×

จับตาเอฟเฟกต์อัลไพน์ ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ-ร้องจริยธรรม เขย่าแผงอำนาจทักษิณ

โดย THE STANDARD TEAM
21.01.2025
  • LOADING...
อัลไพน์ (ที่ดินอัลไพน์)

ในที่สุด…มหากาพย์ที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ที่ ‘คาราคาซัง’ และ ‘น่ารำคาญ’ ตามคำกล่าวของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา กำลังจะได้บทสรุปอย่างเป็นทางการ 

 

เมื่อ ‘ชำนาญวิทย์ เตรัตน์’ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เซ็นเพิกถอนการจดทะเบียนฯ และนิติกรรมต่างๆ ในที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์แล้ว ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา และเตรียมส่งเรื่องไปให้กรมที่ดินดำเนินการต่อไป

 


 

สนามกอล์ฟอัลไพน์ 

ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี

ภาพ: Alpine Golf Club 

 


 

ขณะที่ ‘กรมที่ดิน’ ก็รับเรื่องพร้อมดำเนินการต่อทันที โดยหลังจากนี้จะต้องดำเนินการแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ของรองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านกิจการความมั่นคงภายใน พร้อมแจ้งสิทธิการฟ้องคดีให้ผู้มีส่วนได้เสียทราบ

 

จากนั้นกรมที่ดินจะแจ้งต่อจังหวัดปทุมธานีเพื่อให้สำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี สาขาคลองหลวง ดำเนินการหมายเหตุการเพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินและขายรวมสองโฉนด ในโฉนดที่ดินเลขที่ 20 และ 1446 อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ตลอดจนรายการจดทะเบียนลำดับต่อมา 

 

รวมทั้งเพิกถอนโฉนดที่ดินแปลงแยกที่ออกสืบเนื่องมาจากโฉนดที่ดินทั้งสองแปลง และรายการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมทุกรายการในโฉนดที่ดินแปลงแยกนั้นด้วย ตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 2308/2544 ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2544 เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบและวิธีการ

 

เมื่อสำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี สาขาคลองหลวง หมายเหตุการเพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินและขายรวมสองโฉนดแล้ว จะมีผลให้โฉนดที่ดินเลขที่ 20 และ 1446 อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี กลับมาเป็นทรัพย์มรดกของ ‘เนื่อม ชำนาญชาติศักดา’ เจ้าของมรดก และมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะผู้จัดการมรดก สามารถจดทะเบียนโอนมรดกตามพินัยกรรมที่มอบให้แก่วัดธรรมิการามวรวิหาร โดยดำเนินการขอได้มาซึ่งที่ดินตามมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน

 

เมื่อที่ดินตกเป็นของวัดธรรมิการามวรวิหารแล้ว วัดสามารถนำที่ดินดังกล่าวให้ผู้ครอบครองคนปัจจุบันเช่า หรือออกหนังสือรับรองทรัพย์อิงสิทธิเพื่อโอนสิทธิให้แก่ผู้ครอบครองคนปัจจุบัน หรือโอนที่ดินโดยการตราเป็นพระราชบัญญัติตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และที่แก้ไขเพิ่มเติมตามหนังสือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ นร 0601/908 ลงวันที่ 1 เมษายน 2545 ข้อ 6

 

ส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเพิกถอนรายการจดทะเบียนที่ดินและโฉนดที่ดินตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 2308/2544 ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2544 สามารถใช้สิทธิยื่นคำฟ้อง พร้อมขอทุเลาการบังคับคำสั่งทางปกครองต่อศาล หรือยื่นคำขอให้กระทรวงมหาดไทยและกรมที่ดินชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ได้

 

อัลไพน์มูลค่า 7.7 พันล้าน 

 

ก่อนหน้านี้ ‘กรมที่ดิน’ ได้ประเมินค่าเสียหายที่อาจเกิดขึ้นโดยข้อมูล ณ วันที่ 2 กันยายน 2567 โดยมูลค่าตามราคาตลาดโดยการประมาณและทุนทรัพย์จำนองอยู่ที่ 7,700 ล้านบาท แบ่งเป็นทรัพย์ตามมูลค่าตลาดประมาณ 7,228 ล้านบาท และทุนทรัพย์จำนอง 439.05 ล้านบาท 

 

ปัจจุบันเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินอัลไพน์มีจำนวน 533 ราย และผู้รับจำนองอีก 30 ราย โดยมี ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ซื้อที่ดินมาในปี 2540 ด้วยราคาประมาณ 500 ล้านบาท ต่อจาก ชูชีพ หาญสวัสดิ์ และ อุไรวรรณ เทียนทอง (ภรรยา เสนาะ เทียนทอง) ที่ขณะนั้นซื้อมา 130 ล้านบาท จากวัดธรรมิการามวรวิหาร อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี

 


 

ครอบครัวชินวัตร

ครอบครัวชินวัตร

จากซ้าย: คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร, พานทองแท้ ชินวัตร, 

แพทองธาร ชินวัตร, ทักษิณ ชินวัตร และ พินทองทา ชินวัตร 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 


 

ย้อนรอยมหากาพย์ที่ดินอัลไพน์

 

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2512 หรือเมื่อ 56 ปีที่แล้ว ‘เนื่อม ชำนาญชาติศักดา’ ผู้เป็นอุปัฏฐายิกาของเจ้าอาวาสวัดธรรมิการามวรวิหาร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ทำพินัยกรรม ณ ที่ว่าการอำเภอดุสิต ต่อหน้าว่าที่ ร.ต. เสมอใจ พุ่มพวง นายอำเภอดุสิตในขณะนั้น ยกกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 20 ตำบลคลองซอยที่ 5 ฝั่งตะวันออก (บึงตะเคียน) อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่ 730 ไร่ 1 งาน 51 ตารางวา ถวายเป็นกรรมสิทธิ์ให้แก่วัดธรรมิการามวรวิหาร

 

วันที่ 22 พฤษภาคม 2514 ‘เนื่อม ชำนาญชาติศักดา’ ได้ถึงแก่กรรม จึงมีการตั้งผู้จัดการมรดก แต่ปรากฏว่าแทนที่ที่ดินดังกล่าวจะถูกจดทะเบียนโอนให้เป็นกรรมสิทธิ์ของวัด พระราชเมธาภรณ์ อดีตเจ้าอาวาส แสดงเจตจำนงจะขายที่ดินของวัด เนื่องจากอ้างว่ามีปัญหาด้านการดูแล แต่ผู้จัดการมรดกเดิมไม่ยอม และอ้างว่าขัดเจตนารมณ์ของ ‘เนื่อม ชำนาญชาติศักดา’

 

วันที่ 21 สิงหาคม 2533 ได้ตั้งผู้จัดการมรดกใหม่คือ มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ และในวันเดียวกันนั้นมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ ได้ใส่ชื่อของตัวเองเป็นผู้ครองที่ดิน

 

วันที่ 31 สิงหาคม 2533 มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ ได้จดทะเบียนขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้ บริษัท อัลไพน์ เรียลเอสเตท กับ บริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ ที่มีผู้ถือหุ้นชื่อ ‘ชูชีพ หาญสวัสดิ์’ อดีตรัฐมนตรี นักการเมืองชื่อดังของจังหวัดปทุมธานี กับ ‘อุไรวรรณ เทียนทอง’ ภรรยา เสนาะ เทียนทอง ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รวมถึงเป็นผู้กำกับดูแลกรมที่ดิน โดยขายในราคาไร่ละ 1.5 แสนบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 130 ล้านบาท

 


หมายเหตุ: ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ผู้ใดจะถือครองที่ดินของวัดเกิน 50 ไร่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะต้องอนุมัติก่อน ซึ่ง ‘เสนาะ เทียนทอง’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในสมัยนั้นได้อนุมัติที่ดินแปลงดังกล่าว


 

และในวันเดียวกันนั้น บริษัท อัลไพน์ เรียลเอสเตท กับ บริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ ได้จำนองที่ดินแปลงดังกล่าวให้บริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง 

 

การขายที่ดินครั้งนี้แบ่งออกเป็น 2 ก้อนคือ ก้อนแรกเป็นที่ดินสำหรับทำหมู่บ้านจัดสรร โดยบริษัท อัลไพน์ เรียลเอสเตท เป็นของ นพ.บุญ วนาสิน ปัจจุบันผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 5645/2567 ซึ่งมีการเปลี่ยนชื่อในเวลาต่อมาจากอัลไพน์ เรียลเอสเตท เป็นราชธานี พร็อพเพอร์ตี้ 

 

ส่วนก้อนที่สองเป็นที่ดินสนามกอล์ฟของ ‘อุไรวรรณ เทียนทอง’ ภรรยา เสนาะ เทียนทอง ต่อมาในปี 2540 ที่ดินแปลงนี้ถูกขายต่อในราคา 500 ล้านบาทให้กับ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภรรยา ทักษิณ ชินวัตร ก่อนเป็นนายกรัฐมนตรีในอีก 4 ปีต่อมา

 


 

สนามกอล์ฟอัลไพน์ 

สนามกอล์ฟอัลไพน์ 

ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี

ภาพ: Alpine Golf Club 

 


 

จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้กรมการศาสนาได้ส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยในข้อกฎหมายในวันที่ 25 ธันวาคม 2543 และได้รับคำตอบตามหนังสือ ที่ นร 0601/0175 ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 

 

ได้ข้อสรุปว่า วัดธรรมิการามวรวิหาร ได้กรรมสิทธิ์ทันที ที่ ‘เนื่อม ชำนาญชาติศักดา’ ถึงแก่กรรม จึงถือว่า ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นที่ธรณีสงฆ์ ตามมาตรา33 (2) (13) แห่ง พรบ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ซึ่งการโอนที่ธรณีสงฆ์ต้องทำโดยพระราชบัญญัติ ตามมาตรา 34(14) แห่ง พรบ.คณะสงฆ์ โดยมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินที่ใช้อ้างในการโอนไม่ใช่บทบัญญัติยกเว้นการได้มาดังกล่าว

 

มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ‘เนื่อม ชำนาญชาติศักดา’ จึงต้องโอนที่ดินมรดกตามพินัยกรรมที่ระบุไว้ให้ตกแก่วัดธรรมิการามวรวิหารเท่านั้น จะโอนให้แก่บุคคลอื่นนอกเหนือจากวัดธรรมิการามวรวิหารไม่ได้ การโอนที่ดินมรดกให้แก่บุคคลอื่นนอกเหนือจากที่ระบุให้เป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรมจึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของเจ้ามรดกซึ่งไม่ผูกพันทายาทและจะต้องรับผิดชอบต่อทายาท ตามมาตรา 1720 (21) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

 

จากคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าว กรมที่ดินจึงมีคำสั่งเพิกถอนรายการจดทะเบียนสิทธิ นิติกรรม และโฉนดที่ดินดังกล่าว ซึ่งถือได้ว่าเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 

 

จากนั้นประชาชนเจ้าของบ้านจัดสรรในสนามกอล์ฟอัลไพน์จึงอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองดังกล่าวต่อผู้มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ ซึ่งคือ ‘ปลัดกระทรวงมหาดไทย’

 

ในเวลานั้น ‘ยงยุทธ วิชัยดิษฐ’ รองปลัดมหาดไทย ในฐานะรักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย และในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของกระทรวงมหาดไทย กลับมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของกรมที่ดิน (ที่ให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมและโฉนดที่ดิน) จนมาถูกรื้อฟื้นเมื่อเดือนธันวาคม 2551 เมื่อมีการสั่งให้กรมที่ดินตรวจสอบใหม่

 

ต่อมา ‘ยงยุทธ์’ ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรง และตามด้วยคำพิพากษาศาลจำคุก 2 ปี หลังจากนั้นส่งสำนวนไปยังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง โดยมีการพิจารณาถึงชั้นฎีกา พิพากษาจำคุกยงยุทธ 2 ปีไม่รอลงอาญา 

 

ทั้งนี้ ตามการรายงานของไทยพีบีเอสระบุว่า ปมที่ดินอัลไพน์นี้ถูกดำเนินการสืบเนื่องมาจนถึงรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเคยออกคำสั่งตั้งกรรมการยกร่างกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาโอนกรรมสิทธิ์ที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย หมายถึงการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในโครงการ และการออกหนังสือ ‘ลับ’ เรื่องนี้ยังมีการดำเนินการต่อเนื่องถึงรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน

 

โดยที่ ‘ชาดา ไทยเศรษฐ์’ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย จากพรรคภูมิใจไทย มีบันทึกลงวันที่ 3 กันยายน 2567 หรือ 3 วันก่อนจะพ้นตำแหน่ง ไปยังปลัดกระทรวงมหาดไทย ให้พิจารณาเพิกถอนคำสั่งหรือคำวินิจฉัยอุทธรณ์เดิมของยงยุทธ รวมถึงให้กระทรวงมหาดไทยวินิจฉัยอุทธรณ์ใหม่ ให้คำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่ให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินกลับมามีผลบังคับใหม่ โดยอ้างถึงความเห็นกฤษฎีกาและศาลได้มีคำวินิจฉัยว่า ที่ดินเป็นที่ธรณีสงฆ์ ซื้อขายไม่ได้ 

 

ท้ายที่สุด ‘ชํานาญวิทย์ เตรัตน์’ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้จรดปากกาลงนามคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนฯ และนิติกรรมต่างๆ ในที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา และเตรียมส่งเรื่องไปให้กรมที่ดินดำเนินการต่อไป

 

ทางออก ที่ดินอัลไพน์

 

หลังจากการที่ปลัดกระทรวงมหาดไทย มีการลงนามคำสั่งเพิกถอนที่ดินอัลไพน์ในครั้งนี้ สิ่งที่ต้องจับตาหลังจากนี้ว่าจะมีการดำเนินการต่อไปอย่างไร หากมีการฟ้องร้องระหว่างเจ้าของกรรมสิทธิ์เพื่อเรียกค่าเสียหายจากเกิดขึ้นจริง ก็มีมูลค่าความเสียหายที่ต้องชดใช้กว่า 7,700 ล้านบาท นับว่ามีมูลค่ามหาศาล และภาระอันหนักอึ้งของกรมที่ดิน โดยกระทรวงมหาดไทย จึงได้มีการเสนอทางออก 3 ทาง ดังนี้ 

 

  1. วัดให้เจ้าของที่ดินคนปัจจุบันเช่า ซึ่งถ้าเช่าเกินกว่า 3 ปี แต่ไม่เกิน 30 ปี ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการศาสนา ตามข้อ 4 (1) แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 2 พ.ศ. 2511 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 

 

  1. วัดขอออกหนังสือรับรองทรัพย์อิงสิทธิไม่เกิน 30 ปี ตามมาตรา 4 พ.ร.บ.ทรัพย์อิงสิทธิ พ.ศ. 2562 ซึ่งมีข้อดีคือ อยู่อาศัยได้ต่อเนื่อง โอนสิทธิและจำนองได้ ตกทอดทางมรดกได้ แต่มีข้อเสียคือ มีระยะเวลาจำกัด 30 ปี ต้องแบ่งแยกก่อนดำเนินการ ใช้ได้ตามวัตถุประสงค์ที่ก่อตั้ง ไม่ได้กรรมสิทธิ์ แบ่งแยกไม่ได้ และค่าใช้จ่ายสูงกว่าการเช่า 

 

  1. วัดโอนที่ดินโดยตราเป็น พ.ร.บ. ซึ่งเป็นไปตามความเห็นของกฤษฎีกาเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2545 โดยให้เฉพาะบุคคลซึ่งได้สิทธิในที่ดินมาโดยสุจริต (เป็นไปตามความเห็นของกฤษฎีกา ลว 1 เมษายน 2545 มีการร่าง พ.ร.บ. เมื่อปี 2549 และยกเลิกเมื่อปี 2565)

 

ขณะที่การดำเนินการกับสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินซึ่งไม่ตกเป็นของวัดมี 2 แนวทาง คือ 1. วัดต้องชดใช้ราคาให้กับเจ้าของปัจจุบัน และ 2. เจ้าของขอรื้อถอนออกไปโดยเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการ

 


 

ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า ทักษิณ ชินวัตร และ แพทองธาร ชินวัตร ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน

ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า ทักษิณ ชินวัตร และ แพทองธาร ชินวัตร ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 


 

จับตาเอฟเฟกต์อัลไพน์

 

เมื่อบทสรุปของที่ดินอัลไพน์ออกเช่นนี้ ทักษิณในฐานะผู้ที่ซื้อที่ดินดังกล่าวนี้มาตั้งแต่ปี 2540 ทราบดีมาโดยตลอดว่าผลลัพธ์จะออกมาในรูปแบบนี้ จึงได้กล่าวกับสื่อมวลชนที่ยื่นไมค์ถามที่นครพนมเมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า “จะได้จบๆ เสียที คาราคาซัง น่ารำคาญ” 

 

กระนั้น ดูเหมือนว่าอัลไพน์มหากาพย์อันยาวนานที่กำลังจะจบลง แต่ก็ยังมีสิ่งที่ทักษิณต้องกังวลหลังจากนี้คือ เกมนิติสงครามที่จะตามไล่ล่า ‘แพทองธาร’ บนเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ในฐานะบุคคลที่เคยถือหุ้นและเป็นผู้บริหารบริษัทในเครืออัลไพน์ จำนวน 22,410,000 หุ้น คิดเป็น 30% มูลค่าตามทุนจดทะเบียน 224.1 ล้านบาท 

 

แม้จะมีการโอนหุ้นทั้งหมดให้คุณหญิงพจมาน ผู้เป็นมารดาไปแล้ว แต่ยังไม่สามารถวางใจต่อสถานการณ์การเมืองในเวลานี้ได้

 

หลังจากนี้ยังไม่แน่ชัดว่าเกมในสภาคือศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเปิดฉากในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคมนี้ จะมีการตรวจสอบแพทองธารในประเด็นร้อนแห่งปีนี้ด้วยหรือไม่ 

 

ขณะเดียวกัน เกมนอกสภาก็ต้องจับตาเช่นเดียวกันว่า ที่ดินอัลไพน์จะเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงของแพทองธารที่นำไปสู่ข้อร้องเรียนให้ตรวจสอบในฐานะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่

 

โดยเฉพาะกรณีผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรงที่มีโทษรุนแรงอาจถึงขั้นตัดสิทธิทางการเมือง ที่เคยเกิดขึ้นกับ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ปมแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน เมื่อช่วงกลางปี 2567 ที่อาจส่งผลแพทองธารได้เช่นกัน ทำให้เป็นนายกรัฐมนตรีได้ไม่ครบเทอม และส่งผลต่อคะแนนความนิยมของพรรคเพื่อไทย

 

เพราะต้องยอมรับว่าในยามนี้ประชาชนมีพรรคการเมืองให้เลือกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาชนที่รอดูดคะแนนในขั้วเสรีนิยม ส่วนขั้วอนุรักษนิยมในส่วนของเกมอำนาจการเมืองก็มีพรรคภูมิใจไทยขี่คออยู่

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising