วันนี้ (21 มกราคม) ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงกรณีแนวคำวินิจฉัยการเพิกถอนที่ดินอัลไพน์ของคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า แนวคำวินิจฉัยมีตั้งแต่ปี 2544 และหลักของคำวินิจฉัยคือที่ดินที่ได้มาโดยมรดกต้องเป็นไปตามที่เจ้าของมรดกกำหนดเมื่อต้องการให้ตกแก่วัดก็ต้องตกแก่วัด ซึ่งการเพิกถอนที่ดินให้เป็นที่ธรณีสงฆ์เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย
ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้ขอให้ไปถามจากกระทรวงมหาดไทยว่าจะหาทางแก้ไขเยียวยาให้กับประชาชนที่เกี่ยวข้องหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างไร ขณะเดียวกันก็ต้องตรวจสอบว่ามีการจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงอะไรหรือไม่ เพราะว่าเราต้องเสียเงินชดเชยให้กับผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ได้มาโดยสุจริต ต้องไปดูว่าคำสั่งทางปกครองออกมาและถูกยกเลิกไปนั้นชอบหรือไม่ และประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่
ส่วนงบประมาณที่จะนำมาเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งมีการประเมินราคาที่ดินไว้ที่ 7.7 พันล้านบาทนั้น ปกรณ์กล่าวว่า ยังไม่ทราบว่าจะนำมาจากส่วนใด แต่หากจำเป็นจะต้องแก้ไขเยียวยา ของบประมาณก็สามารถของบประมาณจากรัฐบาลได้ ซึ่งงบปกติน่าจะไม่มี เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ได้ตั้งงบไว้ เข้าใจว่าไม่มีใครคิดว่าจะเกิด จึงต้องหารือกับสำนักงบประมาณว่ามีแหล่งเงินจากที่ใดบ้าง พร้อมกับกล่าวว่า แม้วงเงินในการเยียวยาจะสูง แต่คิดว่ามีหลายวิธีที่จะแก้ไข ซึ่งต้องรอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และอธิบดีกรมที่ดินมาแนะนำว่าจะหาทางแก้อย่างไร
ปกรณ์กล่าวถึงกรณีความเห็นของกฤษฎีกาเมื่อปี 2545 ที่เสนอให้ออกเป็นพระราชบัญญัติโอนเป็นที่ดินเอกชนสามารถทำได้หรือไม่ ปกรณ์กล่าวว่า การโอนที่ดินซึ่งเป็นที่ธรณีสงฆ์ต้องทำเป็นพระราชบัญญัติตามกฎหมายอยู่แล้ว และขึ้นอยู่กับรัฐบาล กระทรวงมหาดไทยจะพิจารณาว่าทางใดเหมาะสมหรือสมควร
ส่วนการออก พ.ร.บ.ที่ดินจะยากกว่าการจ่ายเงินชดเชยหรือไม่ ปกรณ์ยืนยันว่าไม่ได้ยาก พ.ร.บ.โอนที่ธรณีสงฆ์ทำกันบ่อยอยู่แล้วเพียงแต่ไม่เป็นข่าว