มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยภายหลังต้อนรับ เจ้าชายไฟซาล บิน ฟาร์ฮาน อัล ซาอุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ในโอกาสเสด็จเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมสภาความร่วมมือซาอุดีอาระเบีย-ไทย (Saudi-Thai Coordination Council Meeting: STCC) ว่า มีความรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง และการประชุมสภาความร่วมมือซาอุดีอาระเบีย-ไทยยังจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ด้วย
มาริษระบุว่า สภาความร่วมมือซาอุดีอาระเบีย-ไทยเป็นกลไกที่ครอบคลุมความร่วมมือใน 5 มิติ ได้แก่ การเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ การลงทุน และวัฒนธรรม และการประชุมครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากผลการหารือระหว่าง เศรษฐา ทวีสิน ครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กับ เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน บิน อับดุลลาซิซ อัล ซาอุด มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน-คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับเมื่อปี 2566
การประชุมครั้งนี้เกี่ยวข้องกับข้อริเริ่มความร่วมมือระหว่างกันกว่า 70 โครงการ ซึ่งครอบคลุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 70 หน่วยงาน ภายใต้คณะกรรมการทั้ง 5 คณะ โดยตนได้เน้นย้ำถึงความตั้งใจของไทยในการร่วมกันจัดลำดับความสำคัญและประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิด เพื่อผลักดันข้อริเริ่มเหล่านี้ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม อันจะส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างทั้งสองประเทศในทุกมิติ นับตั้งแต่การฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างกัน ความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะด้านการค้าและการลงทุนให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะในภาคสำคัญต่างๆ ซึ่งรวมถึงการบริการ เศรษฐกิจสีเขียว และเกษตรกรรม คิดเป็นมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากนี้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยยังได้อนุมัติให้ออกใบรับรองตราฮาลาลสำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ไปยังซาอุดีอาระเบีย ซึ่งปัจจุบันเป็นตลาดสำคัญที่มีมูลค่ามากกว่า 40 ล้านบาท และยังมีแผนร่วมกันส่งเสริมการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษระหว่าง 2 ประเทศด้วย
มาริษยังย้ำว่า การประชุมครั้งสำคัญนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอาระเบียและประเทศไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น อันจะนำมาซึ่งผลประโยชน์อันเป็นรูปธรรมร่วมกันต่อไปในอนาคต
อ้างอิง: กระทรวงการต่างประเทศ