้าจะดำเนินขั้นตอนทางกฎหมายให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ หวังดึงดูดธุรกิจทางการเงินต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในไทย ทำให้แรงงานที่มีทักษะด้านการเงินจากต่างประเทศเข้ามาทำงานในไทยมากขึ้น เกิดการพัฒนาธุรกิจทางการเงินในไทย เกิดการจ้างงานในประเทศ เกิดการถ่ายทอดทักษะและเทคโนโลยีแก่แรงงานไทย

 

“ปัจจุบันกระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็น (Public Hearing) เสร็จสิ้นแล้ว และคาดว่า พ.ร.บ.ศูนย์กลางการเงิน นี้จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างช้าที่สุดภายในต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ โดยหลังจาก ครม. เห็นชอบแล้ว กฎหมายดังกล่าวจะถูกส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา 50 วัน ก่อนจะเข้าสู่รัฐสภา” เผ่าภูมิกล่าว

 

เปิด 8 ธุรกิจเป้าหมาย

 

เผ่าภูมิกล่าวว่า หลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นและสำรวจความต้องการของธุรกิจต่างๆ ที่ต้องการเข้ามาลงทุนในไทย พบว่าไทยเห็นโอกาสที่จะดึงดูดนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและสาขาของนิติบุคคลต่างประเทศในธุรกิจ 8 ประเภท ได้แก่

 

  1. ธุรกิจธนาคารพาณิชย์
  2. ธุรกิจบริการการชำระเงิน
  3. ธุรกิจหลักทรัพย์
  4. ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
  5. ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
  6. ธุรกิจประกันภัย
  7. ธุรกิจนายหน้าประกันภัย
  8. ธุรกิจทางการเงินหรือธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องหรือสนับสนุนธุรกิจทางการเงิน

 

เปิดเงื่อนไขการขอใบอนุญาต

 

  • ตั้งในเขตพื้นที่ที่กำหนด
  • ต้องจ้างแรงงานไทยเป็นสัดส่วนตามที่กำหนด
  • สามารถให้บริการแก่ผู้ที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (Non-Resident)

 

ทั้งนี้ จะอนุญาตให้สามารถให้บริการผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศได้ในกรณี ดังนี้

 

  • ด้านประกันภัย สามารถทำประกันภัยต่อกับบริษัทประกันภัยในไทย เพื่อโอนความเสี่ยงได้
  • ด้านตลาดทุน สามารถให้บริการร่วมกับผู้ประกอบการไทย (Co-Services) ในการพาลูกค้าไปลงทุนต่างประเทศได้
  • ด้านสถาบันการเงิน สามารถทำ Interbank กับสถาบันการเงินไทย เพื่อบริหารความเสี่ยงได้
  • ด้านธุรกิจบริการการชำระเงิน สามารถเชื่อมระบบกับผู้ให้บริการภายใต้การกำกับดูแลของไทยได้
  • ด้านธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงิน ผู้ประกอบธุรกิจมีสถานะเป็น Non-Resident ที่ประกอบธุรกิจทางการเงิน โดยต้องปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน และมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท

 

เปิดสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ที่ได้ใบอนุญาต

 

เผ่าภูมิกล่าวว่า ผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายจะได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งทางภาษีและมิใช่ภาษีตามที่คณะกรรมการกำหนด โดยสำหรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี เผ่าภูมิระบุว่า ต้องรอให้คณะกรรมการเป็นผู้กำหนดอีกที แต่ยืนยันว่า อัตราภาษีต้องน่าดึงดูด ไม่ด้อยไปกว่าคู่แข่งที่ไทยต้องการมีส่วนแบ่งการตลาดในระยะแรก

 

ตัวอย่างสิทธิประโยชน์ที่มิใช่ภาษี

 

  • การยกเว้นกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของบุคคลต่างด้าว
  • สิทธิประโยชน์ในการนำคนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในประเทศไทย
  • การให้กรรมสิทธิ์ในการถือครองห้องชุด เพื่อการประกอบธุรกิจและอยู่อาศัย

 

ทั้งนี้ ตามการรวบรวมข้อมูลของ THE STANDARD WEALTH พบว่าไทยค่อนข้างมีอัตราภาษีธุรกิจการเงินต่างๆ ‘สูงกว่า’ ศูนย์กลางทางการเงินอื่นๆ สะท้อนว่าเพื่อทำให้อัตราภาษีของไทยแข่งขันได้ ไทยอาจต้องลดภาษีอย่างมีนัยสำคัญให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมาย

 

 

โดยตาม Global Financial Centres Index ล่าสุด ซึ่งจัดทำโดย Z/Yen Group และเผยแพร่เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่ากรุงเทพมหานครรั้งตำแหน่งที่ 95 จาก 121 ศูนย์กลางการเงินทั่วโลก ขณะที่ 10 อันดับศูนย์กลางการเงินของโลก ได้แก่

 

  1. นิวยอร์ก
  2. ลอนดอน
  3. ฮ่องกง
  4. สิงคโปร์
  5. ซานฟรานซิสโก
  6. ชิคาโก
  7. ลอสแอนเจลิส
  8. เซี่ยงไฮ้
  9. เซินเจิ้น
  10. แฟรงก์เฟิร์ต

 

คลังเปิดจุดแข็ง ‘ไทย’ เทียบกับศูนย์กลางทางการเงินอื่นๆ

 

  1. เปิดกว้างและมีข้อจำกัดน้อย

 

เผ่าภูมิกล่าวว่า หนึ่งในจุดแข็งของศูนย์กลางทางการเงินไทย คือ การเป็นศูนย์กลางการเงินโลกยุคใหม่ที่จะให้สิทธิประโยชน์แก่ธุรกิจการเงินใหม่ๆ ด้วย ตัวอย่างเช่น ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล นอกจากนี้ รัฐบาลก็พยายามจะให้เติมเต็มข้อจำกัดหรือช่องว่างที่ศูนย์กลางการเงินที่มีอยู่ยังไม่ตอบโจทย์ ทำให้กฎหมายฉบับนี้มีลักษณะเปิดกว้างและมีข้อจำกัดน้อย

 

“ปัจจุบันศูนย์กลางการเงินอาจแบ่งได้ 2 ประเภท คือ ศูนย์กลางการเงินโลกยุคเก่า เช่น ลอนดอน และศูนย์กลางการเงินโลกยุคใหม่ เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ และดูไบ อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์หรือฮ่องกงยังมีข้อจำกัดบางประการอยู่ ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงพยายามจะแก้ไขและเติมเต็มข้อจำกัดเหล่านี้”

 

  1. ชูสถานะศูนย์กลางทางการเงินของกลุ่มประเทศ CLMV

 

เผ่าภูมิกล่าวอีกว่า รัฐบาลตั้งเป้าปั้นไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงินของกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งได้แก่ กัมพูชา, สปป.ลาว, เมียนมา และเวียดนาม เนื่องจากปัจจุบันไทยมีความเชื่อมโยงไปสู่ประเทศในภูมิภาคที่เหนือกว่าหรือได้เปรียบกว่าศูนย์กลางทางการเงินที่มีอยู่ในปัจจุบัน

 

  1. ไทยมีภาคการเงินที่แข็งแกร่งและการกำกับดูแลที่ดี

 

เผ่าภูมิกล่าวด้วยว่า อีกจุดแข็งของไทย คือ ไทยมีภูมิทัศน์ทางการเงิน (Financial Landscape) ที่ครอบคลุมประชากรของประเทศได้อย่างทั่วถึง มีภาคการธนาคารที่แข็งแกร่ง มีระบบการกำกับดูแลที่ดี ขณะที่ค่าแรงของแรงงานในไทยก็ไม่สูงมาก

 

โดยตามร่างกฎหมายฉบับนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (คณะกรรมการ OSA) ด้วย เพื่อทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย, แนวทางการส่งเสริม, ประเภทและขอบเขตของการอนุญาต, หลักเกณฑ์, วิธีการ, เงื่อนไขการขออนุญาต, การอนุญาต, การเพิกถอน และการกำกับดูแล โดยต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดหรือมาตรฐานเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (AML/CFT) ที่เป็นมาตรฐานสากล

 

  1. การอำนวยความสะดวกแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร

 

โดยตามร่างกฎหมายฉบับนี้จะมีการตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (One Stop Authority: สำนักงาน OSA) ขึ้นเป็นหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร (End to End) เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็น Financial Hub และดึงดูดผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินเข้ามาลงทุน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising