เมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายกิจการต่างประเทศ 1 ในฐานะพนักงานอัยการเจ้าของสำนวน ได้ร่วมส่งมอบตัว เหยียนเทียนสี่ (Yan Tianxi) บุคคลสัญชาติจีน ผู้ต้องหาในคดีความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน เป็นผู้ร้ายข้ามแดนให้แก่ทางการสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ
คดีนี้มีพฤติการณ์เกี่ยวกับการกระทำความผิดว่า เหยียนเทียนสี่ ได้ร่วมกันกับพวกอีกหลายคนเปิดบริษัทสร้างแอปพลิเคชันเกี่ยวกับการลงทุนในสาธารณรัฐประชาชนจีน และโฆษณาผ่านเว็บไซต์เชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมลงทุนในรูปแบบของการทำสัญญากู้ยืมเงินและสินเชื่อออนไลน์ โดยได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยในอัตราสูง โดยบริษัทดังกล่าวไม่มีคุณสมบัติในการรับเงินฝากจากสาธารณะ และไม่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินแห่งชาติของจีน อันเข้าข่ายเป็นการรับเงินฝากจากสาธารณะอย่างผิดกฎหมาย
เจ้าหน้าที่ตำรวจคดีเศรษฐกิจเซี่ยงไฮ้สอบสวนคดีพบว่า มีผู้เสียหายจำนวนมากหลงเชื่อและเข้าร่วมลงทุนกับบริษัทดังกล่าว ซึ่งระดมเงินจากการกระทำดังกล่าวได้มากกว่า 112 ล้านหยวน ต่อมาทางการสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ออกหมายจับ เหยียนเทียนสี่ และสืบทราบว่า เหยียนเทียนสี่ หลบหนีเข้ามาในราชอาณาจักรไทย จึงได้มีคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนมายังอัยการสูงสุดในฐานะผู้ประสานงานกลางตามพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551 เพื่อขอให้ส่ง เหยียนเทียนสี่ เป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปดำเนินคดีที่สาธารณรัฐประชาชนจีนต่อไป
อัยการสูงสุดได้อนุมัติให้ความช่วยเหลือแก่ทางการสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2567 พนักงานอัยการ สำนักงานต่างประเทศ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาเพื่อออกหมายจับ เหยียนเทียนสี่ และส่งหมายจับไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อดำเนินการจับกุม ต่อมาเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมเหยียนได้และส่งตัวให้พนักงานอัยการ สำนักงานต่างประเทศ ซึ่งได้ยื่นฟ้องบุคคลดังกล่าวต่อศาลอาญาในวันเดียวกัน
เมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา ทางการราชอาณาจักรไทยได้ส่งมอบตัวเหยียนให้แก่คณะเจ้าหน้าที่ตำรวจคดีเศรษฐกิจเซี่ยงไฮ้ ผู้แทนของทางการสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
กรณีนี้เป็นหนึ่งในอีกหลายคดีที่ทางการราชอาณาจักรไทยได้ส่งตัวผู้ต้องหาเป็นผู้ร้ายข้ามแดนให้แก่ทางการสาธารณรัฐประชาชนจีน ตามสนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2536 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือในการปราบปรามอาชญากรรมอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายทั้งพนักงานอัยการและเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในกระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดนของทั้งสองประเทศ