×

ฉากทัศน์ 5G ทรัมป์ 2.0: ไทยต้องเลิกพึ่งเศรษฐกิจแบบ ‘ศาลพระภูมิ’

17.01.2025
  • LOADING...
ทรัมป์ 2.0

สวัสดีปีแห่งความโกลาหล 2025 โลกจะปั่นป่วนแค่ไหนกับการกลับมารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้งของ โดนัลด์ ทรัมป์ มีแนวโน้มที่จะรื้อและฉีกระเบียบโลกเดิมทิ้งไปในหลายด้าน และทำสิ่งที่คาดไม่ถึงในหลายเรื่อง เสมือนเป็นการทิ้งทวนใช้อำนาจที่ท่วมท้นเป็นครั้งสุดท้ายในฐานะประธานาธิบดีของประเทศมหาอำนาจเบอร์หนึ่งของโลก ทำให้ยุคทรัมป์ 2.0 ในช่วงเวลา 4 ปีจากนี้เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และคาดเดายากว่าทรัมป์จะอาละวาดในเรื่องใดและในรูปแบบใดบ้าง นักวิเคราะห์หลายสำนักเห็นพ้องกันว่า จากนี้ไปโลกจะเข้าสู่ยุคโกลาหลและถูกปั่นป่วนหนัก

 

ที่ค่อนข้างชัดเจนคือรัฐบาลสหรัฐฯ ในยุคทรัมป์จะใช้วิธีการข่มขู่คนอื่นไปทั่ว ไม่แคร์ใคร สนใจแต่ผลประโยชน์ของตัวเอง โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ในแวดวงผู้นำจีนเคยใช้คำเรียกพฤติกรรมของสหรัฐฯ แบบนี้ว่าเป็น ‘การบูลลี่ทางเศรษฐกิจ’ (Economic Bullying) ทำให้คู่ชกหลักของสหรัฐฯ อย่างจีนต้องเตรียมกระสุนและเตรียมความพร้อมในทุกรูปแบบเพื่อสู้กลับเช่นกัน

 

แนวโน้มที่จะเกิดการต่อสู้ห้ำหั่นอย่างดุเดือดของชาติมหาอำนาจ แล้วสถานการณ์ที่ดูไม่เป็นมิตรกับโลกแบบนี้จะส่งผลกระทบอะไรบ้าง บทความนี้จะวิเคราะห์ใน 2 ประเด็นหลัก คือฉากทัศน์ของโลกในยุคทรัมป์ 2.0 จะเป็นอย่างไร และทำไมไทยต้องเลิกพึ่งพิงเศรษฐกิจแบบ ‘ศาลพระภูมิ’

 

ประเด็นแรก ฉากทัศน์แบบ 5G ในยุคทรัมป์ 2.0 จะเป็นอย่างไร

 

สถานการณ์ของโลกนับจากนี้จะเต็มไปด้วยความโกลาหลและโลกจะถูกเขย่าหนัก ดังนั้นฉากทัศน์ในยุคทรัมป์ 2.0 โดยเฉพาะในช่วง 4 ปีนับจากนี้ น่าจะมีลักษณะสำคัญที่ดิฉันขอสรุปด้วยคำเข้าใจง่ายๆ ว่า 5G ดังนี้

 

G: Geopolitical Tension ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์จะเข้มข้นขึ้น โลกแบ่งขั้ว โลกแบ่งค่าย ชัดเจนขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะคำว่า ‘โลกขั้วใต้’ (Global South) ที่นำโดยจีนจะถูกใช้มากขึ้น กลุ่มนี้จะมีบทบาทมากขึ้น ยิ่งรัฐบาลทรัมป์มีพฤติกรรมไม่สนเพื่อน ไม่แคร์โลก ยิ่งเป็นแรงผลักให้ประเทศต่างๆ หันไปคบกับอีกขั้ว และในที่สุดประเทศต่างๆ อาจจะถูกบีบให้เลือกข้าง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม

 

G: Globalization โลกาภิวัตน์จะถูกหั่นเป็นชิ้นๆ กระแสทวนกลับของโลกาภิวัตน์ (Deglobalization) จะบีบให้การค้าโลกเล็กลง ชาติมหาอำนาจจะตอบโต้กันด้วยการใช้มาตรการต่างๆ ทำให้โลกจะเต็มไปด้วยมาตรการกีดกันทางการค้าในหลายรูปแบบมากขึ้น ทั้งด้านภาษี (Tariffs) และมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers: NTBs)

 

G: Gold Reserves ธนาคารกลางของหลายประเทศจะสะสมทองคำสำรองมากขึ้น โลกมีความไม่แน่นอนสูง มีความเสี่ยงจะเกิดการปะทะในพื้นที่ขัดแย้งหลายแห่ง ไปจนถึงความเสี่ยงที่จะเกิดสงคราม หลายประเทศยิ่งต้องการเร่งสะสมทองคำสำรอง เกิดกระแสลดการถือครองดอลลาร์ในทุนสำรองฯ แล้วหันมาถือครองทองคำมากขึ้น โดยเฉพาะจีน ในช่วงปี 2015-2024 จีนมียอดสะสมทองคำขยายเพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด กลุ่ม BRICS มีการสะสมทองคำรวมกันในสัดส่วนมากกว่า 20% ของทองคำทั่วโลก โดยมีรัสเซีย จีน และอินเดีย ติด Top 10 ของประเทศที่ถือทองคำมากในระดับโลก

 

G: Government Intervention รัฐบาลของหลายประเทศจะเข้ามามีบทบาทแทรกแซงในด้านต่างๆ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติตัวเองมากขึ้น เช่น จัดการกับปัญหาผู้อพยพ และเลิกโลกสวยกับค่านิยมในระเบียบโลกแบบเดิม นอกเหนือจากรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีผู้นำขวาจัดแบบ โดนัลด์ ทรัมป์ คาดว่ารัฐบาลขวาจัดในหลายประเทศจะชนะเลือกตั้งเข้ามาปกครองประเทศ ทำให้มีแนวโน้มที่ ‘โลกเอียงขวา’ มากขึ้น นโยบายหลายประเทศเริ่มมีลักษณะ Inward-Looking มากขึ้น

 

G: Growth Model โมเดลการเติบโตแบบเดิมไปต่อไม่ได้แล้ว หลายประเทศจะต้องปรับโมเดลเพื่อความอยู่รอด ประเทศใดที่เคยพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ จะถูกบีบให้ต้องปรับโมเดลใหม่ ลดความเสี่ยงที่จะโดนรัฐบาลทรัมป์ 2.0 จัดการ บางประเทศอาจจะหันไปพึ่งพิงมหาอำนาจอื่น เช่น จีน หรือหันไปอิงกลุ่มในภูมิภาคเป็นหลัก เช่น สหภาพยุโรป รวมทั้งหลายประเทศที่มีศักยภาพก็จะหันมาเน้นพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศของตัวเองให้แข็งแกร่งขึ้น ลดการพึ่งพาภาคต่างประเทศ เป็นต้น

 

ประเด็นต่อมา ทำไมไทยต้องเลิกพึ่งพิงเศรษฐกิจแบบ ‘ศาลพระภูมิ’

 

ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา โมเดลการพัฒนาของไทยเน้นพึ่งพา ‘เศรษฐกิจเสาเดียว’ ที่มากเกินไป เปรียบเสมือนกับ ‘ศาลพระภูมิ’ ที่ยืนอยู่บนเสาหลักเพียงต้นเดียว ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยพึ่งพา ‘ภาคต่างประเทศ’ เป็นเสาหลักและใช้เป็นเครื่องยนต์หลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ในปี 2025 เราจะเข้าสู่ยุคที่โลกโกลาหล เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ภายใต้ฉากทัศน์ในลักษณะ 5G ดังที่กล่าวมาแล้ว ดังนั้นโมเดลพึ่งพาเศรษฐกิจเสาเดียวที่มากเกินไปย่อมจะทำให้เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงสูงอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยงได้

 

โดยเฉพาะการพึ่งพารายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลัก ทำให้ไทยต้องพึ่งพิง ‘ปัจจัยภายนอก’ ที่มากเกินไป สะท้อนจากดัชนีการพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศ (Trade to GDP Ratio) ของประเทศไทยที่สูงถึง 129.15% และดัชนีการพึ่งพาภาคส่งออก (Export to GDP Ratio) ที่สูงถึง 65.44% ดังแสดงในภาพประกอบ สะท้อนถึงความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกที่ไม่แน่นอนต่างๆ ที่จะกระทบเศรษฐกิจไทย

 

ทรัมป์ 2.0

 

จากประสบการณ์ในยุคโควิด การระบาดของโรคร้ายที่ไม่คาดคิดนี้ทำให้ต่างชาติต้องงดการเดินทางมาเที่ยวไทย ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยจนแทบจะล่มสลาย จึงเป็นบทเรียนที่ชัดเจน เราต้องเรียนรู้และไม่ทำผิดซ้ำ

 

ที่สำคัญ ในขณะนี้สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย ด้วยสัดส่วนมากถึง 17% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย ยิ่งพึ่งพาสหรัฐฯ มาก ก็จะยิ่งเจ็บมาก หากต้องเผชิญกับมาตรการทรัมป์ 2.0 เศรษฐกิจไทยจึงย่อมมีความเสี่ยงที่จะถูกกระทบหนักหากไม่สามารถ Diversify กระจายการส่งออกไปตลาดอื่นๆ เพื่อทดแทน (มีรายงานของหลายสำนักวิจัย เช่น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย และศูนย์วิจัย SCB EIC ที่คาดการณ์สอดคล้องกันว่า ผลจากทรัมป์ 2.0 เศรษฐกิจไทยในปี 2025 จะเติบโตลดลงเหลือแค่ 2.4%)

 

ดังนั้นด้วยโมเดลพึ่งพาเศรษฐกิจเสาเดียว ไทยจึงมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจในยุคทรัมป์ 2.0 เนื่องจากไทยยังคงพึ่งพาทั้งสหรัฐฯ และจีน ทำให้ไทยจะถูกกระทบใน 5 ประเด็นสำคัญ ซึ่งดิฉันได้เขียนบทความวิเคราะห์ชื่อ ‘อย่าโลกสวยกับทรัมป์ 2.0 เศรษฐกิจไทยรับศึกหนัก 2 แนวรบ’ สามารถอ่านย้อนหลังได้ตามลิงก์นี้ https://thestandard.co/trump-2-0-thai-economy-challenges/

 

โดยสรุป ถึงเวลาแล้วที่ไทยต้องเลิกใช้โมเดลเศรษฐกิจแบบ ‘ศาลพระภูมิ’ ต้องเลิกพึ่งพิง ‘เศรษฐกิจเสาเดียว’ ต้องลดการพึ่งพาภาคต่างประเทศ เลิกใช้ชีวิตแบบพึ่งพาชาติอื่นที่มากเกินไป แล้วปรับมาสร้างความแข็งแกร่งจากภายใน รัฐบาลจะต้องยกเครื่องเศรษฐกิจไทยในเชิงโครงสร้างครั้งใหญ่

 

แล้วประเทศไทยจะไปในทิศทางไหน ไม่ใช่ภาครัฐหรือนักการเมืองจะมานั่งคิดกันเองอยู่แต่ในห้องประชุมเท่านั้น แต่ควรต้องมีการระดมสมองจากผู้รู้จริงและมีประสบการณ์ลงมือทำจริงที่มาจากหลายภาคส่วน เพื่อช่วยกันออกแบบอนาคตประเทศไทย เพื่อดึงศักยภาพของไทยที่มีอยู่มาใช้อย่างเต็มที่

 

โดยเฉพาะความจำเป็นอย่างเร่งด่วนของไทย คือการมุ่งพัฒนา ‘คน’ และทุนมนุษย์อย่างจริงจัง กรณีที่ เจนเซน หวง แห่ง NVIDIA แวะมาพูดให้คนไทยเคลิ้ม แต่กลับบินไปลงทุนจริงในเวียดนาม เพราะเล็งเห็นศักยภาพของนักศึกษาเวียดนาม ทั้งที่เป็น Talent ด้าน AI และวิศวกร STEM ในเวียดนาม เป็นอีกเหตุการณ์ที่สะท้อนความเป็นจริงที่น่าเจ็บปวดหลายอย่าง ตื่นเถิดชาวไทย เราจำเป็นต้องปรับใหญ่ ไทยต้องปรับโมเดลใหม่อย่างจริงจัง ต้องเลิกใช้วิธีการเดิมๆ ที่ไม่เคยได้ผล และต้องกล้าออกมาจาก Comfort Zone แบบเดิมๆ ในโลกที่อยู่ยาก มีการแข่งขันสูง เราต้องสู้ด้วยคุณภาพ เราต้องทนเจ็บในระยะสั้น เพื่อความแข็งแกร่งในระยะยาว ทั้งหมดนี้ไม่ง่าย แต่ต้องทำ ไม่ปรับไม่รอด

 

ภาพ: ShutterStock, Jeenah Moon / File Photo / Reuters

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising